ล่าแม่มดออนไลน์ และลัทธิบูชาโซเชียลมีเดียเป็นชีวิตจิตใจ

Post Reply
brid.yanee
Posts: 321
Joined: 10 Jan 2022, 10:18

ล่าแม่มดออนไลน์ และลัทธิบูชาโซเชียลมีเดียเป็นชีวิตจิตใจ

Post by brid.yanee »

Image

ในยุคที่ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ มีโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ประสบการณ์ อุทาหรณ์เตือนใจ หรืออื่น ๆ เป็นสิ่งที่สามารถที่จะกระทำการใด ๆ ก็ได้อย่างอิสระ โดยอ้างสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอันพึงมี อันที่จริงเราก็สามารถทำได้ตามนั้น เราอยากจะทำอะไรก็ทำได้ ทว่ามันมีอยู่เงื่อนไขเดียวที่เรามักจะหมิ่นเหม่เสมอ คือ มีคนอื่นเดือดร้อนจากการใช้งานสื่อออนไลน์อย่างอิสระของเรา

การใช้สื่อออนไลน์ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ โดยมีรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือ “การล่าแม่มดออนไลน์” เมื่อพิจารณาจากวิธีแล้ว เราจะพบว่ามันเป็นกลั่นแกล้งรูปแบบหนึ่งที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียหรือช่องทางออนไลน์เป็นเครื่องมือ มีการไล่ล่า โจมตี ตัดสิน ให้ร้ายบุคคลที่คิดต่าง คิดและทำแบบผิดแผกแตกแยกไปจากคนหมู่มากผ่านโลกออนไลน์ ประจานบุคคลนั้น ๆ ด้วยคลิปวิดีโอ รูปภาพที่แอบถ่ายโดยเจ้าตัวไม่อนุญาต จากนั้นก็มีการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรง ทำให้บุคคลนั้นตกเป็นเป้าหมายหรือเหยื่อของการประณามจากคนในทางสังคม

ที่มาของคำว่า “ล่าแม่มด” นั้น เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15-18 ในโลกตะวันตก เป็นปรากฏการณ์ที่มีการแสวงหาบุคคลซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็น “แม่มด” โดยเหยื่อมักจะเป็นหญิงชราที่รูปร่างหน้าตาแตกต่างจากคนทั่วไป หรือผู้หญิงที่อาศัยอยู่คนเดียว คนกลุ่มนี้จะถูกสงสัยและกล่าวหาว่าเป็นแม่มด เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องร้าย ๆ ภัยพิบัติ หรือโรคระบาด คนกลุ่มนี้จึงเป็นตัวอันตรายของสังคมที่จะปล่อยให้มีอิสระไม่ได้

ในเมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อไปในทิศทางเดียวกันว่าคนนั้นคนนี้เป็นแม่มด หญิงเหล่านั้นจะถูกจับตัวมาทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อบีบบังคับให้รับสารภาพและเพื่อที่จะได้ไม่ไปทำพิธีร่ายมนต์ดำอีกจนถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสได้ชี้แจงใด ๆ เลย จึงมีคนที่ต้องตายอย่างทรมาน เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดนับหมื่นนับแสนคน ก่อนที่การล่าแม่มดสุดโหดร้ายจะยุติลงในศตวรรษที่ 18

จะเห็นว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อการล่าแม่มดออนไลน์ในปัจจุบันก็ต้องเผชิญหน้ากับความเลวร้ายไม่ต่างจากการล่าแม่มดในอดีต แต่สิ่งที่ต่างกัน คือในอดีตยังมีการกล่าวอ้างถึงความชั่วร้ายที่ (เข้าใจว่า) เกิดจากการใช้ไสยศาสตร์ของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด ด้วยความกลัว แม่มดจึงถูกไล่ล่า และถูกทรมานจนถึงแก่ความตาย แต่การล่าแม่มดในยุคปัจจุบัน มักทำไปเพียงเพราะเหยื่อไม่ได้ทำตามบรรทัดฐานบางอย่างที่คนบางกลุ่มในสังคมตั้งขึ้นมาเอง แค่คิดต่าง ทำไม่เหมือน คุณก็มีสิทธิ์ที่จะถูกไล่ล่าแล้ว ไม่ต้องอ้างถึงความชั่วร้ายใด ๆ เลย

เมื่อผู้คนใช้สื่อออนไลน์ชักจูงให้รุมด่า รุมประณาม ต่อว่า หยามเหยียดคนอื่น และอาจจะเลยเถิดถึงการทำร้ายร่างกายกัน โดยที่คนอื่น ๆ ก็เชื่อตาม นี่ไม่ต่างจากพฤติกรรมของนักล่าแม่มดในอดีตเลย โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียในการทำร้ายผู้อื่น การโจมตีบุคคลที่คิดต่าง การประจานบุคคลอื่นด้วยรูปภาพ วิดีโอ ให้ตกเป็นเป้าหมายของการด่าทอของคนในสังคมทั้งที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แท้จริงด้วยซ้ำ เหยื่อจึงกลายเป็นจำเลยของสังคมไปโดยปริยาย นั่นเท่ากับว่าโลกออนไลน์ได้ทำลายชีวิตคนคนหนึ่งไปแล้ว

