รักษาเอดส์ไม่สน CD4 ใช้งบ 1.2 หมื่นล. เสี่ยงไม่บรรจุชุดสิทธิ

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

รักษาเอดส์ไม่สน CD4 ใช้งบ 1.2 หมื่นล. เสี่ยงไม่บรรจุชุดสิทธิ

Post by brid.siriwan »

รักษาเอดส์ไม่สน CD4 ใช้งบ 1.2 หมื่นล. เสี่ยงไม่บรรจุชุดสิทธิประโยชน์

ผลวิจัย HITAP ชี้ต้นทุนการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีแบบไม่คำนึงค่า CD4 ใช้งบ 12,000 ล้านบาทในเวลา 10 ปี จึงคุ้มทุน สูงกว่าที่ คกก.เอดส์ชาติประมาณการณ์ไว้ถึง 4 เท่า สุ่มเสี่ยงไม่ผ่านบรรจุชุดสิทธิประโยชน์ สปสช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้นำเสนองานวิจัยเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่/วัยทำงาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยที่นำเสนอมีเรื่องของนโยบายการขยายการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับยาต้านไวรัสโดยไม่คำนึงถึงค่าระดับภูมิต้านทาน (CD4) ว่าหากดำเนินงานตามนี้ จะมีความคุ้มค่า คุ้มทุนทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเป็นภาระต่องบประมาณหรือไม่

รักษาเอดส์ไม่สน CD4 ใช้งบ 1.2 หมื่นล. เสี่ยงไม่บรรจุชุดสิทธิประโยชน์
นพ.สรกิจ ภาคีชีพ ผอ.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 เชียงใหม่ ในฐานะอดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยวัณโรค สปสช. ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงความเห็นด้วยนั้น เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการเอดส์ชาติ มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2557-2559 ซึ่งมีมาตรการยุติปัญหาเอดส์ ด้วยการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี และให้การรักษาแต่เนิ่นๆ โดยไม่คำนึงถึงค่าระดับ CD4 โดยประมาณการต้นทุนว่าต้องใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ในช่วงเวลา 10 ปี จึงมีความคุ้มทุน เพราะจะช่วยลดจำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเพิ่มผลิตภาพในการทำงานได้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้มาจากคณะทำงานวิชาการเป็นผู้ประเมิน

นพ.สรกิจ กล่าวอีกว่า แต่จากผลการวิจัยของ HITAP พบว่าการประมาณการต้นทุนดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก โดยต้นทุนจริงๆ ที่ต้องใช้คือ 12,000 ล้านบาท ในเวลา 10 ปี จึงมีความคุ้มทุน ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ถึง 4 เท่า คงต้องมาลุ้นว่าคณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ สปสช.จะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งจะพิจารณาจากความคุ้มทุน คุ้มค่าเป็นหลัก ซึ่งในความคิดตน หากคณะอนุฯ ใช้ตัวเลขจากทาง HITAP โอกาสเห็นชอบเรื่องนี้อาจน้อยลง อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่คุ้มทุนแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำ อย่างกรณีสิทธิประโยชน์ฟอกไต ผลวิจัยก็ออกมาว่าไม่มีความคุ้มทุน แต่ สปสช.ก็ดำเนินการ เพราะเห็นว่าคนที่เป็นไตวายแล้วการรักษาจะทำให้สิ้นเนื้อประดาตัวทั้งครอบครัว ซึ่งเป็นเหตุผลนอกเหนือจากความคุ้มทุน

"อย่างกรณีการล้างไตฟอกไต ผู้ป่วยแทบไม่มีโอกาสการทำงาน ผลวิจัยจึงไม่คุ้มค่าและคุ้มทุน แต่ผู้ป่วยเอดส์หากรับยาต้านไวรัสยังสามารถทำงานได้ สามารถเพิ่มผลิตภาพในการทำงาน ก็ต้องมาดูว่าคณะอนุฯจะชั่งน้ำหนักเรื่องใดสำคัญมากกว่ากัน" นพ.สรกิจ กล่าว

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 1 กรกฎาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”