จับตาสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ แก้หนี้นอกระบบได้จริงหรือ?

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

จับตาสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ แก้หนี้นอกระบบได้จริงหรือ?

Post by brid.siriwan »

จับตาสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ แก้หนี้นอกระบบได้จริงหรือ?

แก้ไม่ตก! กับปัญหา “หนี้นอกระบบ” ที่วนเวียนซ้ำไปซ้ำมา สุดท้าย “ลูกหนี้” ต่างต้องมีจุดจบที่แตกต่างกันไป อย่างล่าสุดก็เกิดขึ้น

แก้ไม่ตก! กับปัญหา “หนี้นอกระบบ” ที่วนเวียนซ้ำไปซ้ำมา สุดท้าย “ลูกหนี้” ต่างต้องมีจุดจบที่แตกต่างกันไป อย่างล่าสุดก็เกิดขึ้นกับ “ป้าสังเวียน-รักษาเพ็ชร์” ชาวนาจ.ลพบุรี ที่ตัดสินใจเผาตัวเองเพื่อประชดการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ได้ ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึง ปัญหา สาเหตุ และแนวทางแก้ไข

คิดดอกเบี้ยแสนโหด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย ที่ไม่สามารถจัดการปัญหาหนี้นอกระบบได้หมดสิ้นเสียที และยิ่งฝังลึกเข้าไปกับคนไทยในหลากหลายอาชีพทั่วทุกพื้นที่ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ เหตุเพราะการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต้องคำนึงถึงความสามารถชำระหนี้ของผู้กู้ โดยใช้เอกสารและหลักทรัพย์ค้ำประกันเข้ามาเป็นตัวกำหนด ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งต้องหันไปพึ่งพาธุรกิจเงินสดแทน เพราะช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ และได้เงินอย่างรวดเร็ว แต่...ต้องก้มหน้าแบกรับกับภาระดอกเบี้ยแสนโหดที่สูงลิ่ว จนบางครั้งอาจสูงกว่าเงินต้นด้วยซ้ำไป

แม้ในปัจจุบันจะมีกฎหมายคุ้มครองหนี้นอกระบบ คือ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ภายใต้กระทรวงมหาดไทย เข้ามากำกับดูแล โดยกำหนดให้ผู้ปล่อยกู้สามารถเรียกดอกเบี้ยอัตรา 15% ต่อปีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว! กลับพบว่าไม่อาจควบคุมได้อย่างแท้จริง เพราะเจ้าหนี้นอกระบบทั่วไป คิดอัตราดอกเบี้ยสูงมากถึง 5%, 10% หรือ 20% ต่อเดือน หากคิดเทียบเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปีจะสูงถึง 60%, 120% หรือ 240% ต่อปี ทีเดียว ทำให้ลูกหนี้หลายรายไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้อย่างจริงจังเสียที...

แบงก์รัฐแก้ไม่ตรงจุด

ขณะเดียวกัน การใช้สถาบันการเงินของรัฐ หรือแบงก์รัฐ เข้ามาแก้ไขปัญหา กลับไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องหรือถูกทาง เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เพราะการใช้แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อรูปแบบไมโครไฟแนนซ์ รายละ 200,000 บาท ไม่ได้ตอบโจทย์อย่างเต็มที่ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่เป็นรายบุคคลย่อมมีความเสี่ยง!!! ทำให้การอนุมัติวงเงินต้องรัดกุมและรอบคอบมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นผลเสียต่อธนาคารโดยไม่จำเป็น และสุดท้ายอาจเป็นภาระต่องบประมาณได้ หากภาครัฐเข้าไปชดเชยดอกเบี้ยส่วนเกินแทน จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่ว่า...ได้

ดังนั้น การนำแบงก์รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาก็เท่ากับว่า เมื่อดูจากผลลัพธ์แล้วการใช้แบงก์รัฐเป็นเพียงมาตรการที่โยกจากซ้ายไปขวาเท่านั้น ด้วยการดึงลูกหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้อง พร้อมจูงใจด้วยนโยบายดอกเบี้ยต่ำ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ลบล้างหนี้ของประชาชนที่เกิดขึ้นได้หมด

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านแบงก์รัฐมาแล้วถึง 3 โครงการ คือ โครงการขึ้นทะเบียนคนยากจน เมื่อปี 47 มีจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 94,000 ราย จากลูกหนี้ที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 1.7 ล้านราย มูลค่า 135,000 ล้านบาท โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ปี 52-53 มีจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 417,000 ราย จากที่ขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบไว้ 1.2 ล้านราย มูลค่า 123,000 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 54-56 มีลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 124,000 ราย มูลค่าหนี้ 12,000 ล้านบาท แต่ผลที่ออกมาคือปัญหาเดิม ๆ ยังไม่จบไม่สิ้นตามเคย

