มุมมองสิทธิสตรีไทยในสายตาทูตฝรั่งเศส

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

มุมมองสิทธิสตรีไทยในสายตาทูตฝรั่งเศส

Post by brid.ladawan »

มุมมองสิทธิสตรีไทยในสายตาทูตฝรั่งเศส

เป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้กับการให้สตรีมีสิทธิเท่าเทียมกันกับสุภาพบุรุษ แม้ในบางประเทศหันมาให้ความสำคัญแต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังคงจำกัดสิทธิสตรี และมองเห็นผู้หญิงอยู่คนละชนชั้นกับผู้ชาย

เป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้กับการให้สตรีมีสิทธิเท่าเทียมกันกับสุภาพบุรุษ แม้ในบางประเทศหันมาให้ความสำคัญแต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังคงจำกัดสิทธิสตรี และมองเห็นผู้หญิงอยู่คนละชนชั้นกับผู้ชาย ประเทศฝรั่งเศสในฐานะจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิสตรี ที่มีสตรีออกมาเดินประท้วงเพื่อสิทธิของตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2332 ก่อให้เกิดความร่วมมือจากสตรีหลายประเทศจัดตั้งเป็นวันสตรีสากล ในวันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี ในโอกาสวันสตรีสากลที่ผ่านมา ฯพณฯ ตีแยรี วีโต เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้เปิดบ้านพักริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับวันสตรีสากลและสิทธิสตรีว่า เรื่องสิทธิสตรีเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาให้ยั่งยืน และในระยะยาวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่ควรนำเรื่องเพศหญิงเพศชายมาเป็นตัววัดว่าใครเหนือกว่าใคร ทุกคนควรได้รับความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าสิทธิเรื่องของความเป็นพลเมือง สิทธิในสังคมหรือด้านเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ให้การสนับสนุนลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ กับสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องของสตรี และหวังอยากให้ทุกประเทศหันมาให้ความร่วมมือในการมอบสิทธิต่าง ๆ ให้แก่สตรีด้วย ซึ่งการจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมต้องมีจุดเริ่มต้น อย่างเด็กผู้หญิงสิ่งแรกต้องได้รับการศึกษาเท่ากับเด็กผู้ชาย รวมทั้งปกป้องเรื่องการคลุมถุงชน การแบ่งแยกในการประกอบอาชีพ ในประเทศทางแอฟริกาช่วงที่มีสงครามก็มีการนำผู้หญิงมาเป็นเครื่องมือแลกกับอาหารเพื่อความอยู่รอด ก่อให้เกิดทั้งการข่มขู่ หรืออาจถึงขั้นข่มขืนและการถูกทำร้ายร่างกายจากสามี

ประเทศฝรั่งเศสจึงให้ความสำคัญมากกับสิทธิสตรีและได้ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ก่อตั้งมาเป็นวันสตรีสากล และยังมีการตั้งวันที่ให้ความสำคัญแก่เยาวชนหญิงทั่วโลก รวมถึงวันรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในเพศหญิง ในวันที่ 11 ต.ค. และวันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้มีการประชุมของสตรีจาก 77 ประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศส หรือฟรองโกโฟนี ในปีนี้จัดเมื่อวันที่ 3-4 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศคองโก ว่าด้วยเรื่องปัญหาของสตรี เพื่อหาข้อสรุปและการแก้ไข รวมทั้งเผยเเพร่เรื่องสิทธิสตรีและหวังว่ามีข้อสรุปในเรื่องของการจัดตั้งกองทุนเพื่อนำไปเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กผู้หญิงที่ขาดแคลนจริง ๆ ขณะที่ในวันที่ 5-7 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุม “โกลบอล ซัมมิท ออฟ วีเม็น” ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อหารือสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในภาคเศรษฐกิจ

ด้านการดำเนินงานเพื่อสิทธิสตรีในประเทศฝรั่งเศส ฯพณฯ ตีแยรี วีโต เผยว่า มีการจัดตั้งกระทรวงที่ดูแลสิทธิสตรีโดยเฉพาะเมื่อปี พ.ศ. 2555 ซึ่งแยกออกจากกระทรวงอื่นซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2517, กฎหมายการทำแท้งที่บัญญัติขึ้นเมื่อ พ.ศ.2518 ให้ผู้หญิงเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะเก็บบุตรเอาไว้หรือไม่ รวมทั้งการศึกษาของบุตรที่ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างสามีภรรยาไม่ใช่เป็นการตัดสินใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้สิทธิสตรีในฝรั่งเศสเป็นการมอบผ่านบทกฎหมาย เช่น มีกฎหมายออกมาว่าต้องมีความเท่าเทียมกันในคณะรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรัฐมนตรีผู้หญิงและผู้ชายใกล้เคียงกันเกือบครึ่งต่อครึ่ง รวมถึงตำแหน่งของรัฐมนตรีช่วย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงต้องเป็นผู้หญิงถึงร้อยละ 40

ขณะที่สิทธิสตรีในประเทศไทย ท่านทูตวีโตกล่าวว่า เป็นเรื่องที่พูดยากในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติ แต่เท่าที่เห็นเมืองไทยก็มีความก้าวหน้าอย่างการมีผู้นำประเทศเป็นผู้หญิง การดำรงอาชีพที่ไม่ได้มีการปิดกั้น รวมทั้งได้เห็นผู้หญิงเข้ามามีบทบาทสำคัญมากมายทั้งเจ้าของธุรกิจและข้าราชการชั้นสูง อย่างไรก็ตามก็ยังมีช่องโหว่ที่ยังต้องได้รับการแก้ไขและดูแล เพราะเรื่องของสิทธิสตรีไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนได้เพียงคืนเดียว เป็นเรื่องที่ได้หารือกันมานานร่วมศตวรรษ แต่ที่สำคัญหากผู้หญิงได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับผู้ชายจะเป็นผลดี จะทำให้ทราบถึงสิทธิและความสามารถที่พึงมีที่เท่าเทียมกับผู้ชาย หากเปรียบเทียบระหว่างสองประเทศ ไม่ค่อยเห็นความแตกต่างกันมากนัก เพราะประเทศไทยก็ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาเพื่อสิทธิสตรี แต่อาจมีความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย อาทิ การมีผู้นำทางการทหารที่เป็นผู้หญิงซึ่งอาจยังเป็นเรื่องยาก แต่โดยภาพรวมสิทธิสตรีในไทยก็ยังเป็นด้านบวกแต่อาจน้อยกว่าในฝรั่งเศสที่มอบสิทธิให้เท่าเทียมกับผู้ชาย

สำหรับในบางประเทศที่มีการจำกัดสิทธิสตรี ท่านทูตวีโตให้ความคิดเห็นว่า ต้องทำให้ประเทศเหล่านั้นมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยน ยอมรับที่จะลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศกับสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิสตรี นอกจากนี้ต้องปฏิบัติตามและทำความเข้าใจว่าทั้งหญิงและชายมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักเกิดกับประเทศที่ผู้คนไม่ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ ดังนั้นควรมีความร่วมมือกันของรัฐบาลแต่ละประเทศให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา ที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญให้เกิดความเข้าใจ เรียนรู้ ตระหนักถึงบทบาทของตัวเองและเปิดพื้นที่ของสตรีในสังคมได้มากขึ้น.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 11 มีนาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”