Zuckerberg เผยวิสัยทัศน์ระยะยาว ขั้นต่อไปของ Facebook คือสร้างสังคมระดับโลก
Mark Zuckerberg ประกาศวิสัยทัศน์ระยะยาวของ Facebook ว่าหลังจากเชื่อมต่อชุมชนขนาดเล็กได้แล้ว ขั้นต่อไปคือการสร้างสังคมในระดับโลก (เขาใช้คำว่า global community) และจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่งเสริมเสรีภาพ-สันติภาพ แก้ปัญหาความยากจน พัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงแก้ปัญหาการก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รับมือกับโรคระบาด
วิสัยทัศน์ของ Mark Zuckerberg แบ่งออกเป็น 5 ข้อ ดังนี้
1) สร้างสังคมที่เห็นอกเห็นใจกัน (Supportive Communities)
Zuckerberg บอกว่าโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม คือ ชุมชนขนาดเล็กหรือชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอลงอย่างมากนับตั้งแต่ยุค 1970s เป็นต้นมา แต่ในทางกลับกัน ชุมชนออนไลน์กลับแข็งแกร่งขึ้น และเครื่องมืออย่าง Facebook Groups ก็ช่วยเชื่อมต่อคนที่มีความสนใจเหมือนกัน แม้อยู่กันคนละที่ เขายกตัวอย่างการใช้ Groups สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคพบได้ยาก ให้เป็นกำลังใจระหว่างกันและกัน, กลุ่มพ่อผิวดำ (Black Fathers) มาแชร์ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยกัน, กลุ่มพ่อแม่ที่เพิ่งมีลูกคนแรก, กลุ่มช่วยเหลือผู้อพยพ เป็นต้น
ปัจจุบันมีผู้ใช้ Facebook ประมาณ 100 ล้านคนเป็นสมาชิกของ Groups ที่มีความหมาย (very meaningful groups) แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มเหล่านี้ ทำให้ Facebook จะปรับปรุงวิธีการแนะนำกลุ่มที่น่าจะตรงกับความสนใจของเรามากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างคนเหล่านี้ และจะปรับปรุงเครื่องมือการบริหารจัดการกลุ่มให้ดีขึ้น เพื่อให้ Groups มีความสามารถมากขึ้นในลักษณะเดียวกับ Pages
นอกจากนี้ Facebook ยังสนใจปรับปรุงเรื่องกลุ่มย่อย (sub-communities เช่น กลุ่มของห้องเรียนแต่ละห้อง ภายใต้สังคมโรงเรียนเดียวกัน) และการทำกิจกรรมร่วมกันภายในกลุ่มด้วย
2) สร้างสังคมที่ปลอดภัย (Safe Community)
Zuckerberg ให้นิยามของคำว่า safe ไว้ 3 ขั้นตอน ได้แก่การป้องกันอันตราย (prevent harm), ให้ความช่วยเหลือระหว่างวิกฤต (help during crisis) และการฟื้นฟูหลังวิกฤต (rebuild after crisis)
การป้องกันอันตราย ที่ผ่านมา Facebook พัฒนาระบบเตือนภัยถ้ามีคนจะฆ่าตัวตาย, ฟีเจอร์ตามหาเด็กหายร่วมกับ Amber Alerts
ให้ความช่วยเหลือระหว่างวิกฤต ฟีเจอร์ที่โดดเด่นคือ Safety Check ที่ให้ผู้ใช้ในพื้นที่ภัยพิบัติแจ้งว่าตนเองปลอดภัย และฟีเจอร์ค้นหาที่พัก-อาหาร ในพื้นที่ประสบภัย
การฟื้นฟูหลังวิกฤต ฟีเจอร์บริจาคเงินเพื่อฟื้นฟูภัยพิบัติ เช่น เหตุแผ่นดินไหวในเนปาล และการประกาศบริจาคเลือด-บริภาคอวัยวะ
แต่ Zuckerberg มองว่าระบบปัจจุบันยังดีไม่พอ ตอนนี้ Facebook ใช้ระบบรีวิวข้อความที่มีปัญหา (เช่น ข้อความกลั่นแกล้ง-ฆ่าตัวตาย-ก่อการร้าย) โดยมนุษย์ แต่เมื่อข้อความมีปริมาณมาก ก็ต้องพัฒนา AI มาช่วยให้เข้าใจว่าในแต่ละชุมชนกำลังเกิดอะไรขึ้น ปัจจุบัน Facebook มีระบบใช้ AI ตรวจสอบภาพหรือวิดีโอที่อาจมีปัญหา แต่ก็ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสมบูรณ์
3) สร้างสังคมที่รับรู้ข่าวสาร (Informed Community)
Zuckerberg พูดถึงปัญหาหลัก 2 ข้อคือ การไม่รับสารในมุมมองอื่น (filter bubbles) และปัญหาข่าวปลอม (fake news) เขายืนยันว่าต้องแก้ไขสองเรื่องนี้ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
ปัญหา filter bubbles เขาบอกว่าความเห็นในโซเชียลย่อมหลากหลายกว่าการเข้าถึงสื่อแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ผู้รับสารก็ควรต้องรับรู้มุมมองต่อเรื่องนั้นให้รอบด้าน ซึ่ง Facebook จะพยายามนำเสนอข้อมูลข่าวสารในมุมมองต่างๆ (range of perspectives) ให้มากขึ้น