ใช้วิธีเกลือจิ้มเกลือ

ล่าสุด...ขุนคลัง “สมหมาย ภาษี” ก็เลือกใช้วิธี “เกลือจิ้มเกลือ” เตรียมเลือกใช้มาตรการปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย หรือ “สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์” เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนในการขอสินเชื่อรายย่อย ที่มีรายได้น้อยและไม่มีหลักประกัน เพราะเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่สามารถเข้าถึงรายย่อยได้ดีที่สุด โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่กู้เงินนอกระบบ และผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินรวมทั้งสิ้น 2.94 ล้านครัวเรือน กำหนดปล่อยสินเชื่อไว้ให้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท เพียงพอต่อการเป็นทุนในการประกอบกิจการต่าง ๆ แต่จำกัดยอดเงินกู้ไม่ให้สูงมากนัก เพื่อป้องกันการกู้เงินมากเกินควร และอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เกิน 36% ต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 3% พร้อมแบ่งเขตการปล่อยกู้แต่ละจังหวัดทั่วประเทศอย่างชัดเจน ด้วยการจำกัดพื้นที่ในการให้บริการ และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และกรมสรรพากร เข้ามาช่วยเหลือและตรวจสอบ แถมไอเดียบรรเจิด ด้วยการมอบรางวัลให้เอกชน เช่น การคิดภาษีครึ่งหนึ่งของรายได้ที่เกิดขึ้น เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้ามาร่วมโครงการอีกด้วย

ตั้งบริษัทสินเชื่อรายย่อย

สำหรับรูปแบบการบริการสินเชื่อนี้ จะจัดตั้งบริษัทสินเชื่อรายย่อย (บย.) ให้เอกชนเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ ที่ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเงินที่จัดสรรให้กับกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท แต่ควรต่ำกว่า 50 ล้านบาท ที่เป็นเกณฑ์การให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและให้มีความระมัดระวังให้สินเชื่อ เพราะเป็นเงินลงทุนของ บย.เอง โดยกระทรวงการคลังจะมีบทบาทในการกำกับดูแลให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ระดับเฉลี่ย 36% ต่อปีนั้น ผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สร้างภาระกับผู้กู้มากเกินไป เพราะอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าอัตราสินเชื่อนอกระบบในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ทั้งผู้กู้และ บย.จะอยู่ภายใต้การควบคุมจากภาครัฐ

ขณะที่คุณสมบัติผู้กู้นาโนไฟแนนซ์ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่จะมีหรือไม่มีหลักประกันในการกู้ก็ได้ เบื้องต้นเอกสารที่ใช้จะเหมือนกับการกู้สินเชื่อบุคคลจากสถาบันการเงินทั่วไป ทั้งสัญญาเงินกู้ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาเงินเดือน ที่จะตรวจสอบถึงความสามารถในการชำระ เป็นต้น ส่วนการปล่อยสินเชื่อนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นก็จะถูกชดเชยโดยการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจคิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงขึ้น

ทั้งนี้ นาโนไฟแนนซ์ สามารถดำเนินการได้ทันที ภายหลังที่ รมว.คลัง พิจารณาก่อนเสนอ ครม.เห็นชอบ ซึ่งดำเนินการเพียงยกร่างประกาศกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศเรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (ปว.58) และร่างประกาศเรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมเท่านั้น โดยผู้ประกอบการเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐ

เร่งกฎหมายทวงหนี้ฯ

ส่วนความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ทวงหนี้อย่างเป็นธรรมนั้น ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรกแล้ว และวาระ 2 อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบ โดยจะต้องมีเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา เนื่องจากการแก้ปัญหาของผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบจะกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งหากจะให้ สศค.ดำเนินการอาจดูไม่ได้เต็มที่ เพราะ สศค.ดูได้เพียงแค่ส่วนกลาง โดยการดำเนินการดังกล่าวคงต้องให้หน่วยงานอื่น ทั้ง มหาดไทย ตำรวจ เข้ามาช่วยกันดูแล ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลืออยู่ทั่วประเทศ และเมื่อประกาศเป็นกฎหมายแล้ว จะช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างสมบูรณ์ เพราะจะคุ้มครองลูกหนี้ได้อย่างมาก

แนวทางทั้งหมดโดยหลักการแล้วดูเหมือนว่าน่าจะเข้าถึงและแก้ปัญหาได้ตรงจุด แต่สุดท้ายแล้วคงไม่มีใครออกมาฟันธง ณ เวลานี้ ในทันทีได้ว่า “เดินถูกทาง” แค่คงต้องรอให้เวลา...เป็นเครื่องตัดสินว่าแนวทาง “เกลือจิ้มเกลือ” ครั้งนี้จะได้ผลมากน้อยเพียงใด?.