ความเกลียดชังที่สร้างขึ้นด้วยปลายนิ้วคลิก

อินเทอร์เน็ตช่วยย่อโลกจากที่เป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งลงมาเป็นหน้าจอสี่เหลี่ยมขนาดประมาณฝ่ามือ โลกอยู่ในกำมือทุกคน ความเป็นไปต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลกเราสามารถรู้ได้ภายในเสี้ยววินาที เรื่องราวที่คนอื่นโพสต์ แชร์ กดไลก์ ก็ถูกกระจายต่อได้อย่างรวดเร็ว แปลว่าหากมีใครสักคนกำลังตกเป็นเป้าหมายของการล่าแม่มดออนไลน์ มันก็จะเกิดขึ้นได้ภายในชั่วเสี้ยววินาทีเช่นกัน

เมื่อเราเห็นคลิป เห็นภาพ หรือได้อ่านข้อความจากโซเชียลมีเดียที่มีการแชร์ต่อกันมา จากการที่มีความพยายามทำให้คนคนหนึ่งตกเป็นจำเลยสังคม ในโลกอินเทอร์เน็ตนั้นไม่เหมือนการพูดคุยโต้เถียงกัน ทำให้การโพสต์และการอ่านจากโพสต์นั้นสามารถทำให้คนที่ได้อ่านคล้อยตามได้มากกว่าการพูดคุยปกติที่เราสามารถสื่อสารกลับได้ทันที แต่การเสพจากโพสต์ของคนอื่น เราจะเสพด้วยความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ที่มีของเรา ยิ่งหากมีร่วมกันกับผู้ส่งสาร เราจะคล้อยตามได้ไม่ยาก ยิ่งเราอินกับมันมากเท่าไร เราก็ยิ่งอยากมีส่วนร่วมมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าเราเกิดมีความคิดในเชิงเห็นด้วยกับต้นโพสต์ ที่กำลังประณามใครคนหนึ่งอยู่ ก็มีแนวโน้มที่เราจะกระโดดเข้าไปร่วมในกองคาราวาน เพื่อให้บุคคลนั้น ๆ ได้รับโทษบางอย่างจากสังคม ต่อให้บุคคลนั้นทำผิดจริง ก็เป็นการตัดสินโทษโดยกฎหมู่ที่ใช้ศาลเตี้ย ทำให้คนนั้นตกเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม โดนรุมด่า หรือโดนขับไล่จากสังคม (โดนแบน) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้มีศีลธรรม และไม่ผิดอะไรที่จะลงโทษคนผิด ได้มีส่วนร่วมกับสังคม และเราก็จะเชื่อไปเองว่าสิ่งที่เราทำคือความถูกต้องดีงาม สำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมเรียบร้อย

กรณีการลงโทษคนผิดด้วยศาลเตี้ย สำหรับประเทศไทยมักเกิดขึ้นจากกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจน คนสงสัยว่าคนทำผิดอาจหลีกเลี่ยงโทษ หรือมีวิธีที่จะไม่ต้องรับผิด ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมทำอะไรไม่ได้ ไม่มีความชัดเจน ไม่รวดเร็วทันใจ จึงต้องล่าแม่มดเพื่อแสดงตัวตนว่าเราเป็นคนที่มีศีลธรรม มีความถูกต้องในจิตใจ กฎหมู่จากศาลเตี้ยก็พร้อมทำงาน และรู้สึกสะใจดีที่ได้เป็นผู้ลงทัณฑ์เอง

การที่เราคล้อยตามสังคม ไหลตามคนอื่นได้ง่ายเกินไป แสดงให้เห็นถึงการเชื่อทุกอย่างโดยขาดวิจารณญาณ เราแค่ต้องการจะมีส่วนร่วม ต้องการตามให้ทันกระแสสังคม ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง รู้เรื่องดีแค่ไหน อ่านแค่ไม่กี่ตัวอักษรก็พร้อมที่จะทำร้ายคนอื่นโดยไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจ ด่วนตัดสินไปก่อนเรียบร้อย เราก็คือคนหนึ่งที่ไม่รู้เท่าทันสื่อ และบกพร่องในการควบคุมหักห้ามใจที่จะต้องขอไปมีส่วนร่วมกับทุก ๆ ดราม่าให้ได้ทั้งที่ไม่จำเป็น และถ้าคอมเมนต์ของเราถูกใจคนอื่นมาก ๆ เราก็จะพลอยได้แสง ได้ซีนจากประเด็นที่เกิดขึ้น ยิ่งหลงระเริงเข้าไปใหญ่

จริง ๆ แล้ว การสร้างความเกลียดชังด้วยวิธีการล่าแม่มด เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นการละเมิดสิทธิ์ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 เป็นโทษที่ยอมความไม่ได้ ดังนั้น หากคิดจะด่าหรือให้ร้ายใคร ก่อนจะโพสต์ทุกอย่าง คิดให้ดี ๆ มีคนอื่นที่พร้อมจะบันทึกสิ่งที่เราทำทุกเมื่อ แม้จะเป็นเวลาสั้น ๆ แต่เมื่อมันเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ก็ไม่สามารถลบออกประวัติการใช้งานที่มีผู้ใช้เป็นพันล้านคนบนโลกได้ ดังนั้น การโพสต์ลงอินเทอร์เน็ตจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวถ้าเราพาดพิงคนอื่น ส่วนการกดไลก์ กดแชร์ แม้จะไม่ผิด แต่ก็เหมือนเป็นการส่งเสริมให้คนนั้นโดนทำร้ายมากกว่าเดิม

ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/hitech/1554009/
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”