เมื่อพริกสดราคาตก...กับวิธีการแก้ปัญหา - บอกกล่าวเล่าขาน

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

เมื่อพริกสดราคาตก...กับวิธีการแก้ปัญหา - บอกกล่าวเล่าขาน

Post by brid.siriwan »

เมื่อพริกสดราคาตก...กับวิธีการแก้ปัญหา - บอกกล่าวเล่าขาน

จากปัญหาพริกสดเขียวที่จังหวัดนครศรีธรรมราชราคาตกต่ำมากตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยขายได้เพียงกิโลกรัมละ 8 บาท จากปีที่แล้วกิโลกรัมละ 40 บาท

จากปัญหาพริกสดเขียวที่จังหวัดนครศรีธรรมราชราคาตกต่ำมากตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยขายได้เพียงกิโลกรัมละ 8 บาท จากปีที่แล้วกิโลกรัมละ 40 บาท ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะค่าจ้างแรงงานเก็บพริกกิโลกรัมละ 7 บาทแล้ว ซึ่งนายณรงค์ คงมาก นักวิจัยในพื้นที่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการหาช่องทางในการส่งออกพริกไปประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ราคาพริกสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 14 บาท จึงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้บ้าง แต่จำเป็นต้องหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาพริกสดเขียวราคาตกต่ำให้ได้

ล่าสุด อ.วีระ ภาคอุทัย หัวหน้าโครง การวิจัย “การพัฒนาระบบการตัดสินใจ และการจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัย จังหวัดแพร่ น่าน และชัยภูมิ” ของ สกว. เปิดเผยว่า ตนและ ดร.เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เดินทางลงพื้นที่โดยการประสานงานจากสภาเกษตรกร นครศรีธรรมราช ซึ่งจากการศึกษาชนบทแบบเร่งด่วน พบว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการปลูกพริกมากในเขตอำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอปากพนัง รวมประมาณ 7,000 ไร่ สภาพที่ดินมีความอุดมสมบรูณ์ น้ำจะท่วมหลากพื้นที่ประมาณเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เกษตรกรเริ่มปลูกพริกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และเริ่มเก็บพริกเขียวตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน หลังการปลูกประมาณ 65-70 วัน โดยไม่ต้องรอเก็บพริกแดง ทั้งนี้พันธุ์พริกที่เกษตรกรส่วนมากนิยมปลูก คือ พันธุ์ลูกผสมหรือที่เกษตรกรเรียกว่า “พริกรูด” เนื่องจากเก็บเกี่ยวหรือเด็ดง่าย และสามารถหาซื้อพันธุ์ได้ในท้องตลาด

นอกจากปัญหาราคาตกต่ำแล้ว เกษตรกรยังประสบปัญหาโรคพริกที่เกิดจาก เชื้อราและแบคทีเรีย เช่น โรคกุ้งแห้ง โรคยอดไหม้ โรคโคนเน่า และอาการใบพริกเหลือง ต้นพริกเหี่ยวแห้งยืนต้นตาย เนื่องจากมีฝนตกเกือบทุกวัน และเกษตรกรปลูกพริกแบบสภาพพริกไร่ คือ หลังจากไถเตรียมดินแล้วก็ขุดหลุมปลูก ไม่ขึ้นแปลง ระยะปลูกชิดกัน ไม่มีการแต่งกิ่งแขนงใต้ง่ามแรก เมื่อพริกเจริญเติบโต กิ่ง ก้าน ใบพริก ระหว่างต้น จึงซ้อนทับกันแน่นทำให้ลมพัดผ่านไม่สะดวก แสงแดดส่องไม่ถึงโคนต้น เกษตรกรไม่เก็บพริกที่เป็นโรคหรือแมลงออกไปเผาทำลาย ทำให้การแพร่กระจายของโรคและแมลงได้รวดเร็ว เป็นต้น

