กสทช.เตรียมเสนอ คสช.แก้ พ.ร.บ.กสทช. เพื่อไม่ต้องใช้วิธีประมู

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

กสทช.เตรียมเสนอ คสช.แก้ พ.ร.บ.กสทช. เพื่อไม่ต้องใช้วิธีประมู

Post by brid.siriwan »

กสทช.เตรียมเสนอ คสช.แก้ พ.ร.บ.กสทช. เพื่อไม่ต้องใช้วิธีประมูลในการจัดสรรความถี่อย่างเดียว

กสทช.เตรียมชง คสช.แก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ปี 2553 มาตรา 45 เรื่องการจัดสรรความถี่ต้องใช้วิธีประมูลเท่านั้น หลังเกิดปัญหาตามมามากโดยเฉพาะหลังจากประมูลความถี่ 2.1 GHz ที่ถูกสังคมเข้าใจผิดเรื่องความโปร่งใส โดยถูกตั้งคำถาม และถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน ชี้เป็นงานเร่งด่วนเพราะต้องจัดสรรความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ด้าน “กสทช.สุทธิพล” เปรยวิธีประกวดราคาน่าจะเหมาะสมต่อประเทศไทย แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คสช.

นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายในงานสัมมนาทางวิชาการ Allocation of Spectrum - Does one size fit all? ว่า วัตถุประสงค์การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้เพื่อต้องการหาคำตอบว่าวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ใดที่เหมาะสมต่อประเทศไทยมากที่สุด โดยต้องมองถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับสูงสุด

และไม่มุ่งหวังเพียงแต่รายได้สูงสุดจากการจัดสรรคลื่นความถี่เท่านั้น เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในภายหลัง ซึ่งในตอนนี้เบื้องต้นได้มีการหารือในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย กสทช. และคณะอนุกรรรมการบูรณาการ และปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคมที่จะพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ที่กำหนดให้การจัดสรรคลื่นโดยใช้วิธีประมูลคลื่นความถี่เพื่อหาผู้ชนะจากการเสนอราคาสูงสุดจากราคาตั้งต้นที่กำหนดไว้เท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาหลายฝ่ายตั้งคำถามมาโดยตลอดว่าวิธีดังกล่าวเหมาะสมต่อบริบทของอุตสาหกรรมไทยหรือไม่

ทั้งนี้ จึงมีแนวคิดที่จะเสนอให้การจัดสรรคลื่นไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในรูปแบบการประมูลเท่านั้น แต่ควรจะเปลี่ยนเป็นการแข่งกันเสนอผลประโยชน์ (บิวตี้ คอนเทสต์) ซึ่งมีการตั้งราคาของคลื่นที่ต้องการขาย และให้ผู้ที่สนใจจะรับการจัดสรรเสนอผลประโยชน์แข่งขันว่าจะให้อะไรแก่ผู้บริโภค เช่น ความครอบคลุม ราคา การให้บริการ บริการเสริม และสิทธิประโยชน์อื่นๆ รวมไปถึงการจัดสรรด้วยวิธีการอื่นๆ ที่คิดว่าเหมาะสมด้วย

“ผมไม่ได้พูดว่าจะเสนอให้จัดสรรคลื่นด้วยวิธีการ บิวตี้ คอนเทสต์ แทนการประมูล แต่ต้องการเสนอให้ปลดล็อกข้อกฎหมายดังกล่าวว่าไม่ให้จำกัดว่าการได้รับคลื่นต้องมาจากการประมูลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในความเห็นส่วนตัวหากถามว่าอะไรดีต่อประเทศในสภาวะอย่างนี้ ก็คือ การเสนอผลประโยชน์ หรือบิวตี้ คอนเทสต์ ซึ่งหากคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายสรุปรายละเอียดทุกอย่างจบแล้ว ก็จะเสนอเข้าบอร์ดคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) และบอร์ด กสทช. จากนั้นจะเสนอไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เพื่อพิจารณาต่อไป'

สำหรับปกติกระบวนการแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเป็นเวลานาน แต่ในตอนนี้ประเทศไทยมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารงานอยู่ ดังนั้น หากคสช.พิจารณาในประเด็นดังกล่าวแล้วเห็นด้วย และออกเป็นคำสั่ง หรือออกประกาศเฉพาะขึ้นมาก็จะส่งผลทำให้สามารถแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวได้ทันที

โดยเบื้องต้น แนวทางการแก้ไขข้อกฎหมายของ กสทช. มองว่าแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1เรื่องเร่งด่วนที่ต้องการดำเนินการในทันทีหาก คสช.เห็นชอบซึ่งมี 2 เรื่อง คือ 1.การแก้ไขวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่กฎหมายกำหนดให้จัดสรรด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น โดยตอนนี้มีคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900MHz ที่มีกำหนดต้องนำมาจัดสรร 2.เรื่องการนำเงินรายได้จากการประมูลที่เกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เข้าเป็นเงินของแผ่นดินเช่นเดียวกับที่ทางฝั่ง กทค. ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ระยะที่ 2 เร่งรีบเสนอการแก้ไขกฎหมายในวงกว้าง และ 3.เรื่องรอได้ ก็มีการแก้ไขกฎหมายทั้งระบบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ กสทช.ตลอดเวลาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถรอให้เกิดการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเปิดสภาเพื่อลงมติในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาการทำงาน 3 ปี ของ กสทช.มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และไม่เห็นด้วยในข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีที่ กสทช.เปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHz หรือ 3G เมื่อปี 2555 ซึ่งแม้จะประสบความสำเร็จในระดับสากล แต่ต้องยอมรับว่า ในประเทศไทยเองคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ต้องตอบคำถามสังคม กรรมาธิการวุฒิสภา หรือแม้แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งก็มีข้อครหาเกี่ยวกับราคาสุดท้ายที่ กสทช.ได้รับจากการประมูลว่าไม่สูงขึ้นเท่าไรหนัก เพราะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูลเพียง 3 รายเท่านั้น ดังนั้น การเปลี่ยนรูปแบบการประมูลน่าจะเป็นทางแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้

Company Relate Link :
กสทช.

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 9 กรกฎาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”