อาชีวะคู่ขนานไทย-เวียดนามจุดเริ่มต้นสร้างกำลังคนป้อนตลาดอาเซ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

อาชีวะคู่ขนานไทย-เวียดนามจุดเริ่มต้นสร้างกำลังคนป้อนตลาดอาเซ

Post by brid.ladawan »

อาชีวะคู่ขนานไทย-เวียดนามจุดเริ่มต้นสร้างกำลังคนป้อนตลาดอาเซียน

สำหรับรูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร ปวช.คู่ขนานไทย-เวียดนาม จะใช้เวลาเรียน 3 ปี และเรียนเป็นภาษาอังกฤษ รับนักศึกษาเข้าโครงการประเทศละ 10 คน รวม 20 คน ปีที่ 1 เรียนในประเทศตนเอง

ปัง !!! เสียงประทัด เสียงกลอง ดังกึกก้อง พร้อม ๆ กับการเชิดสิงโต เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงฤกษ์งามยามดี ในการเปิด “ศูนย์อาชีวศึกษาเวียดนาม-ไทย” ที่ วิทยาลัยอุตสาหกรรมเว้ ในเมืองเว้ เมืองหลวงแห่งสุดท้ายในระบบการปกครองแบบกษัตริย์ ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) นายอกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการ กอศ. พร้อมด้วย นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และคณะ เป็นตัวแทนฝ่ายไทยร่วมในพิธีเปิด

ศูนย์อาชีวศึกษาเวียดนาม-ไทย แห่งนี้ เป็น 1 ใน 2 ศูนย์ ที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยอีกศูนย์ตั้งอยู่ในโรงเรียนอาชีวศึกษากวางตรี จังหวัดกวางตรี ประเทศเวียดนาม เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยก็มีการจัดตั้ง “ศูนย์อาชีวศึกษาไทย-เวียดนาม” ที่วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ทุกศูนย์ฯมีภารกิจหลักในการทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา ที่ทั้ง 2 ประเทศ จะร่วมกันจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) คู่ขนานเวียดนาม-ไทย ที่ร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพกำลังคนด้านอาชีวศึกษาที่มีสมรรถนะ ทำงานได้และได้ผลตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ เข้าสู่ตลาดงานในอาเซียน ตลอดจนเป็นศูนย์พัฒนาวิชาชีพระยะสั้น และสอนภาษาไทย-ภาษาเวียดนาม ให้นักศึกษา ครู และประชาชนได้เรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมระหว่างกัน

การจัดการเรียนการสอนหลักสูตร ปวช. คู่ขนานเวียดนามและไทย นั้น จะเริ่มในปีการศึกษา 2557 นี้ โดยเป็นการจัดการเรียนการสอนร่วมระหว่างวิทยาลัยสังกัด สอศ.ในสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 กับ โรงเรียนอาชีวศึกษากวางตรี และวิทยาลัยอุตสาหกรรมเว้ ซึ่งความร่วมมือกับโรงเรียนอาชีวศึกษากวางตรี จะเป็นการจัดการเรียนการสอน ปวช.สาขา

ช่างยนต์ และจะขยายความร่วมมือนี้ไปยังวิทยาลัยเทคนิคและวิชาชีพ แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ส่วนความร่วมมือกับวิทยาลัยอุตสาหกรรมเว้ จะเป็นการสอนระดับ ปวช.สาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ไอที และการท่องเที่ยว

สำหรับรูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร ปวช.คู่ขนานไทย-เวียดนาม จะใช้เวลาเรียน 3 ปี และเรียนเป็นภาษาอังกฤษ รับนักศึกษาเข้าโครงการประเทศละ 10 คน รวม 20 คน ปีที่ 1 เรียนในประเทศตนเอง เน้นสมรรถนะเรื่องภาษา ศิลปวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต โดยมีการแลกเปลี่ยนครูกัน เพื่อให้เด็กไทยเรียนรู้เรื่องเวียดนาม เด็กเวียดนามเรียนรู้เรื่องไทย ปีที่ 2 นำนักศึกษาไทยมาเรียนที่เวียดนามเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพร่วมกับนักศึกษาเวียดนาม และ ปีที่ 3 นักศึกษาทั้ง 2 ประเทศ มาเรียนที่ไทยในระบบทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการในไทย โดยมีรายได้ระหว่างเรียนและประกันการมีงานทำทุกคน หากเด็กเวียดนามสนใจจะทำงานในไทย หรือกลับไปทำงานในบริษัทไทยที่อยู่ประเทศเวียดนาม แต่หากสนใจเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ก็จะประสานให้เรียนต่อในระบบทวิภาคี และสามารถเรียนต่อยอดได้จนถึงระดับปริญญาตรีที่สถาบันการอาชีวศึกษา