ปัญหาข่าวปลอม Facebook จะแก้ปัญหาข่าวปลอมแบบเดียวกับการแก้ปัญหาสแปม แต่เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะเส้นแบ่งระหว่างข่าวปลอม ข่าวเสียดสี และความคิดเห็น นั้นบางมาก ทำให้บริษัทต้องระวังไม่ไปล้ำเส้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย แนวทางของ Facebook จะไม่แบนข่าวปลอม แต่จะเน้นการให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงด้านอื่นแทน
Zuckerberg ยอมรับว่าโซเชียลเป็นสื่อขนาดสั้น และสื่อที่โดนใจจะถูกกระจายซ้ำต่ออย่างมาก ทำให้ข้อความที่สั้นและตรงประเด็นจะไปได้ไกลกว่า แต่ก็ต้องระวังเพราะความสั้นจะทำให้เนื้อหาสำคัญบางอย่างถูกตัดทอนลง
Facebook เห็นว่าผู้ใช้บางรายมักแชร์ลิงก์ที่หัวข้อหวือหวา (sensational headline) โดยไม่ได้อ่านเนื้อหาเต็มๆ ด้วยซ้ำ บริษัทจึงเริ่มลดความสำคัญของหัวข้อข่าวลักษณะนี้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เรียนรู้ว่าเว็บไหนเป็นสื่อที่มักพาดหัวหวือหวา
4) สร้างสังคมที่มีส่วนร่วมทางการเมือง (Civically-Engaged Community)
Zuckerberg แยกแยะการมีส่วนร่วมทางการเมือง 2 ระดับ คือ กระบวนการทางการเมืองที่มีอยู่แล้ว (เช่น การเลือกตั้ง) และการสร้างกระบวนการใหม่ๆ ให้คนในชุมชนตัดสินใจร่วมกัน
กรณีแรกถือว่าง่ายกว่า เพราะสามารถสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองในปัจจุบันได้ทันที เช่น ขึ้นข้อความให้คนออกไปเลือกตั้ง, แนะนำให้รู้จักนักการเมืองท้องถิ่น และเป็นช่องทางให้ผู้นำประเทศส่งผ่านข้อมูลไปยังประชาชนของตัวเองโดยตรง ตอนนี้ คณะรัฐมนตรีในอินเดียเริ่มแชร์เนื้อหาจากการประชุมหรือนโยบายต่างๆ บน Facebook เพื่อรับความเห็นจากประชาชนแล้ว
นอกจากนี้ Zuckerberg ยังกล่าวถึงการใช้ Groups และ Events เชิญชวนคนออกไปชุมนุม ซึ่งถือเป็นเครื่องมืออีกอย่างที่ช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
5) สร้างสังคมที่ครอบคลุมทุกคน (Inclusive Community)
เป้าหมายของ Facebook คือสร้างสังคมที่เข้าถึงทุกคน ไม่ทอดทิ้งคนกลุ่มใด (inclusive community) ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ เพศ หรือมุมมองทางการเมือง
Zuckerberg ยอมรับว่าที่ผ่านมา Facebook ทำผิดพลาดหลายอย่าง เช่น แบนภาพถ่ายเด็กเปลือยจากสงครามเวียดนาม โดยกรณีแบบนี้ Facebook แยกแยะเนื้อหาผิด ไปมองเนื้อหาเหล่านี้เป็น hate speech ทั้งที่จริงๆ เป็นการถกเถียงกันทางการเมือง สาเหตุของปัญหาเหล่านี้มาจากการที่ Facebook มีกฎแบบเดิม (เช่น ห้ามแสดงภาพเปลือย) ที่อาจล้าสมัยแล้ว ใช้ไม่ได้ในทุกกรณีอีกต่อไป
ปัญหานี้ยังเกิดจากแต่ละสังคมมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ต่อให้เป็นสังคมเดียวกัน แต่ละคนก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน (เช่น อาจรับภาพความรุนแรงได้ แต่รับภาพเปลือยไม่ได้) นอกจากนี้ Facebook เองก็มีข้อจำกัดเรื่องการขยายความสามารถ (operational scaling) เพื่อให้รองรับปริมาณเนื้อหาจำนวนมหาศาล
Zuckerberg เล่าว่าเขาคิดเรื่องการดูแลชุมชน Facebook ให้มีประสิทธิภาพมานานหลายปี การนั่งอยู่ในแคลิฟอร์เนียคงไม่สามารถเรียนรู้วัฒนธรรมของคนทั่วโลกได้ แนวทางที่เขาเสนอคือ ผู้ใช้แต่ละคนควรมีตัวเลือกว่าตนเองต้องการเห็นเนื้อหาแบบไหน ขอบเขตของเราในเรื่องโป๊เปลือย ความรุนแรง การดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นอย่างไร ถ้าผู้ใช้คนนั้นไม่เลือก ค่าดีฟอลต์จะอิงตามภูมิภาค แทนการใช้ค่าดีฟอลต์อันเดียวกันทั่วโลก
อ้างอิง : http://www.blognone.com
ณ 17/02/2017
Zuckerberg เผยวิสัยทัศน์ระยะยาว ขั้นต่อไปของ Facebook คือ
-
- Posts: 7045
- Joined: 29 Mar 2013, 13:36