10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองปี 2557

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองปี 2557

Post by brid.siriwan »

10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองปี 2557

ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 สำหรับการนำเสนอ “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ” ในงาน “นาสด้า อินเวสเตอร์เดย์” ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 สำหรับการนำเสนอ “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ” ในงาน “นาสด้า อินเวสเตอร์เดย์” ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ซึ่งปีนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำมาจัดร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ และเครือข่ายพันธมิตร ในงาน “IP INNOVATION AND TECHNOLOGY EXPO 2014” หรือไอพีไอเท็กซ์ 2014 งานแรกของไทยที่บูรณาการรวมสุดยอดนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยจากหน่วยงานต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน

“ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล” ผู้อำนวยการ สวทช. บอกถึงการนำเสนอ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองว่า หลายเทคโนโลยีที่เคยกล่าวไว้ในปีก่อน ๆ วันนี้หลายอย่างเริ่มเห็นว่าเป็นจริงได้เร็วกว่าที่คิด อย่างเช่น ทีดีพรินเตอร์หรือเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ขณะนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย มีทั้งเครื่องขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ที่พิมพ์ออกมาสร้างเป็นบ้านได้เป็นหลัง ๆ หรือแม้กระทั่งการพิมพ์อวัยวะด้วยหมึกที่ทำจากเซลล์และของเหลวที่อยู่กับเซลล์ได้ ก็ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา

ขณะเดียวกันรากฐานของวิทยาการหลัก ๆ ที่เราถือว่ามั่นคงแล้ว มีหลายเรื่องที่ทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าทึ่งได้ อย่างเช่น วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่เก่งขึ้นสองเท่าทุกสองปี ฮาร์ดดิสก์ที่ทุกสิบปีจะมีความจุเพิ่มขึ้นกว่า 200 เท่าตัว การคำนวณที่เร็วขึ้นมหาศาล อินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น รวมถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้น

สำหรับ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจในปีนี้ ดร.ทวีศักดิ์ บอกว่า ลำดับที่ 1 คือเทคโนโลยี อาร์เอ็นเอไอ เธอราปี หรือการแทรกแซงด้วยอาร์เอ็นเอ ซึ่งวิธีการใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังวิจัยกันอยู่ เพื่อให้สามารถเข้าไปขัดขวางการทำงานของเซลล์เป้าหมาย เช่น เซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตไม่ได้ แบ่งตัวก็ไม่ได้ และตายไปในที่สุด โดยไม่กระทบกระเทือนกับเซลล์ปกติที่อยู่รอบ ๆ ขณะนี้มีการทดสอบยาแบบอาร์เอ็นเอไอ ระดับคลินิกในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับแล้ว และในระดับห้องปฏิบัติการก็ยังมีผู้ทดสอบในอีกหลายโรค

ส่วนลำดับที่ 2 คือ เทคโนโลยีดีเอ็นเอ โรบอท หรือดีเอ็นเอที่ออกแบบพิเศษ สามารถประกอบร่างตัวเองจนได้รูปร่างและโครงสร้างพิเศษ ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้เป็นพาหะหรือตัวกลาง เพื่อนำยาหรือสารบางอย่างไปที่เซลล์เป้าหมายได้ ปัจจุบันในต่างประเทศอยู่ระหว่างพัฒนา ดีเอ็นเอ โรบอท ในรูปแบบต่าง ๆ

ลำดับที่ 3 คือ ซินทีติก ไบโอโลจี เป็นศาสตร์ใหม่ที่ผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับวิศวกรรม เน้นการออกแบบและสร้างสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีในธรรมชาติ ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะสร้างเป็นจุลินทรีย์ ที่มีคุณสมบัติผลิตสารสำคัญที่มูลค่าสูงจนคุ้มค่ากับการลงทุน

ลำดับที่ 4 คือ สมาร์ท พอลิเมอร์ หรือพอลิเมอร์ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ภายนอกได้ อาทิ แสง ความร้อน สารเคมี หรือสนามแม่เหล็ก โดยการตอบสนองนั้น ๆ ทำให้พอลิเมอร์มีการเปลี่ยนแปลง เช่น รูปร่าง อุณหภูมิ หรือสี คุณสมบัติแบบนี้ในระดับสุดยอด ก็คงไม่ต่างจากในภาพยนตร์ที่แม้หุ่นยนต์โดนยิง ก็ยังซ่อมแซมตัวเองได้

ลำดับที่ 5 คือ ไลต์เวต คอมโพไซต์ หรือ คอมโพสิตน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงเท่ากับเหล็ก มีความสำคัญมากกับอุตสาหกรรมยานยนต์และภาคการขนส่ง ช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

ส่วนลำดับที่ 6 คือ ซี วอเตอร์ ไมน์นิ่ง เป็นการสกัดแร่ธาตุและโลหะหายากที่มีค่าออกมาจากน้ำทะเล ไม่ว่าจะเป็น ลิเทียม แบเรียม โมลิบดีนัม นิเกิล และแร่ยูเรเนียม ซึ่งเป็นแร่มูลค่าสูงที่ต้องการในตลาด

ลำดับที่ 7 คือ โอแอลอีดี หรือไดโอดเปล่งแสงจากสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานแสง โดยนำไปใช้งานได้ในสองรูปแบบใหญ่ ๆ คือ ใช้เป็นจอแสดงผล และใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสง

ลำดับที่ 8 คือ เทคโนโลยีแอลอีดี ซึ่งจะมาแทนฟลูออเรสเซนต์ได้ เนื่องจากประหยัดพลังงานมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะสะท้อนสีจริงของวัตถุตามธรรมชาติดีขึ้น

เรื่อย ๆ

ลำดับที่ 9 คือ ค็อกนิทีฟ คอมพิวติ้งคอมพิวเตอร์ที่เข้าใจ และเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ ตลอดจนคิดและตัดสินใจได้เอง โดยอาศัยวิธีการเรียนรู้แบบเดียวกับสมองมนุษย์

และลำดับที่ 10 คือ บิ๊กดาต้า อนาลิติก แพลตฟอร์ม ปัจจุบันมี บิ๊กดาต้า หรือข้อมูลขนาดใหญ่มาก ๆ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหลายวงการทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลการตลาดที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดีย ข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ข้อมูลจราจร และข้อมูลการพยากรณ์อากาศ

เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า ซึ่งมีการวิเคราะห์ขั้นสูงจะมีประโยชน์ ทั้งด้านการค้า และการวางแผนสำหรับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การสาธารณสุข หรือแม้แต่ด้านความมั่นคงของประเทศ

ปีหน้าเรามาดูกันว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ เทคโนโลยีไหนมาแรง!!!.

นาตยา คชินทร

nattayap.k@gmail.com

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 21 ก.ค 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”