กูรูไอทีเตือนสติ "นักล่าแม่มด" เสี่ยงเข้าคุก 5 ปี

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

กูรูไอทีเตือนสติ "นักล่าแม่มด" เสี่ยงเข้าคุก 5 ปี

Post by brid.ladawan »

ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


กูรูไอทีเตือนสติ "นักล่าแม่มด" เสี่ยงเข้าคุก 5 ปี
« on: November 29, 2012, 01:35:13 pm »

กูรูไอทีเตือนสติ "นักล่าแม่มด" เสี่ยงเข้าคุก 5 ปี


มีงานเสวนาที่น่าสนใจ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เป็นเสวนาเวทีสาธารณะ เรื่อง “ล่าแม่มด – เซ็กส์ – ความรุนแรง ภัยเงียบออนไลน์” โดยมี นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดด้านคอมพิวเตอร์ นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกร รายการแบไต๋ไฮเทค และ พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ จิตแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ ร่วมแสดงความเห็นในหลายมุมมอง ตั้งแต่“หนุ่ย” แบไต๋ไฮเทค แนะนักคอมเมนต์ คิดก่อนโพสต์ – อัพรูป เพราะไม่สามารถลบออกจากคอมพิวเตอร์ 2 พันล้านเครื่องทั่วโลกได้ ด้าน “หมอแอร์” บอกวัยรุ่น ต้องรู้จักแบ่งเวลา อย่าเสียความเป็นตัวเอง

นายพงศ์สุข กล่าวว่า การล่าแม่มดเปรียบเทียบสมัยยุคกลางในยุโรปซึ่งยังมีอยู่ในแถบทวีปแอฟริกา แต่การล่าแม่มดในยุคไซเบอร์เป็นการกระทำต่อผู้แสดงความคิดไม่ตรงกับคนส่วน ใหญ่ในหมู่นั้น ซึ่งเริ่มต้นในยุคการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีการสืบสาวกันว่าใครคิดไม่ตรงกันด้วยการบอกที่อยู่ เห็นภาพชัดสุดคือกรณี มาร์ควี 11 ที่โพสด่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องออกจากบ้านเอเอฟโดยที่ไม่ถูกโหวตออก จึงเป็นเหมือน social sanction (คว่ำบาตรทางสังคม)

“การล่าแม่มด มันเป็นความผิดหมิ่นประมาท ซึ่งมีคนพร้อมบันทึกทุกเรื่อง ทุกภาพที่คุณโพสต์ แม้เป็นเวลาสั้นๆ 5 วินาที ภาพ แต่เมื่อไปสู่คอมพิวเตอร์แล้วก็ลบไม่ออก เพราะไม่สามารถลบจากคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ใช้ 2 พันล้านคนบนโลกได้ โดยเฉพาะเฟซบุคกวาดไป 1 พันล้านคน อย่าคิดว่าการโพสต์ลงอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องส่วนตัว คิดเป็นฝาห้องน้ำ” นายพงศ์สุข กล่าว

พิธีกรรายการแบไต๋ฯ กล่าวว่า สำหรับตนให้คะแนนความรุนแรงบนโลกไซเบอร์ไว้ระดับที่ 6 เพราะยังไม่เห็นว่าการทะเลาะในอินเตอร์เน็ตแล้วจะออกมาตบกันภายนอก แต่ในทางกลับกันมีคลิปการตบตีกัน มีอีก 20 คน เอาแต่ถ่ายรูป ไม่คิดทำอะไรเลย ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ถ้าคนในระดับนี้ในอีก 5 ปี เข้าสู่ระบบงาน ถ้ากระบวนการเรียนรู้ไม่ได้หลอมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีได้แล้วจะเกิด อะไรขึ้น ดังนั้น ฝ่ายบุคคลต้องตั้งแผนกที่ตรวจข้อมูลก่อนรับเข้าทำงาน เพื่อดูว่าพนักงานเคยโพสต์ข้อความอะไรที่ไม่ดีลงอินเตอร์เน็ตหรือไม่ เพราะแม้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ถ้ามีพฤติกรรมเช่นนี้ เราก็ไม่สามารถไว้ใจให้ทำเรื่องใหญ่ๆ ได้

“อินเตอร์เน็ตเป็นเหมือนมีดทำครัว ไปทิ่มแทงคนอื่นได้ ถ้าไม่มีความรู้ ความเสี่ยงก็จะมากขึ้น ถ้าเราไม่กรองเลยก็อาจได้รับข้อมูลผิดพลาด หรือ ตกเป็นเหยื่อได้” นายพงศ์สุข กล่าว

ด้านนายไพบูลย์ กล่าวว่า ใครที่คิดว่าการล่าแม่มดบนโซเชียลมีเดียร์ ไม่สามารถเช็คไอพีแอดเดรสได้ แต่ในความเป็นจริงสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด แม้จะลบข้อมูลทั้งหมดออก แต่เมื่อลบแล้วข้อมูลก็ยังถูกเก็บอยู่ในเครื่อง เราสามารถกู้ข้อมูลภายใน 5 นาที แม้กระทั่งในเฟซบุคมีก็มีหลักฐานหมด เมื่อเวลาจะดำเนินคดีก็สามารถเรียกข้อมูลได้ทั้งหมด

