นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 2557 - ฉลาดคิด

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 2557 - ฉลาดคิด

Post by brid.siriwan »

นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 2557 - ฉลาดคิด

วันนี้.. มาทำความรู้จักกับเจ้าของรางวัล “นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2557” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เพิ่งประกาศรางวัลไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

เชิดชูนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่ถือเป็นบุคลากรสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต


นักวิทย์ รุ่นใหม่ทั้ง 4 ท่าน มีผลงานวิจัยที่หลากหลายทั้งด้านเคมี ฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์

เริ่มจาก ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธงไทย วิฑูรย์” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมเคมี พัฒนากระบวนการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินและการผลิตก๊าซชีวภาพ โดยใช้แคลเซียมออกไซด์จากเปลือกไข่เป็นตัวดูดซับ

ศาสตราจารย์ ดร.ธงไทย บอกว่าจากเดิมเป็นวิศวกรที่ใคร ๆ ก็มักมองว่าเป็นคนสร้างมลพิษ จึงอยากที่จะมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมกับเขาบ้าง ซึ่งการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พร้อมกับการสร้างพลังงานทดแทนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่หลายฝ่ายทั่วโลกพยายามผลักดันเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ

งานวิจัยที่ทำอยู่ จึงเป็นการนำองค์ความรู้เดิมในด้านวิศวกรรมเคมีมาต่อยอด สร้างกระบวนการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซเหลือทิ้งจากการกระบวนการเผาไหม้ในภาคอุตสาหกรรม โดยนำสิ่งที่อยู่รอบตัวมาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุในการดูดซับ (Adsorbent) ก่อนส่งเข้ากระบวนการกักเก็บให้มีความเข้มข้นสูงประมาณ 90% โดยปริมาตร เพื่อนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพลังงานทดแทนต่อไป

ท่านต่อมา “ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ใช้วัสดุนาโนคาร์บอน “กราฟีน” สร้างองค์ความรู้ใหม่ในงานวิจัยพื้นฐาน ผลิตตัวเก็บประจุไฟฟ้าเคมียิ่งยวดและสารยับยั้งเชื้อราในแผ่นยางดิบ

ดร.มนตรี บอกว่า กราฟีนมีลักษณะเป็นแผ่นที่มีโครงสร้าง 2 มิติ มีการจัดเรียงคาร์บอนอะตอมด้วยพันธ์โคเวเลนต์ต่อกันเป็นวงหกเหลี่ยมซ้ำ ๆ กันเหมือนตาข่ายคล้ายรังผึ้ง มีคุณสมบัติที่น่าทึ่ง เช่น เป็นสารกึ่งโลหะ เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีกว่าทองแดงหลายเท่า แข็งแรงกว่าเหล็กกล้า และมีความยืดหยุ่นสูง จึงเหมาะกับการนำไปใช้ผสมกับพอลิเมอร์ชนิดต่าง ๆ เพื่อเสริมแรง และเพิ่มค่าการนำไฟฟ้า งานวิจัยที่ทำจึงนำวัสดุนาโนคาร์บอน “กราฟีน” มาพัฒนาเป็นตัวเก็บประจุไฟฟ้าเคมียิ่งยวด ซึ่งจากการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์เก็บพลังงานที่ทำจากวัสดุกราฟีน หรือวัสดุผสมของกราฟีนกับโลหะออกไซด์ คาดว่าจะถูกนำมาใช้แทนแบตเตอรี่ในอนาคตอันใกล้ เพราะสามารถจ่ายไฟได้นานแต่ใช้เวลาสั้นลงสำหรับการชาร์จไฟ

นอกจากนี้ ดร.มนตรี ยังมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นจากการนำกราฟีนมาแก้ปัญหาเชื้อราในยางพารา โดยได้วิจัยสารยับยั้งเชื้อราจากวัสดุกราฟีน ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “Natural Rubber Smile” หรือสารยับยั้งเชื้อราบนแผ่นยางพาราดิบ ซึ่งเป็นสารเนื้อผสมระหว่างกราฟีนกับน้ำ ใช้งานง่าย ทดแทนการใช้สารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งและมีต้นทุนถูกกว่าเมื่อเทียบกับกระบวนการรมควัน

ด้าน “ดร.ปริญญา การดำริห์” อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิทย์รุ่นใหม่ที่ใช้องค์ความรู้เชิงทฤษฎีฟิสิกส์ พลังงานสูงและฟิสิกส์อนุภาค ศึกษามิติกาลอวกาศและจักรวาล

ดร.ปริญญา บอกว่า เป็นงานวิจัยที่นำเสนอแนวคิดใหม่ในแวดวงฟิสิกส์ทฤษฎีของฟิสิกส์พลังงานสูงและฟิสิกส์อนุภาค โดยใช้ทฤษฎีสตริง (String Theory) หรือทฤษฎีเส้นเชือกเป็นหลักในการอ้างอิง ซึ่งจะช่วยเสริมจุดบกพร่องของทฤษฎีควอนตัมและทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ไม่สามารถจะอธิบายได้ ซึ่งจากงานวิจัยนำไปสู่การค้นพบทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมุ่งหวังให้นักวิจัยรุ่นหลังนำวิทยาการเชิงทฤษฎี ไปต่อยอดประยุกต์เป็เวลา 00:00 น.
นองค์ความรู้เสริมความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆในอนาคต

ส่วน “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงยศ นาคอริยกุล” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักวิทย์รุ่นใหม่ ที่นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ “การคัดเลือกคุณลักษณะ (feature selection)”

เพื่อจำแนกประเภทมาใช้ลดเวลาต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำในการตรวจสอบ หวังตอบโจทย์ด้านอุตสาหกรรมเกษตร-การแพทย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงยศ บอกว่า งานวิจัยที่ทำอยู่จะเน้นใน 2 ด้านที่เหมาะกับประเทศไทยคือ ด้านการตรวจสอบความปลอดภัยในอาหาร โดยไม่ทำลายชิ้นงาน และทดแทนการใช้แรงงานคน ซึ่งจะปลอดภัยและแม่นยำกว่า และด้านการแพทย์ เช่น การใช้ไมโครอะเรย์ในการตรวจยีนที่สามารถบ่งบอกความผิดปกติหรือตรวจหาการก่อโรคในระยะแรกได้

ทั้งนี้การคัดเลือกคุณลักษณะ มีหลากหลายขั้นตอนและมีความซับซ้อน การใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล จะทำให้ช่วยย่นระยะเวลาได้เป็นเท่าตัวและได้ผลลัพธ์ในเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์.

นาตยา คชินทร

nattayap.k@gmail.com

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 28 สิงหาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”