ถั่วเวลเวท’ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่...สมุนไพรเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

ถั่วเวลเวท’ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่...สมุนไพรเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

Post by brid.siriwan »

‘ถั่วเวลเวท’ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่...สมุนไพรเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ - เกษตรทั่วไทย

ถ้าพูดถึงถั่วเวลเวท (Velvet bean) คนทั่วโลกรู้จักแต่คนไทยหลายคนอาจจะไม่รู้จักแต่ถ้าบอกว่า “หมามุ่ย” จะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะ ในสมัยเด็กหลายคนคงมีโอกาสได้ใช้ฝักของหมามุ่ย

ถ้าพูดถึงถั่วเวลเวท (Velvet bean) คนทั่วโลกรู้จักแต่คนไทยหลายคนอาจจะไม่รู้จักแต่ถ้าบอกว่า “หมามุ่ย” จะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะ ในสมัยเด็กหลายคนคงมีโอกาสได้ใช้ฝักของหมามุ่ยในการแกล้งเพื่อนบ้าง ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็คงไม่มีใครอยากเข้าใกล้ เพราะหากสัมผัสฝักของหมามุ่ยทำให้เกิดอาการแพ้ระคายเคือง เกิดอาการคัน หรือถึงขั้นปวดแสบปวดร้อน มีอาการบวมแดง ในทั่วโลกมีหมามุ่ยมากกว่า 100 สายพันธุ์ ในไทยมีเพียงประมาณ 13 พันธุ์ หมามุ่ยที่พบในประเทศไทยมีลักษณะใบรูปร่างคล้ายรูปไข่หรือรูปไข่ปนขนมเปียกปูน หมามุ่ยจัดเป็นพืชตระกูลถั่ว ลักษณะทั่วไปของหมามุ่ย เป็นไม้เลื้อยล้มลุก เป็นพืชเถาซึ่งมีขนที่ฝัก ที่มีทั้งชนิดที่คันและไม่คัน แต่ในไทยเป็นสายพันธุ์ส่วนใหญ่มีขนพิษที่ฝัก ลำต้นเล็กเหนียวคล้ายเชือก ดอกออกเป็นช่อห้อยลง สีม่วงแก่ถึงม่วงออกดำ โคนใบอาจมีทั้งมน กลม หรือหน้าตัดก็ได้ ตัวใบบางและมีขนทั้งสองด้าน ดอกสีม่วงดำ ออกเป็นช่อตามง่ามใบ มีเมล็ด 4-7 เมล็ด ฝักจะมีขนอ่อนคลุม ฝักแก่กลายเป็นพืชที่มีพิษ ซึ่งมีขนคันและไม่คันจากฝัก เมื่อขนพิษสัมผัสกับผิวหนังทำให้เกิดอาการคัน เนื่องจากขนประกอบด้วยเอนไซม์มูคูแนน (mucunain enzyme) ที่สามารถย่อยโปรตีนได้ เซโรโทนิน (serotonin) และมีสารคล้ายฮิสตามีน (histamine) ทำให้เกิดพิษ เมื่อสัมผัสขนของฝักหมามุ่ยจึงก่อให้เกิดอาการระคายเคืองมาก คัน ปวดแสบปวดร้อน บวมแดง

การวิจัยหมามุ่ยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เริ่มต้นในปี 2554 โดยหมามุ่ย ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ที่ทำการวิจัยเป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศ เป็นสายพันธุ์อินเดียและจีนที่มีลักษณะพิเศษตรงที่ขนของฝักไม่ก่อให้เกิดอาการคัน เป็นสายพันธุ์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับถึงความปลอดภัยและบริโภคกันทั่วโลก LD 50 มากกว่า 2000 mg/kg (LD 50 คือ ปริมาณสารที่เราให้กับสัตว์ทดลอง แล้วสัตว์ทดลองตายไปครึ่งหนึ่ง หรือ 50%) ส่วนลักษณะเมล็ดสองสีคือ สีขาวและสีดำ สรรพคุณเด่นของหมามุ่ยที่คนทั่วไปรู้จักคือ เสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศและบำรุงร่างกาย

สรรพคุณหมามุ่ยทางแพทย์ปัจจุบัน ในเมล็ดหมามุ่ยประกอบด้วยสารแอลโดปา (L-Dopa, Levodopa) เป็นสารเคมีที่พบได้ทั้งใน มนุษย์ สัตว์ และพืช ในมนุษย์และสัตว์สามารถสังเคราะห์ได้ในร่างกายจากกรดอะมิโนแอลไทโรซีน (L-tyrosine) ซึ่งสารแอลโดปามีในเมล็ดหมามุ่ยปริมาณ 3.0-6.0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็น aromatic non-protein amino acid และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทโดพามีน (dopamine), นอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) และ เอพิเนฟริน epinephrine (adrenaline) ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นทั้งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทในกลุ่มแคททีโคลามีน (Catecholamines) ที่มีอิทธิพลต่อระบบการสืบพันธุ์ มีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศเพิ่มขึ้น เป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้นในร่างกาย ในสมอง โดพามีนทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท (neurotransmitter) คอยกระตุ้นโดพามีน รีเซพเตอร์ (dopamine receptor) โดพามีนทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนประสาท (neurohormone) ที่หลั่งมาจากไฮโปทาลามัส (hypothalamus) หน้าที่หลักของฮอร์โมนตัวนี้คือยับยั้งการหลั่งโปรแลคติน (prolactin) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า (anterior pituitary)

