ป้าแป้น - 1001

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ป้าแป้น - 1001

Post by brid.ladawan »

ป้าแป้น - 1001


มิได้ครับ 1001 วันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณป้าชื่อแป้นที่ท่าน ๆ กำลังนึกถึงแต่อย่างใด ผมเลือกชื่อนี้ เพราะผมกำลังจะพูดถึงคีย์บอร์ดหรือแป้นพิมพ์ที่อยู่คู่กันมากับอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์มาช้านาน ซึ่งผมเคยเล่าให้ท่านได้ฟังผ่านคอลัมน์ 1001 มาก็หลายครั้ง

ถ้าจะนับอายุตามการเกิดขึ้นของแป้นพิมพ์ QWERTY ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็แทบจะเปลี่ยนสรรพนามจากป้าแป้น เป็นยายแป้น ทวดแป้นกันได้เลยครับ เพราะมันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1878 นับอายุถึงปัจจุบันได้ 134 ปีพอดี สิ่งน่าสนใจที่ทำให้ผมต้องกลับมาพูดถึงป้าแป้นอีกครั้ง เพราะในปัจจุบัน แม้ว่าป้าแป้นที่อยู่ติดกับเครื่องคอมพิวเตอร์จะแทบไม่เคยเปลี่ยนรูปร่างไป ตลอดช่วงอายุของมัน แต่บรรดาน้าแป้น พี่แป้น น้องแป้นที่เกิดขึ้นมาในยุคหลัง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องแป้นที่เกิดมาบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน ที่นับวันยิ่งพัฒนาเปลี่ยนรูปร่างหน้าตา แตกต่างไปจากป้าแป้นในอดีตอย่างสิ้นเชิง

เชื่อไหมครับ ว่าน้องแป้นบนสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูลแอนดรอยด์ซึ่งเปิดให้นักพัฒนาสามารถสร้างแป้นพิมพ์ ได้ง่ายกว่าไอโอเอส มีรูปร่างหน้าตาและวิธีการป้อนข้อมูลที่แตกต่างกันนับร้อยแบบ แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ซึ่งผมจะลองหยิบมาให้ท่านได้ลองดูกันห้าแบบตามความนิยมในปัจจุบัน

แบบที่หนึ่ง เป็นการใช้แป้นพิมพ์จริง ๆ แต่มีเรียงตัวอักษรแตกต่างกันไป เช่น การใช้แป้นตัวเลขมาพิมพ์ตัวอักษร (แบบโทรศัพท์ทั่วไปที่ใช้การกดแป้นตัวเลขหลาย ๆ ครั้งเพื่อให้ได้ตัวอักษรตามต้องการ) หรือแบบ QWERTY เดิม แต่มีขนาดเล็กลง เช่น แป้นพิมพ์บนโทรศัพท์แบล็คเบอรี่ หรือแบบที่เป็น QWERTY แต่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะเป็นการสไลด์ออกมาด้านข้างของตัวเครื่อง ซึ่งในการแข่งขันส่งข้อความ U.S. National Texting Championship โดยแอลจี ผู้ผลิตรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ก็ใช้โทรศัพท์แบบนี้ในการแข่งขัน โดยแชมป์ปีนี้เป็นของ Austin Wierschke หนุ่มน้อยอายุ 17 ปี แชมป์เก่าปีที่แล้ว

แบบที่สอง เป็นน้องแป้นแบบเสมือน (คือ แบบที่เป็นปุ่ม ๆ ให้จิ้มบนหน้าจอ) ซึ่งเกิดมาก่อนเพื่อน โดยยังคงรักษารูปร่างหน้าตาและวิธีการพิมพ์ไว้คล้ายกับป้าแป้นมากที่สุด แต่ที่เพิ่มความสะดวกสบายขึ้นมา คือความสามารถในการแก้คำผิดโดยอัตโนมัติ โดยเลือกจากพจนานุกรมที่ฝังไว้ในตัวเครื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีการเพิ่มความสามารถพิเศษเข้ามา เช่น มีการขยายตัวอักษรที่มีแนวโน้มจะเป็นตัวถัดไปให้ใหญ่กว่าตัวอื่น หรือกดค้างไว้เล็กน้อยเพื่อตรวจสอบว่า ตัวเองพิมพ์ถูกหรือไม่

แบบที่สาม เป็นแป้นแบบเสมือนเหมือนในแบบที่สอง แต่ผสมผสานเทคนิคการจัดเรียงปุ่มที่มีการคำนวณแล้วเป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้พิมพ์ สามารถพิมพ์ได้สะดวกที่สุด เป็นแบบที่หลากหลายมาก เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาของการเรียงปุ่มอักษรแบบ QWERTY ที่เหมาะกับการพิมพ์ด้วยสิบนิ้วสองมือ มาจัดลงหน้าจอโทรศัพท์มือถือที่เล็กลง และมักใช้นิ้วเพียงหนึ่งหรือสองนิ้วในการพิมพ์ตัวอักษรทั้งหมด ซึ่งการเรียงตัวอักษรแบบ ATOMIK ของไอบีเอ็ม ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของกลุ่มนี้

แบบที่สี่ เป็นแบบที่เพิ่มความสามารถในการลากนิ้วเข้าไป โดยในการพิมพ์แต่ละคำ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องยกนิ้วขึ้น ยังคงมีความสามารถในการเดาคำศัพท์ และค้นหาคำใกล้เคียงมาให้โดยอัตโนมัติเช่นกันกับแบบอื่น ๆซึ่งกลุ่มนี้จะมีศัพท์เรียกกันเฉพาะว่า แบบสไวป์ (Swipe หรือ Slide) ซึ่งแบบนี้จะพิมพ์ได้เร็วมากและยังแม่นยำอีกด้วย ผู้ใช้ที่สามารถจำแป้นพิมพ์ได้ทั้งหมด และมีความชำนาญพอสมควรจะชอบแบบนี้ แต่จะเกิดปัญหากับกลุ่มผู้ใช้ที่จำแป้นพิมพ์ได้ไม่ครบ หรือจำไม่ได้เลย เนื่องจากจะไม่สามารถลากนิ้วไปยังตัวอักษรที่ต้องการได้

ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
post : วันศุกร์ ที่ 7 กันยายน 2555 เวลา 9:48:25 น. by www.CreditOnHand.com
tag : ข่าวไอทีอัพเดท ป้าแป้น - 1001
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”