เอกชนชี้"ทีวีดิจิทัล"เกิดช้า หวั่นรัฐยึดช่องสาธารณะ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

เอกชนชี้"ทีวีดิจิทัล"เกิดช้า หวั่นรัฐยึดช่องสาธารณะ

Post by brid.ladawan »

ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


เอกชนชี้"ทีวีดิจิทัล"เกิดช้า หวั่นรัฐยึดช่องสาธารณะ
« on: November 19, 2012, 11:37:25 am »

เอกชนชี้"ทีวีดิจิทัล"เกิดช้า หวั่นรัฐยึดช่องสาธารณะ

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

วานนี้ (16 พ.ย.) บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “อนาคตโทรทัศน์ดาวเทียมภายใต้กฎใหม่ของกสทช.” โดยเชิญผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งออกอากาศผ่านดาวเทียมไทยคม เข้าร่วมรับฟังเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ของคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) หรือ บอร์ดกระจายเสียง กล่าวว่า การประกอบกิจการทีวีดาวเทียมจาก นี้ไป ต้องได้รับใบอนุญาตและต้องดำเนินการตามที่ประกาศเกี่ยวกับกิจการที่ไม่ใช้ คลื่นความถี่ ซึ่งเริ่มเปิดให้ขอรับใบอนุญาตตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งในบทเฉพาะกาลได้กำหนดวันสุดท้ายที่สามารถยื่นขอใบอนุญาต 16 ธ.ค. นี้

การให้ใบอนุญาตแต่ละครั้งจะให้เป็นล็อต จำนวน 200-300 ราย โดยเป็นใบอนุญาตชั่วคราวมีอายุ 1 ปี เพื่อพิจารณาถึงความประพฤติว่าผู้ประกอบการทำผิดกฎเกณฑ์ใดหรือไม่ หากไม่กระทำความผิดจะต่ออายุใบอนุญาตให้ทันที 14 ปี รวมเป็น 15 ปี โดยเป้าหมายในปีแรกของบอร์ดกระจายเสียงคือ ต้องการควบคุมคอนเทนท์ ไม่ให้เนื้อหาไม่เหมาะสม ลามกอนาจาร โฆษณาเกินจริงเข้าถึงประชาชน ส่วนระยะเวลาโฆษณาหรืออื่นๆ เป็นเป้าหมายรอง

“ผู้ประกอบการทุกรายควรคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะร่วมกัน เราจะไม่ทำตัวเป็นอุปสรรค และจะพยายามสนับสนุนผู้ประกอบการทุกราย ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชน ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะนำร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมตามความเหมาะสมใน กิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เข้าบอร์ดเพื่อพิจารณาอีกครั้ง เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งสื่อจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านสังคม” พ.อ.นที กล่าว

การกำกับดูแลที่เกิดขึ้น นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ใช่ของต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิทธิทางปัญญาของผู้ประกอบการไทยด้วยกันด้วย ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเติบโตได้

ขณะเดียวกัน เมื่อการออกอากาศโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมกินพื้นที่กว่า 20 ประเทศ ทำให้ต่างชาติเห็นคอนเทนท์ไทยได้ ซึ่งถ้าคอนเทนท์ดีก็จะเป็นโอกาสในการขายคอนเทนท์ให้ต่างชาติ แต่หากเป็นคอนเทนท์ที่ด้อยคุณภาพ ก็จะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงประเทศ

นายประเสริฐ อภิปุญญา เลขานุการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมยื่น ขอใบอนุญาตแล้วกว่า 300 ราย โดย 90% เป็นผู้ประกอบการเคเบิลทีวี ขณะที่อีก 10% เป็นผู้ประกอบการช่องรายการ ซึ่งผู้ประกอบการช่องรายการส่วนใหญ่มีความเข้าใจถึงวิธีการและหลักเกณฑ์ใน การขออนุญาตไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้พูดคุยและทำความเข้าใจกับทางสมาคมดาวเทียมแห่งประเทศ ไทยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการทยอยยื่นขอใบอนุญาตต่อไป

“ทีวีดิจิทัล” มาช้าเกินไป
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดขอใบอนุญาตกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ในกลุ่มทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี สำหรับรายเก่านั้น กสทช. ไม่ควรกำหนดเวลาการยื่นขอใบอนุญาต ขณะเดียวกันหลายประกาศฯ ที่ออกมาสร้างความไม่แน่นอนทางธุรกิจค่อนข้างสูง โดยเฉพาะข้อความที่ระบุว่า การเพิ่มเติมใดๆ ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของกรรมการ กสทช.

“ดูเหมือนว่า กสทช. ได้ร่างหลักเกณฑ์ต่างๆ นำปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนส่วนน้อยมากำหนดให้คนส่วนใหญ่ปฏิบัติตาม ซึ่งหลายอย่างทำให้เกิดความไม่แน่นอน เพราะการทำธุรกิจนั้นความมั่นคงคือสิ่งสำคัญที่สุด แต่วิธีคิดของ กสทช. ดูเหมือนส่งเสริม ซึ่งหากพิจารณาแล้วเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต” นายอดิศักดิ์ กล่าว

อีกทั้ง กสทช. ได้ให้ความสำคัญกับทีวีดิจิทัลมาก และ กสทช. มีจุดมุ่งหมายให้เป็นแพลตฟอร์มหลักในการแพร่ภาพโทรทัศน์ของไทยในยุคดิจิทัล แต่การเกิดของทีวีดิจิทัลถือว่าช้าเกินไป ซึ่งหากต้องการให้เป็นระบบหลัก ก็ควรให้ประชาชนเลือกเอง

