มือถือสัมพันธภาพ'พลิกชีวิต'สาวใบ้'

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

มือถือสัมพันธภาพ'พลิกชีวิต'สาวใบ้'

Post by brid.ladawan »

ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


มือถือสัมพันธภาพ'พลิกชีวิต'สาวใบ้'
« on: November 29, 2012, 01:57:26 pm »

'มือถือสัมพันธภาพ'พลิกชีวิต'สาวใบ้'


วินาทีนี้ใครๆ ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในโลกสังคมออนไลน์ ฝันถึงระดับป๊อปปูลาร์ในโซเชียลมีเดีย อยากมีสาวกแฟนคลับติดตามทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก บล็อก ฯลฯ แต่กี่คนจะทำสำเร็จ ถ้าไม่ได้เป็น "ซุปตาร์" ดาราหรือคนดัง !?!

แต่มีสาวน้อยธรรมดาๆ คนหนึ่ง กำลังกลายเป็นสาวน้อยมหัศจรรย์ หลังจากเธอเข้าสู่โลกโซเชียลมีเดียไม่ถึงปี แต่ใช้ความพยายามจนสำเร็จติดอันดับหนึ่งในท็อป 100 ด้านโซเชียลมีเดียมาร์เก็ตติ้งของอเมริกา

ที่พิเศษกว่านั้นคือ เธอพิการหูหนวกและเป็นใบ้ สาวน้อยวัย 20 เศษผู้นี้ยอมรับว่า ไม่เคยคิดหรือฝันว่าจะมีวันที่สามารถทำธุรกิจและพูดคุยกับผู้คนทั่วโลกได้ โดยไม่ต้องใช้ภาษาพูดจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านการตลาดแก่ องค์กรต่างๆ

วันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา "คม ชัด ลึก" มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในห้องเรียนของ “อ.ดอน สแตนลีย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี คณะการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (Life Sciences Communication : University of Wisconsin) วิชา "เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่กับผลกระทบทางสังคม" วันนั้น "อาจารย์ดอน" ได้เชิญ "แอน รูส" (Anne Reuss) สาวพิการเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดโซเชียลมีเดีย http://annereuss.com มาให้ข้อมูลด้านต่างๆ ผ่านทางโปรแกรมวีดิโอแชท (Spreecast)

"แอน" เผยเบื้องหลังให้ฟังว่า เริ่มเข้าสู่สังคมมีเดียจริงจังเมื่อปีที่แล้ว หลังเรียนจบระดับมัธยมในประเทศอิตาลีก็พยายามดิ้นรนหาทุนไปเรียนต่อที่ อเมริกา จนกลายเป็นคนพิการอิตาลีคนแรกที่ได้เข้ามหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ แม้จะเรียนจบด้านภาษาอังกฤษจนได้เกียรตินิยม แต่ยังไม่รู้อนาคตจะทำงานอะไรดี จนกระทั่งเมื่อเดือนกันยายน 2554 ขณะกำลังเดินไปตามถนนด้วยความรู้สึกว้าเหว่ ท้อแท้และสิ้นหวังกับชีวิต จึงตัดสินใจหยิบโทรศัพท์มือถือมาทวิตเตอร์ข้อความบางอย่างลงไป จากนั้นก็เริ่มรู้สึกดีขึ้นอย่างไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน จึงพยายามหาช่องทางทำงานจากทวิตเตอร์ จนได้งานแรกเป็นคนตรวจข้อความและคอยทวิตเตอร์ข้อมูลด้านการตลาดของบริษัท เอกชนแห่งหนึ่ง

"หลังทวิตเตอร์ให้คนอื่นได้ไม่นาน ก็ตัดสินใจได้ทันทีว่า งานที่ตัวเองอยากทำจริงๆ คืออะไร นั่นคือเป็นคนแนะนำหรือให้คำปรึกษาลูกค้าว่าต้องใช้โซเชียลมีเดียในการ ประชาสัมพันธ์บริษัทอย่างไร บอกได้เลยว่าวิธีพีอาร์แบบเก่าๆ ไม่สำเร็จแล้ว ต้องเรียนรู้และเข้าถึงผู้คนในสังคมออนไลน์ให้ได้ งานของฉันคือการออกแบบบล็อกให้ลูกค้า แนะนำวิธีใช้เฟซบุ๊กอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการตลาดด้วยทวิตเตอร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำโดยไม่ต้องเจอหน้าหรือพูดคุยลูกค้าโดยตรง แต่ติดต่อกันผ่านทางพิมพ์ข้อความเท่านั้น"