ในพิธีเปิดศูนย์ฯ ทั้ง 2 แห่ง นักศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร ได้โชว์รูปแบบการให้บริการของ “ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ ฟิก อิท เซ็นเตอร์ (Fix It Center)” โดยเปิดให้บริการซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร่วมกับนักศึกษาของวิทยาลัยอุตสาหกรรมเว้ และโรงเรียนอาชีวศึกษากวางตรี รวมถึงสอนทำอาหารและขนมไทย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักศึกษาเวียดนามเป็นอย่างดี มีผู้นำรถมอเตอร์ไซค์มาเข้าคิวรอซ่อมเป็นจำนวนมาก สมกับเป็นประเทศแห่งมอเตอร์ไซค์ ที่ประชาชนทั้งประเทศ ประมาณ 90 ล้านคน มีการใช้มอเตอร์ไซค์ มากกว่า 60 ล้านคัน ซึ่ง ดร.ชัยพฤกษ์ บอกว่า การนำฟิก อิท เซ็นเตอร์ ของเด็กอาชีวะไทยมาสาธิตให้บริการที่เวียดนาม ถือเป็นการแลกเปลี่ยนการเรียนการสอน และนำเสนอให้เห็นว่าเด็กอาชีวะไทยได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในพื้นที่จริง ตามพื้นที่ต่าง ๆ และกระจายไปในทุกตำบลทั่วประเทศ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้บริหารสถานศึกษาของเวียดนามเป็นอย่างมาก

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมครั้งนี้ ต่อยอดมาจาก “โครงการเตรียมความพร้อมการผลิตกำลังคนสู่การเป็นประชาคมอาเซียน” ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตั้งเป้าหมายให้ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว และเวียดนาม จับมือกันผลิตเด็กอาชีวศึกษา ที่สามารถไปทำงานได้ในทุกประเทศ ซึ่งการเดินทางเยือนประเทศเวียดนาม ครั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการของไทย ยังได้หารือกับ ศ.ดร.ฟาม วู ลวน รมว.ศึกษาธิการและการอบรมเวียดนามด้วย

โดย นายจาตุรนต์ บอกว่า ไทยและเวียดนามกำลังมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมีการลงทุนจากต่างประเทศสูง ซึ่งนักลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก ก็เป็นนักลงทุนกลุ่มเดียวกับที่มาลงทุนในประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น และเวียดนามก็มีสภาพปัญหาคล้ายคลึงกับไทย คือ ขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคหรือมีทักษะฝีมือ คนเวียดนามนิยมเรียนสายอาชีวศึกษาน้อย ขณะที่สถานประกอบการที่มาลงทุนในประเทศต้องการบุคลากรด้านนี้มาก ดังนั้น หลังจากนี้จะมีการยกระดับความร่วมมือจากระดับสถานศึกษากับสถานศึกษา เป็น ระดับสำนักงานกับสำนักงาน และระดับประเทศกับประเทศ

ความร่วมมือจัดอาชีว ศึกษากับเวียดนาม ประเทศที่ได้รับฉายาว่าเป็นเสือซุ่มแห่งอาเซียน และกำลังมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดนี้ นายพงษ์เดช ในฐานะนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และรองประธานกรรมการบริหารสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่า ทั้ง 2 ประเทศจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ไม่ต้องกังวลว่าแรงงานทักษะฝีมือรุ่นใหม่จากเวียดนามจะเข้ามาแย่งงานคนไทย เพราะตั้งแต่บัดนี้ถึงปี 2560 ความต้องการแรงงานของประเทศไทยใน 14 กลุ่มอุตสาหกรรม มีมากกว่า 6.8 แสนคน และยังคาดการณ์ว่าเมื่อประตูอาเซียนเปิดในปี 2558 จากนั้นไม่เกิน 7-10 ปี จะมีแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีทักษะฝีมือ พูดภาษาไทยไม่ได้เข้ามาทำงานในไทย ประมาณ 3 ล้านคน แต่เมื่อมีระบบอาชีวศึกษาคู่ขนานไทยกับประเทศในอาเซียนแล้ว เราก็จะได้แรงงานที่มีทักษะฝีมือ มีสมรรถนะตรงตามความต้องการ และสื่อสารกับเราได้เข้ามาแทนที่

ได้ยินแบบนี้…ความร่วมมือจัดอาชีวศึกษาคู่ขนานไทย-เวียดนาม ก็ถือเป็นการตอบโจทย์ของประเทศไทยได้อีกอย่างหนึ่ง.

ที่มา เดลินิวสื
วันที่ 21 มีนาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”