นอกจากนี้ยังเป็นห่วงช่องรายการประเภทสาธารณะ 12 ช่อง ที่อาจกลายเป็นช่องสาธารณะจำแลง คือเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ของกระทรวง หน่วยงานของรัฐ แทนที่จะเป็นสื่อสาธารณะที่แท้จริง ขณะเดียวกันก็ไม่คิดว่าคอนเทนท์บนทีวีดิจิทัลจะมีประโยชน์มากกว่าทีวีดาวเทียม

ข้อมูลจาก นีลเส็น ล่าสุด ระบุว่า ครัวเรือนไทยเข้าถึงทีวีดาวเทียมทั้งเคยูแบนด์ ซีแบนด์ ทรูวิชั่นส์ และเคเบิลทีวีแล้วกว่า 64% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กสทช. ควรให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มใดมากกว่า

“กสทช. อาจให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากไป แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือการให้ความสำคัญกับคอนเทนท์ การจัดกลุ่มเนื้อหาผ่านทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงโลคอล คอนเทนท์” นายอดิศักดิ์ กล่าว

จี้มองตลาดทีวีดาวเทียมให้ชัด
นายสุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล น่าจะส่งเสริมช่องรายการประเภทชุมชนก่อนระดับชาติ เนื่องจากปัจจุบันในต่างจังหวัดรับชมโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียมจำนวนมาก สิ่งที่ให้ควรทำให้เกิดขึ้นใหม่คือ “โลคอล คอนเทนท์” ที่จะทำให้เกิดความหลากหลายของคอนเทนท์ในต่างจังหวัด

“ทุกวันนี้ปัญหาคือ ประเทศไทย คือ กรุงเทพฯ ขอให้ กสทช. มองตลาดทีวีดาวเทียมให้ชัด วันนี้ทีวีดิจิทัลเดินช้ากว่าทีวีดาวเทียม ทำอย่างไรที่จะทำให้การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลและการคงอยู่ของทีวีดาวเทียมคู่ขนานกันไป โดยเฉพาะการเก็บค่าธรรมเนียมรายปีก่อนหักค่าใช้จ่าย 2% นั้น ซึ่งทุกวันนี้ กสทช. ฝั่งโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ทำงานร่วมกันแล้ว ก็น่าจะนำค่าธรรมเนียมฝั่งโทรคมเข้ามาจุนเจือฝั่งบรอดแคสต์บ้าง ซึ่งเป็นการสนับสนุนคอนเทนท์ในอีกทางหนึ่ง”

นายสุระ กล่าวว่า ถ้าทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น ทีวีดาวเทียมอยู่ไม่ได้เพราะประสิทธิภาพล้ำหน้ากว่าของทีวีดิจิทัลที่สามารถต่อยอดเป็นอินเตอร์แอ็คทีฟทีวี ทีวีออนดีมานด์ ตลอดจนโมบายทีวี สิ่งที่ กสทช. ต้องคิดต่อคือ ทำอย่างไรให้ของใหม่ สามารถเกิดขึ้นได้ และทำอย่างไรให้ของที่มีอยู่เดิมอย่างเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมยังคงอยู่

นายอมรภัทร ชมรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนกซ์สเตป จำกัด กล่าวว่า ช่องรายการที่มีจำนวนมากขึ้นไม่ว่าผ่านระบบใดก็ตาม สิ่งที่ กสทช. ควรตระหนักและสนับสนุนคือ การทำให้คอนเทนท์มีสาระและมีมิติมากขึ้น มากกว่าที่ออกจากกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ทำอย่างไรจะให้ใกล้ตัวคนต่างจังหวัดมากขึ้น

แนะ กสทช.คำนึงพฤติกรรมผู้บริโภค
นาย เดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการ สายงานแพลตฟอร์ม สแตรททิจี้ บริษัท จีเอ็มเอ็มแซท จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือ ความชัดเจนของกฎเกณฑ์ที่ออกมาแล้วและยังไม่ออกของ กสทช. ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของธุรกิจ รวมถึงการสร้างภาระอื่นๆ เพิ่ม โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม 2% ที่บางครั้งเกิดความซ้ำซ้อน ทำให้บริษัทต้องปรับโครงสร้างภายในเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

นอกจากนี้ ควรจะต้องคำนึงถึงพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะ เคเบิลทีวี และ ทีวีดาวเทียม อยู่มากว่า 20 ปี จนผู้บริโภคคุ้นเคย ดังนั้นหากจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ก็ควรเป็นไปอย่างเสรี และให้ผู้บริโภคเป็นผู้เลือกเอง

“วันนี้เราไล่เทคโนโลยีไม่จบ ถ้าควบคุมตามเทคโนโลยีเราเหนื่อย ขอให้ดูที่ต้นทางนั่นคือคอนเทนท์ ถ้าเดินทางผิดก็เลี้ยวกลับได้ และขอให้เปิดใจกว้างแล้วรับฟัง” นายเดียว กล่าว

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีความร่วมมือกันมากขึ้น และพัฒนาคอนเทนท์ให้มีคุณภาพ และทุกช่องทางควรได้รับการสนับสนุนอย่างเท่าเทียม เสรี และเป็นธรรม

Tags : กสทช. • กสท. • ทีวีดิจิทัล • ทีวีดาวเทียม • ทีวีดาวเทียมกับทีวีดิจิทัล • อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”