“เครือข่ายการศึกษาทางเลือก”วอนปลดล็อคโรงเรียนขนาดเล็ก

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

“เครือข่ายการศึกษาทางเลือก”วอนปลดล็อคโรงเรียนขนาดเล็ก

Post by brid.ladawan »

“เครือข่ายการศึกษาทางเลือก”วอนปลดล็อคโรงเรียนขนาดเล็ก

“เครือข่ายการศึกษาทางเลือก”วอนปลดล็อคโรงเรียนขนาดเล็ก คืนโรงเรียนให้ชุมชน เน้นต้องการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้ท้องถิ่นดูแล

วันนี้ (15 มี.ค.) นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก เปิดเผยว่า จากการประชุมระดมความเห็นเพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( สพฐ.) และโรงเรียนของชุมชน เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรให้มีการปลดล็อคปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และกระจายอำนาจทางการศึกษาคืนโรงเรียนให้แก่ชุมชน โดยต้องการให้มีการปฏิรูปการกระจายอำนาจ แยกการเมืองออกจากการศึกษา ปฏิรูปอำนาจการจัดการศึกษาที่ส่วนกลาง ด้วยการลดขนาดส่วนกลาง เช่น สพฐ.ให้เล็กลงและกระจายบุคลากร กระจายงบประมาณลงไปยังโรงเรียนต่างๆ ให้ชุมชนสามารถเป็นผู้จัดการศึกษาได้ ด้วยการระดมทรัพยากรภายในชุมชนและท้องถิ่นเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนรู้ พร้อมการปฏิรูปกระบวนทัศน์ทางการศึกษา ให้ทุกคนมีส่วนร่วมทางการศึกษา

นายชัชวาลย์ กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นให้จัดทำข้อตกลงระหว่างผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาร่วมกัน และมีการจัดทำคู่มือผู้ปกครองว่าจะมีบทบาทหน้าที่เชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง และระยะยาวให้มีการเชื่อมร้อยเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กให้มีกิจกรรมที่จะสร้างความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องด้วยการจัดเวทีสมัชชาประจำปี สื่อสารกับสังคมอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการศึกษาใหม่ที่เชื่อมั่นในการเรียนรู้ที่หลากหลายตลอดชีวิต รวมถึงการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ตัวชี้วัด ประเมินผล ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน ด้วยการจัดทำหลักสูตรที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เชื่อมร้อยชุมชน ผู้ปกครอง ศาสนสถาน และบุคลากรส่วนต่างๆ โดยต้องเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับท้องถิ่น สอดคล้องกับเด็กนักเรียนรายบุคคล ไม่ใช่หลักสูตรเดียวสอนทั่วประเทศตั้งแต่ยอดดอยจรดท้องทะเล เพราะบริบทต่าง เงื่อนไขต่าง การจัดการเรียนรู้ย่อมต่างกัน

" ที่ประชุมอยากให้มีการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษา ซึ่งจะต้องจัดสรรให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ยกเลิกการจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว ให้เป็นการอุดหนุนงบประมาณภาคครัวเรือนแทน เพื่อให้มีงบประมาณที่เพียงพอสอดคล้องต่อบริบทพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งมีการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากทุกภาคส่วน เช่น ให้โอกาสเอกชนเข้ามาสนับสนุนโรงเรียนมากขึ้น อย่างไรก็ตามเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนชุมชนได้ก่อตัวขึ้นมาจากสถานการณ์ปัญหานโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่ละเลยต่อการให้ความสำคัญอย่างชุมชน ทั้งๆ ที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นพื้นฐานเป็นรากของชีวิต ดังนั้นจึงอยากให้หยุดพรากเด็กจากชุมชน ถึงเวลาปฏิรูปการศึกษา ด้วยการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาให้ชุมชนและท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง" นายชัชวาลย์ กล่าว

ที่มา เดลินิวส์
วันที่15 มีนาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”