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์เมล็ดหมามุ่ยพบกรดอะมิโนที่จำเป็น และแร่ธาตุ รวมถึงคุณค่าทางโภชนะ พบเมล็ดหมามุ่ยประกอบด้วยกรดอะมิโนถึง 18 ชนิด และพบแร่ธาตุ 8 ชนิด ได้แก่ แคลเซียม ทองแดง เหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม และสังกะสี และผลจากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนะ พบว่าเมล็ดหมามุ่ยมีโปรตีนร้อยละ 29.14 ไขมัน ร้อยละ 5.05 และไฟเบอร์ร้อยละ 8.68

ปัจจุบันแอลโดปาถูกสกัดเป็นยาเม็ดไปทำยาเพื่อรักษา โรคพาร์กินสัน คนไทยเรียก สั่นสันนิบาต หรือ สันนิบาตลูกนก เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ เป็นโรคที่ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ชาวอังกฤษในปี พ.ศ. 2360 โดยเป็นผู้รายงานโรคพาร์กินสันเป็นคนแรก อธิบายว่าถ้าหากร่างกายมีสารโดพามีนน้อยเกินไป จะทำให้เกิดเป็นโรคพาร์กินสันเนื่องจาก

การเสียสมดุลของสารโดพามีนในสมอง เซลล์สมองส่วนที่สร้างโดพามีนตายไปมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดพามีนเป็นสารเคมีในสมอง ทำหน้าที่ควบคุมระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อสมองขาดโดพามีน จึงเกิดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติขึ้น แอลโดปาเป็นสารตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์โดพามีน (dopamine ไม่สามารถผ่านเข้าสมองได้)

คุณประโยชน์ สารแอลโดปาที่พบในเมล็ดของหมามุ่ยที่มีรายงานจากการวิจัยในต่างประเทศ ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น กระตุ้นการสลายไขมันส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ ช่วยในการลดริ้วรอยการเหี่ยวย่นลดลง ช่วยร่างกายให้กระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อมากขึ้น ช่วยให้อารมณ์ดี คลายเครียด ร่างกายมีพละกำลังมากขึ้นกว่าเดิม ควบ คุมคอเลสเตอรอลและควบคุมระบบการทำงานของระบบหัวใจ, ปอด,ตับและไตให้เป็นปกติ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกลดปัญหาโรคกระดูกพรุน

ปริมาณที่แนะนำให้กิน ผู้เป็นโรคพาร์กินสันกินไม่เกินวันละ 5 กรัม ต่อวัน ติดต่อ 15 วัน ควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์ ผู้ที่ต้องการกินบำรุงร่างกายสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการมีบุตรแนะนำให้กินวันละ 3 เมล็ดต่อวัน ทำให้ร่างกายสดชื่นแต่ถ้าร่างกายมีปัญหาให้กินไม่เกินวันละ 5 กรัม

ข้อควรระวัง เด็ก สตรี คนมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยอาการทางจิตและระบบประสาทไม่ควรรับประทาน ผู้ที่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิงสูงควรงดรับประทาน ในการทานเมล็ดหมามุ่ยไม่ควรกินเมล็ดหมามุ่ยแบบดิบ หรือการกินเมล็ดที่ไม่ได้คั่ว ไม่ได้นึ่ง หรือไม่สุก อาจทำให้เกิดพิษได้ การกินเมล็ดหมามุ่ยมากเกินไป ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนเนื่องจากหมามุ่ยมีสารแอลโดปาที่จะทำให้สารสื่อประสาทเกิดความไม่สมดุลได้ คลื่นไส้ อาเจียน

การทานเม็ดหมามุ่ยการกินเป็นผงบด และกินผสมกับกาแฟ หรือชา เพื่อเพิ่มความน่ารับประทาน ชงกินกับน้ำร้อนก็จะออกรสมัน เคี้ยวเมล็ดที่คั่วแล้วหรือสุก กินเมล็ดหมามุ่ยคั่วกับข้าวเหนียว

ผู้สนใจสมุนไพรทั้งหมดนี้ ขอเชิญติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานที่ผลิตยาสมุนไพร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทร. 0-3435-5184 หรือ 0-3435-1398 อีเมล swktct@ku.ac.th

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 21 ก.ค 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”