คิดแบบมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี
ขณะที่ผมตั้งคำถามให้นักศึกษาได้ “คิด” นักศึกษาก็ร่วมวงถกเหตุผลกันในห้องอย่างสนุกสนาน ว่าจะทำอย่างไรให้เฟซบุ๊กเติบโตได้ในอนาคต ทำอย่างไรให้เฟซบุ๊กสามารถรักษาสถานะความยิ่งใหญ่ของตัวเองให้ได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า
เมื่อเดือนที่แล้วในคลาสเรียนที่ผมสอนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนองค์กรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผมได้ตั้งคำถามให้นักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติในภาควิชาของผมคิดว่า ถ้าคุณเป็นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก คุณจะขับเคลื่อนองค์กรเฟซบุ๊กไปในทิศทางไหนในอีก 1 ปีข้างหน้า ในอีก 5 ปีข้างหน้า และในอีก 10 ปีข้างหน้า
ขณะที่ผมตั้งคำถามให้นักศึกษาได้ “คิด” นักศึกษาก็ร่วมวงถกเหตุผลกันในห้องอย่างสนุกสนาน ว่าจะทำอย่างไรให้เฟซบุ๊กเติบโตได้ในอนาคต ทำอย่างไรให้เฟซบุ๊กสามารถรักษาสถานะความยิ่งใหญ่ของตัวเองให้ได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำอย่างไรให้เฟซบุ๊กสามารถบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ในสาขาอื่น ๆ ได้ หลังจากนักศึกษาร่วมวงถกกันเสร็จ ผมก็ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า คุณคิดว่าคุณจะให้เฟซบุ๊กลงมาเล่นเกี่ยวกับแอพแชต หรือพวกแอพพลิเคชั่นรับส่งข้อความสนทนาไหม? เป็นคำถามการบ้านฝากกลับไปให้นัก ศึกษาได้เก็บไปคิด เก็บไปวิเคราะห์ เก็บไปสังเคราะห์กับคำถามปลายเปิดของผม
ผ่านไปไม่ถึงอาทิตย์หลังจากที่ผมตั้งคำถามให้นักศึกษาได้คิด ในวันที่ 19 ก.พ. 2557 ก็มีรายงานข่าวใหญ่ของโลกเทคโนโลยีว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เข้าซื้อแอพแชต อย่าง วอทส์แอพพ์ (WhatsApp) ด้วยจำนวนเงินมหาศาลสูงถึง 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือนับเป็นเงินไทยอยู่ที่เกือบ 6 แสนล้านบาท หลังจากทราบข่าวผมยังมาคุยกับนักศึกษาในคลาสเรียน ว่าถ้ามีใครคิดได้ว่าควรเข้าซื้อแอพแชต หรือใครสามารถคิดได้ละเอียดเข้าไปถึงชื่อว่าควรเป็นวอทส์แอพพ์ นักศึกษาคนนั้นก็คงมีแนวโน้มสามารถเป็นอย่างซักเคอร์เบิร์กได้ในอนาคต อย่างน้อยที่สุดก็คงจะมีความเหมือนในมิติของการตัดสินใจในฐานะผู้นำองค์กรที่มีหน้าที่ต้องคอยดูแลขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าในอนาคต
อย่างไรก็ตามพูดถึงการเข้าซื้อวอทส์แอพพ์ของเฟซบุ๊ก คนไทยจำนวนไม่น้อยก็คงสงสัยว่าทำไมถึงเลือกทุ่มซื้อวอทส์แอพพ์ ทั้ง ๆ ที่ดูจากการใช้งานแอพแชตหลักของไทยแล้วไลน์ (Line) หรือวีแชต (WeChat) น่าซื้อมากกว่าซะด้วยซํ้า แต่ถ้าไปมองที่ตัวเลขจำนวนคนใช้งานจริง ๆ แล้วจะเห็นว่าแอพแชตอย่างไลน์และวีแชตยังเป็นที่นิยมอยู่แค่ในแถบเอเชียเท่านั้น ต่างจากวอทส์แอพพ์ที่ได้รับความนิยมมากในประเทศกลุ่มอเมริกา ยุโรป แอฟริกา รวมไปถึงอินเดียด้วย
ปัจจุบันมีผู้ใช้งานวอทส์แอพพ์กว่า 450 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละเดือน และมีผู้ใช้งานรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตรา 1 ล้านคนต่อวัน คอนเซปต์ของวอทส์แอพพ์ที่เป็นจุดขายเลยก็คือ ความเสถียร ความเรียบง่าย ไม่มีกิมมิคเช่น สติกเกอร์ โฆษณา เกม แอพเสริม รวมถึงร้านค้า ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ไลน์มุ่งเน้นอยู่ โดยปัจจุบันไลน์มีผู้ลงทะเบียนใช้งาน 350 ล้านคน และ 85% อยู่นอกประเทศญี่ปุ่น ส่วนวีแชตมีผู้ใช้งานอยู่ 272 ล้านคนต่อเดือน (ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน) ขณะที่ KakaoTalk มีผู้ลงทะเบียนใช้งาน 133 ล้านคน (ส่วนใหญ่อยู่ในเกาหลีใต้)
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เหตุ ผลที่ซักเคอร์เบิร์กอยากซื้อวอทส์แอพพ์คือ 1. เขาเชื่อว่าวอทส์แอพพ์จะมีผู้ใช้เกิน 1 พันล้านคนได้ในอนาคต 2. อัตราการใช้งานซ้ำของวอทส์แอพพ์มีตัวเลขที่ค่อนข้างสูง โดย 70% ของผู้ใช้เปิดวอทส์แอพพ์ทุกวัน ในขณะที่เฟซบุ๊กมีเพียง 62% เท่านั้น และ 3. เขาเชื่อว่าวอทส์แอพพ์สามารถพัฒนาต่อให้มีมูลค่าสูงได้พอ ๆ กับเฟซบุ๊กหรือยูทูบ ว่าง่าย ๆ ก็คือตัดสินใจซื้อเพื่อซื้อฐานลูกค้าเข้ามานั่นเอง โดยเชื่อว่าในอนาคตมันยังจะสามารถโตได้อีก รวมไปถึงต้องการรวบการสื่อสารแบบแชตตัวเด่นของโลกให้มาอยู่กับตัวเอง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การตัดสินใจของซักเคอร์เบิร์กจะถูกหรือผิด เฟซบุ๊กจะยังคงสถานภาพยักษ์ใหญ่ทางโซเชียลมีเดียได้อยู่หรือไม่ในอีก 10 ปีต่อจากนี้ หรือการซื้อกิจการผู้สร้างหุ่นโดรนจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือไม่ ณ วันนี้ คงจะยังไม่มีใครสามารถตอบได้ถูกต้อง 100% แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งเฟซบุ๊กเกิดต้องล้มลง ด้วยกลไกของโลกเสรีที่เปิดกว้างทางด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่าโลกเราก็จะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเข้ามาทดแทนอย่างต่อเนื่อง และคงจะดีไม่น้อยนะครับถ้าวันหนึ่ง ความ “คิด” ของนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านั้น สามารถมาจากฝีมือของเยาวชนคนไทยที่เป็นคนรุ่นใหม่ของพวกเราได้.
ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 12 มีนาคม 2557
คิดแบบมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี
-
- Posts: 7045
- Joined: 29 Mar 2013, 13:36