จี้ปรับฉลาก'ยาพารา'เตือนผู้บริโภค

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

จี้ปรับฉลาก'ยาพารา'เตือนผู้บริโภค

Post by brid.siriwan »

จี้ปรับฉลาก'ยาพารา'เตือนผู้บริโภค

จี้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนฉลากยาพาราฯ ใหม่ เป็นภาษาไทย ให้อ่านง่าย ชี้ให้ผู้บริโภคเห็นพิษภัย และผลกระทบข้างเคียงจากการใช้ยาเกินขนาด

กรณี นพ.สุรสิทธิ์ ตั้งสกุลวัฒนา ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยา ทำบันทึกข้อความถึงประธาน PCT, รองผอ.ฝ่ายการพยาบาล, หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวช, หัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน และหัวหน้างานเภสัชกรรม เพื่อแจ้งมติของคณะกรรมการฯให้ปรับวิธีการใช้ยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของ Rational drug use (RDU) Label Working Group ที่กำหนดให้จ่ายยาพาราเซตามอล 500 mg/เม็ด รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ห่างกันทุก 6 ชั่วโมง ตามที่เดลินิวส์ออนไลน์ ได้นำเสนอข่าวไปนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 11 ต.ค. นพ.สุรสิทธิ์ เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า มติดังกล่าวเป็นแผนการดำเนินงานของโรงพยาบาลชลประทาน เนื่องจากโรงพยาบาลเห็นว่า ปัจจุบันประชาชนใช้ยาพาราเซตามอล พร่ำเพรื่อเกินไป จนเป็นอันตรายต่อตับ จึงควรสร้างความตระหนักรู้ในการใช้ยาอย่างถูกวิธี ทั้งนี้ได้มีมติปรับเปลี่ยนฉลากและวิธีการใช้ยาบนซองยาของโรงพยาบาลอีกด้วย ขณะที่ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะทำงานเฉพาะกิจจัดทำฉลากยาเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU Label Working Group) ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำฉลากแนะนำวิธีใช้ยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นโครงการภายใต้อนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และแต่งตั้งโดยกรรมการยาแห่งชาติ (มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) โดยขณะนี้มีโรงพยาบาลสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯทั้งสิ้น 56 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่างๆ โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลชุมชน เป็นต้น โรงพยาบาลทั้งหมดจะเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลนำร่องส่งเสริมการใช้ยาดังกล่าวอย่างสมเหตุผลต่อไป

"ปัจจุบันมีความเสี่ยงสูงที่คนไทยส่วนใหญ่ จะใช้ยาพาราฯเกินกว่าปริมาณที่กำหนด เพราะหาซื้อได้ง่าย และมีไว้ประจำบ้าน หรือเข้าใจว่าสามารถรักษาได้ทุกอาการปวด และบางครั้งผู้ป่วยนำยาพาราฯเดี่ยว มารับประทานรวมกับยาที่มีสูตรผสมพาราฯในคราวเดียวกัน จนทำให้ร่างกายได้รับยาชนิดนี้เกินขนาด"ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวและว่า ผลิตภัณฑ์ยาพาราฯในท้องตลาด ถ้าประชาชนเข้าใจในเรื่องการใช้ขนาดยาที่เหมาะสม คือควรรับประทานไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง ในคนทุกน้ำหนักตัว และไม่เกิน 15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อครั้ง ในคนที่มีน้ำหนักตัวน้อยรวมถึงเด็ก หรือไม่ควรเกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ก็สามารถหาซื้อยารับประทานเองได้ แต่ต้องระวังการได้ยาพาราฯจากแหล่งอื่น ซึ่งมีเป็นส่วนประกอบเม็ดละ 450-500 มิลลิกรัม ในยายี่ห้อนั้นๆ

ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวอีกว่า ประชาชนไม่รู้ว่ายาใดมีพาราฯผสมอยู่ เพราะผู้ผลิตเขียนส่วนประกอบไว้เป็นภาษาอังกฤษ ด้วยตัวอักษรขนาดเล็ก อ่านไม่เห็น หรือไม่อ่านกันดังนั้นที่แผงและกล่องของยาเหล่านี้ จึงควรมีข้อความเป็นอักษรภาษาไทย ตัวโตๆ คาดไว้กับผลิตภัณฑ์ว่า 'ยานี้มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ' ให้เห็นชัดๆ เพื่อแก้ปัญหาการไม่อ่านฉลากยา" อย่างไรก็ตาม การปรับวิธีการใช้ยาพาราฯ เพื่อเป้นการปกป้องคนน้ำหนักตัวน้อยได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาพราเซตามอล หากรับประทานเกินขนาดที่เหมาะสม อาจจะเป็นอันตรายต่อตับ อาทิ ตับอักเสบ ตับวาย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ในวันที่ 29-30 ต.ค.นี้ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างโรงพยาบาลทั้งหมด 56 แห่งอีกด้วย.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 11 ตุลาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”