“ความเข้าใจการล่าแม่มด อาจคิดว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่จริงๆ มันผิดกฎหมาย ส่วนการกดไลค์ กดแชร์ แม้ไม่ผิด แต่ก็เหมือนเป็นการส่งเสริม และถ้าใส่ข้อมูลที่เป็นผลลบเพิ่มเข้าไปเรามีโอกาสได้วีซ่าไปเที่ยวห้องกรง 5 ปี ทุกครั้งที่ใช้อินเตอร์เน็ตสามารถตามตัวได้หมด” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ที่คนชะล่าใจเห็นว่าไม่มีการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีล่าช้านั้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลมีจำนวนน้อย คนที่มีความสามารถตรวจสอบได้จริงมีเพียง 20 ทั้งประเทศ เท่านั้น เมื่อเทียบกับคน 60 ล้านคน ทำให้การตรวจต่างๆ ต้องใช้เวลา ทำให้คนทำผิดย่ามใจ แต่อายุตามกฎหมายมีอายุความ 15 ปี

“ล่าแม่มดผิดกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิ์ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ซึ่งเป็นโทษที่ยอมความไมได้ พอยอมความไม่ได้ พอเราฟอร์เวิร์ดก็มีความผิดส่งต่อไปเรื่อยๆ เจ้าของเว็บก็มีความผิดในฐานะเป็นตัวการร่วม ส่วนคนที่รีทวิตต่อก็ต้องระวัง อาจเหยื่อการถูกเจาะขโมยข้อมูลได้ ในสหรัฐอเมริกา บริษัทหลายแห่งสืบค้นประวัติผู้สมัครงานจากเว็บไซต์กูเกิล เมื่อพบว่าใครเคยทำผิด ก็จะถูกไล่ออกทันที”นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับตนมองความรุนแรงบนโลกไซเบอร์ประมาณ 6 – 7 คือ ซึ่งทางแก้ปัญหาปัญหาเรื่องความรุนแรงบนอินเตอร์เน็ต มองว่ามีด้วยกัน 4 วิธี 1.ใช้กฎหมายบังคับรุนแรง แต่ไม่แก้ปัญหา 2.ใช้เทคโนโลยี การปิดบล็อกเว็บไซต์ วิธีการดังกล่าวไม่ได้แก้ปัญหา ดังนั้น ควรทุ่มงบให้กับ ข้อ 3.self regulation การควบคุมโดยให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง สร้าง code of conduct (ประมวลจริยธรรม) สร้างขึ้นมา เพื่อกำหนด social sanction เพื่อให้สะท้อนกลับสู่ผู้กระทำความผิด และ 4.ต้องแก้กฎหมายกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะที่ พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี กล่าวว่า ถ้าจะเปรียบเทียบการล่าแม่มดให้ชัดเจน ในประเทศไทยต้องเปลี่ยนเป็น การล่าปอบ ล่ากระสือ ซึ่งการหาแพะเป็นกลไกทางจิตของมนุษย์เพื่อโยนความผิดให้คนอื่น ทำให้ตัวเองสบายใจขึ้น ส่วนโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีผลต่อชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ น่าเป็นห่วงเด็กไทยเสียตัวตนให้แก่โซเชียลเน็ตเวิร์ค แม้แต่ผู้ใหญ่ที่ติดโซเชียลมากๆ เช้าขึ้นมาเปิดโทรศัพท์มือถือก็เช็คข้อความเฟซบุค อินสตาแกรม จนหลายคนลืมตัวตน ไม่ได้อยู่กับตัวเอง แต่ไปอยู่กับตัวตนใหม่ของตัวเองที่สร้างขึ้นในโซเชียลมีเน็ตเวิร์ค และหลายคนเกิดความเครียดเนื่องจากมีคนมาว่าตัวเองในเฟซบุค ไม่สบายใจ กลับเอามาคิดเป็นเดือนเป็นปี ไม่มีค่า บางคนถึงกับต้องปิดเฟซบุคตัวเอง ไปสร้างตัวตนใหม่เรื่อยๆ

“โทษที่ใกล้ตัวคือถ้าเราไม่รู้จักแบ่งเวลา เราสูญเสียเวลาไปกับโซเชียลเยอะมาก พอเล่นมากๆ ส่งผลกระทบต่อตัวตนเรา และคนรอบข้าง ไม่คิดถึงอนาคต เด็กยุคใหม่สูญเสียเวลาไปกับเรื่องดังกล่าวเยอะ สูญเสียเรื่องของการเรียน ซึ่งมีการพบว่าคนที่ใช้เวลากับตรงนี้ทำให้ทักษะการเข้าสังคมกับคนรอบข้าง เสียไป ดังนั้น จึงต้องรู้จักแบ่งเวลา ต้องรู้ตัวตน ที่เป็นเรา ต้องรู้จักเห็นคุณค่าตัวเอง เชื่อมั่นตัวเอง ต้องรู้จักภาคภูมิใจตัวตน ไม่ต้องใส่หน้ากาก แอบแฝง ต้องแบ่งเวลา ไม่เช่นนั้นกระทบตัวเรา คนรอบข้างและสิ่งอื่นๆ เรียนก็เรียน ทำงานให้เต็มที่ โซเชียลไว้เป็นช่วงเวลาพักผ่อน” พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี กล่าว

พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังต้องแยกให้ได้ว่าสิ่งไหนคือชีวิตจริง กับ โซเชียลเน็ตเวิร์ค เพราะคนไทยหลายๆ คนเชื่อคนง่าย ไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณา แล้วมีอารมณ์ร่วมเยอะ ต้องคิดไว้เสมอเวลาโพสต์อะไรไป สิ่งเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ 20 ปี โปรดใช้วิจารณญาณก่อนจะทำอะไร อยากให้มีสติ อย่าตกเป็นเหยื่อ หรือ เป็นเครื่องมือของคนอื่น

ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์ มติชน
post : วันพฤหัสบดี ที่ 11 ตุลาคม 2555 เวลา 9:45:48 น. by www.CreditOnHand.com
tag : ข่าวไอทีอัพเดท กูรูไอทีเตือนสติ "นักล่าแม่มด" เสี่ยงเข้าคุก 5 ปี
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”