เจ๊งเพราะการเมือง : กัลยา ยืนยง

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

เจ๊งเพราะการเมือง : กัลยา ยืนยง

Post by brid.siriwan »

เจ๊งเพราะการเมือง : กัลยา ยืนยง

ในปี 2556 อุตสาหกรรมการบินมีการเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ในด้านการแข่งขันนั้น กลับทวีความรุนแรงอย่างมาก เพราะนอกจากบริษัทเดิมที่แข่งขันกันในด้านการจัดโปรโมชั่นที่ดุเดือดในด้านลด แลก แจก แถมแล้ว มีสายการบินรายใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอีกจำนวนมาก รวมถึงไปสายการบินต่างๆ ได้รับมอบเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับการบินไทย ที่มีการรับมอบเครื่องบินใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์ โดยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารสูงกว่าปีก่อน 8.1% และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารสูงขึ้น 4.6% แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และการที่ประเทศจีนได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายด้านการท่องเที่ยวฉบับใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีผลกระทบต่อราคาทัวร์ต่างประเทศ และทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ ยิ่งส่งผลให้ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารในไตรมาส 4 ลดลง โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 74.1% ลดลงจากปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 76.6%
ด้านการขนส่งสินค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยตั้งแต่ปี 2554 รวมทั้งปริมาณการผลิตของพื้นที่ใต้ท้องเครื่องบินจากจำนวนเครื่องบินโดยสารของหลายสายการบินเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างรุนแรงขึ้น มีผลให้อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์เฉลี่ยลดลงจาก 54.2% ในปี 2555 เป็น 51.1% ในปี 2556
นอกจากนั้น หากเปรียบเทียบกับปีก่อน การแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยลบที่กระทบต่อผลการดำเนินงาน เนื่องจากสัดส่วนรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการเติบโตของรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย
จากปัจจัยทั้งหมดนั้นได้ส่งผลให้การดำเนินงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในปี 2556 มีรายได้รวม 211,605 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12,000 ล้านบาท โดยเฉพาะไตรมาส 4/56 ทรุดหนักที่สุด ซึ่งปัจจัยลบมาจากทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลด ทำให้ฉุดอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 74.1% ลดลงจากปีก่อนที่มี 76.6% ก็ดูเหมือนเป็นการตั้งข้อสงสัยว่า ”การบินไทย สายการบินแห่งชาติ” ขาดทุนได้อย่างไร ซึ่งดูสวนทางกับสายการบินต้นทุนต่ำเหลือเกิน
ในเรื่องนี้ โชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บมจ.การบินไทย ก็ออกมายอมรับว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทประจำปี 2556 ขาดทุนก่อนอัตราแลกเปลี่ยนและภาษีเงินได้ (ไม่รวมผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน) จำนวน 3,608 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีกำไร 4,662 ล้านบาท (หากไม่รวมสายการบินนกแอร์ กำไร 4,434 ล้านบาท) โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 12,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปี 2555 มีกำไรสุทธิ 6,510 ล้านบาท ซึ่งรวมผลขาดทุนที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานรวม 9,321 ล้านบาท ได้แก่ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินเป็นจำนวน 5,426 ล้านบาท และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 3,895 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.52 บาท เปรียบเทียบกับปี 2555 ซึ่งมีกำไรต่อหุ้น 2.85 บาท
ด้านสายการบินโลว์คอสต์ อย่างไทยแอร์เอเชีย แม้จะเป็นน้องใหม่เปิดให้บริการมา 10 ปี พร้อมด้วยแคมเปญที่มักพบเห็นกันบ่อยในเรื่องตั๋วโดยสารราคาถูก กลับทำให้มีผู้โดยสารที่ใช้บริการแล้ว 50 ล้านคน แบ่งเป็นต่างชาติและคนไทยสัดส่วนเท่ากันที่ 50% ด้วยอัตราการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารที่มีเพิ่มต่อเนื่อง 2-3 ล้านคนต่อปี คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้โดยสาร 13.3 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้วซึ่งมี 10.5 ล้านคน และประเมินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยแอร์เอเชียจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการราว 100 ล้านคน นอกจากนี้ไทยแอร์เอเชียมีแผนรับมอบเครื่องบินอีก 5 ลำ ภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 37 ลำ และจะมี 61 ลำภายในปี 2560 เพื่อรองรับการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ๆ ในปีนี้
ส่วนสายการบินนกแอร์ โลว์คอสต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทลูกขอการบินไทย ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมากับมีผลประกอบการมีกำไรสุทธิ 1,075.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113% เนื่องจากนกแอร์ได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 45.2% จากการรับมอบเครื่องบิน 6 ลำ แต่ยังสามารถรักษาอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวบินที่ 84% ได้ มีรายได้รวม 11,314.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,259.6 ล้านบาท หรือ 37% เนื่องจากมีการขยายกำลังการผลิต โดยทยอยปรับฝูงบินให้มีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนเครื่องบินจากโบอิ้ง B737-400 3 ลำสุดท้ายมาเป็น B737-800 รวมมีโบอิ้ง 14 ลำ ทำให้นกแอร์สามารถเพิ่มจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการแบบประจำเป็น 51,247 เที่ยวบิน หรือ 39.2%
อย่างไรก็ตาม จะว่าไปแล้วจะเห็นว่า 2 สายการบินราคาประหยัดนั้นในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการแข่งขั้นในอุตสาหกรรมการบินค่อนข้างรุนแรงกลับอยู่รอดได้ แต่ด้านการบินไทยกลับพบกับภาวะขาดทุน ซึ่งเมื่อมาพิจารณาเหตุผลแล้วก็ต้องยอมรับว่าภายในองค์กรของการบินไทยนั้นมักจะถูกแทรกแซงจากนักการเมือง ที่ส่งพวกพ้องเข้าไปขนขวายหาผลประโยชน์ภายในองค์จนไม่ได้สนใจถึงความอยู่รอดขององค์กรแต่อย่างใด สนใจเพียงว่าพวกพ้องอยู่รอดก็เพียงพอแล้ว.

ที่มา ไทยโพสต์
วันที่ 6 มีนาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”