หลังจากทำงานไม่นานบริษัทของเธอก็ค่อยๆ ไต่อันดับขึ้นเป็นท็อป 100 ของมาร์เก็ตติ้งบล็อก (http://www.businessesgrow.com: Top 100 marketing blogs worldwide) แอน ยืนยันว่า ปัจจุบันโลกยุคโซเชียลมีเดียนั้น ความพิการของร่างกายไม่ได้เป็นอุปสรรคอีกต่อไป ขอให้คนพิการทุกคนลุกขึ้นมาค้นหาตัวตนของตัวเอง หาวิถีทางของตัวเองให้เจอว่าต้องการทำอะไร เคล็ดลับสำคัญคือ ต้องสร้างแบรนดิ้งหรือสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้าหรือยี่ห้อของตัวเอง ทำให้ทุกคนจำได้รวดเร็ว มีจุดเด่นและความแตกต่างจากคนอื่น ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า สังคมในอนาคตโลกจะกลายเป็น "มือถือสัมพันธภาพ" (Mobile Relations) ผู้คนส่วนใหญ่จะติดต่อกันผ่านทางแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ เช่น โปรแกรมวิดีโอแชท โปรแกรมส่งภาพ โปรแกรมนัดหมาย ฯลฯ

แอน ยอมรับทิ้งท้ายว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เคยคบกับคนหนึ่งผ่านทางโทรศัพท์มือถือด้วย เป็นความรู้สึกที่พิเศษมาก เหมือนกับหลายคนที่รู้สึกว่าความสัมพันธ์แบบนี้ดีกว่าการเผชิญหน้าโดยตรง!!

ปัจจุบันชาวสหรัฐร้อยละ 80 เข้าสู่โลกออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ต และร้อยละ 66 ติดต่อผู้คนผ่านทางโซเชียลมีเดีย ส่วนสถิติของไทยนั้น บริษัท ศูนย์วิจัยนวัตกรรมอินเทอร์เน็ตไทย ระบุว่า ปี 2554 คนไทยใช้เฟซบุ๊กเป็นอันดับที่ 16 ของโลก มี 16 ล้านบัญชีเฉพาะในกรุงเทพฯ 8.6 ล้านบัญชี ส่วนทวิตเตอร์มีผู้ใช้ 9 แสนบัญชี ปี 2554 คนไทยส่งทวิตเตอร์รวม 452 ล้านข้อความ ขณะที่ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจพบคนไทยเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 25 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้พิการและผู้สูงอายุ รวมกว่า 3 ล้านคน แต่มีเว็บไซต์ที่รองรับการใช้งานของคนกลุ่มนี้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

"สุภวัฒน์ เสมอภาค" เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการในประเทศ องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้ได้รับอุบัติเหตุถูกลูกหลงกระสุนปืนของช่างกลตีกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2549 ขณะอายุแค่ 17 ปี ต้องกลายเป็นอัมพาตช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า หากเปรียบเทียบกับ “แอน รูส” แล้ว คนพิการไทยส่วนใหญ่ยากจน ทำให้ขาดการศึกษาและการเข้าถึงอุปกรณ์สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งราคาแพงกว่าอุปกรณ์ทั่วไป เช่น เมาส์ หรือสวิตช์ คียบอร์ดพิเศษสำหรับผู้พิการทั่วไป, กล้องเว็บแคมติดเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับคนหูหนวก โปรแกรมอ่านหน้าจอด้วยเสียงสำหรับคนตาบอด ฯลฯ เป็นต้น หรือหน่วยงานไหนมีอุปกรณ์เหล่านี้ ก็เก็บไว้โชว์ไม่สามารถใช้การได้จริง

"เป็นไปได้ยาก ถ้าจะหวังให้ผู้พิการไทยใช้โซเชียลมีเดียถึงระดับทำธุรกิจได้ เพราะต้องอาศัยอุปกรณ์และความรู้เพิ่มเติมหลายอย่าง ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อความเพลิดเพลิน หรือบางกลุ่มใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สิทธิความเคลื่อนไหวสำหรับคนพิการ ปัญหาเกิดจากไม่มีหน่วยงานใดให้ความสำคัญอย่างจริงจัง อยากเสนอให้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้อย่างชัดเจนทั่วถึงและใช้ประโยชน์ จริง ไม่ควรใช้พื้นที่องค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น อบต.หรือ อบจ.เพราะไม่ค่อยมีเจ้าหน้ที่ประจำอยู่ ควรเป็นมูลนิธิในพื้นที่เป้าหมาย"

"สุภวัฒน์" ทิ้งท้ายว่า สำคัญที่สุดคือช่วยกันสร้างทัศนคติในเชิงบวก สังคมไทยควรเชื่อมั่นว่า คนพิการมีศักยภาพแต่ขาดอุปกรณ์เท่านั้น รัฐต้องสนับสนุนงานวิจัยที่เน้นพัฒนาอุปกรณ์สำหรับคนพิการ วิจัยให้ผลิตออกมาแล้วใช้งานได้จริงๆ


ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
post : วันอังคาร ที่ 16 ตุลาคม 2555 เวลา 10:14:20 น. by www.CreditOnHand.com
tag : ข่าวไอทีอัพเดท 'มือถือสัมพันธภาพ'พลิกชีวิต'สาวใบ้'
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”