ด้านการตลาดพริกเขียวมีตลาดหลัก คือ มาเลเซีย จากการสอบถามแม่ค้าหรือผู้ส่งออกพริกรายใหญ่ที่ตลาดกลางขายส่งผักและผลไม้ตลาดหัวอิฐ อำเภอเมือง ปรากฏว่ามีปริมาณพริกสดส่งออกมากถึงประมาณปีละ 1.8-2 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่าปีละ 450-600 ล้านบาท โดยส่งออกเกือบทุกวัน ๆ ละประมาณ 60 ตัน พริกส่วนมากมาจากทั่วทั้งประเทศ โดยพริกที่ส่งออกไปยังมาเลเซียมีหลายประเภท ได้แก่ พริกขี้หนูสวน เช่น พริกแด้หอมหรือพริกขี้หนูหอมจากเชียงใหม่ ตาก และตราด เป็นต้น พริกขี้หนูผลใหญ่ เช่น พริกเขียวและพริกแดงพันธุ์ลูกผสม จากศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ และลพบุรี เป็นต้น พริกใหญ่หรือพริกชี้ฟ้าหรือพริกยำ พริกยำเขียว พริกยำแดง จากแพร่ น่าน เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย และหนองคาย เป็นต้น ปัญหาที่สำคัญในการส่งออก คือ คุณภาพของพริกไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยเฉพาะพริกขี้หนูผลใหญ่และพริกแดงสู้พริกที่มาจากประเทศเวียดนามไม่ได้ เพราะขนาดผลเล็กกว่าเก็บได้นานเป็นเดือน แต่พริกสดของไทยเก็บได้ไม่เกิน 10 วัน

สำหรับปัญหาราคาพริกตกต่ำนั้นเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ปีนี้ทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชและเกือบทุกจังหวัด มีพื้นที่ปลูกพริกเพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจาก ปีที่ผ่านมาเกษตรกรขายพริกได้ราคาสูง และพริกจากแหล่งที่ผลิตพริกสดพันธุ์ลูกผสมเพื่อการค้าที่สำคัญของประเทศออกผลผลิตในช่วงเดียวกัน คือพริกสดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ ปกติจะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม ต่อจากนั้นพริกจากชัยภูมิโดยเฉพาะอำเภอเกษตรสมบูรณ์จะออกสู่ตลาดตั้งแต่ เดือนมีนาคม-มิถุนายน แต่ปีนี้บางอำเภอของศรีสะเกษมีการปรับช่วงปลูกพริกช้าลง เพราะฝนตกหนักช่วงเดือนธันวาคม ทำให้ช่วงเก็บเกี่ยวล่าช้าออกไป 1-2 เดือน ส่งผลให้พริกจากทั้งสามจังหวัดออกสู่ตลาดมากในช่วงเดียวกันคือเมษายน-พฤษภาคม ราคาพริกเขียวและพริกแดงของไทยจึงตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่เคยเกิดซ้ำมาแล้วหลายครั้ง

“พริกจึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการขาดการประสานข้อมูลระดับพื้นที่ ในการนำข้อมูลมาประกอบการวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาพริกล้นตลาด และราคาตกต่ำ อีกทั้งสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ ดังนั้นเกษตรกรจึงควรรู้จักการเรียนรู้ที่จะปรับวิธีคิดจากการทำการเกษตรในปัจจุบันให้เป็น การทำธุรกิจการเกษตร โดยศึกษาหาความรู้ใหม่ที่เหมาะสม และข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะทำการผลิต ทั้งข้อมูลการผลิต การตลาด คุณภาพมาตรฐานสินค้า กฎระเบียบทางการค้า ความเคลื่อนไหวของราคา การแข่งขัน การกีดกันทางการค้า การจัดการกลุ่มเกษตรกร การประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากราคาและภัยทางธรรมชาติ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558” อ.วีระ กล่าวสรุป.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 14 กรกฎาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”