วุฒิชัย มั่งคั่ง

1มาตรการปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์)

2กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่กู้เงินนอกระบบและเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน 2.94 ล้านครัวเรือน

3อัตราดอกเบี้ยที่ไม่เกิน 36% ต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 3%

4จะมีหรือไม่มีหลักประกันในการกู้ก็ได้

5ตั้งบริษัทสินเชื่อรายย่อย (บย.) ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท

6กำหนดเขตการปล่อยกู้แต่ละจังหวัดทั่วประเทศอย่างชัดเจน

7กระทรวงการคลังจะมีบทบาทในการกำกับดูแล

8เอกสารที่ใช้ประกอบการกู้เงิน

- สัญญาเงินกู้

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

- สำเนาทะเบียนบ้าน

- สำเนาเงินเดือน

9ยกร่างประกาศกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ

- ร่างประกาศเรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศ

คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (ปว.58)

- ร่างประกาศเรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ย

ที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมเท่านั้น

10ใช้ พ.ร.บ.ทวงหนี้อย่างเป็นธรรม ดูแลลูกหนี้

“ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า เรื่องนาโนไฟแนนซ์ ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยไม่เกินรายละ 1.2 แสนบาท ถือเป็นการปล่อยสินเชื่อแนวทางใหม่ นอกเหนือไปจากแนวทางเดิมที่รัฐเคยได้ทำ เช่น จัดตั้งบริษัทสินเชื่อรายย่อย หรือไมโครไฟแนนซ์ เพราะเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับคนจนที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นประโยชน์ แต่ก็ต้องมีการติดตามตรวจสอบด้วยว่า หากปล่อยเงินไปแล้วมีผลสำเร็จหรือผลเสียอย่างไร และต้องมีระบบประเมินผล ว่าสอดคล้องกับงบประมาณที่รัฐจัดลงไปอุ้มคนกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่

“ถามว่าดีไหม ในหลักการเชื่อว่าดี เพราะเป็นการแยกย่อยลงไปถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หรือเป็นคนที่จนจริง ๆ ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกเหนือจากนโยบายเดิมที่รัฐทำอยู่ และเชื่อว่า การผลักดันสินเชื่อรูปแบบนี้ออกไปก็สอดคล้องกับนโยบายของ คสช.ที่ต้องการช่วยกลุ่มคนจน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ แต่จะได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ถึงตอนนั้นคงต้องมาติดตามกันอีกที”

“บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์หรือสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มรากหญ้าในต่างจังหวัดได้ เนื่องจากไม่เข้าใจวัฏจักรและเข้าถึงชีวิตของกลุ่มคนในชนบท จึงจำเป็นต้องให้เกิดสุญญากาศ ขณะที่รัฐและแบงก์เฉพาะกิจ ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ แม้ว่าจะมีกฎกติกาออกมาก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นทำให้รัฐต้องอุ้มกลุ่มคนเหล่านี้ไว้ด้วยการช่วยเหลือเป็นครั้งคราว ส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มคนทำงานในเมืองทำอยู่แล้วเป็นปกติ

ทั้งนี้บุคคลที่มีความรู้ไมโครไฟแนนซ์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ดำเนินการกิจการค้าพืชไร่ ค้าปุ๋ย ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความรู้ชีวิตคนในชนบทเป็นอย่างดี และใช้เงินทุนของตัวเองในการปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา และไม่ได้ถูกกำกับดูแลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ทำได้ในกรอบที่จำกัด ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ทั้งหมด

“บุญยง ตันสกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย บอกว่า การที่รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้ามาปล่อยเงินกู้ให้กับประชาชนรายย่อย ที่เรียกว่า นาโนไฟแนนซ์ นั้น คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้นทุนทำธุรกิจค่อนข้างสูง และผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ขณะที่ภาคธุรกิจที่จะเข้ามาปล่อยเงินกู้ต่างไม่มีความชำนาญ แต่ถ้าเป็นการร่วมทุนกับภาครัฐ หรือในรูปแบบกึ่งรัฐวิสาหกิจ เช่น เอกชนร่วมทุนกับบริษัทไปรษณีย์ไทย อาจเป็นไปได้

ที่ผ่านมาซิงเกอร์เคยศึกษาการทำนาโนไฟแนนซ์ แต่การจะปล่อยเงินกู้ให้กับรากหญ้า จะเป็นเงินไม่มากนักคือ 5,000-10,000 บาทต่อราย โดยพฤติกรรมการชำระเงินคืน จะไม่นิยมไปยังสถาบันการเงิน หรือทำธุรกิจการเงินอื่น ๆ เช่น โอนเงิน ดังนั้นเจ้าหนี้จะต้องส่งพนักงานไปตามทวงหรือเก็บเงินเอง หากรัฐต้องผลักดันให้นาโนไฟแนนซ์ ขอให้ยึดโมเดลของบังกลาเทศมาปรับใช้คือปล่อยกู้ในรูปแบบกึ่ง “กองทุนหมู่บ้าน” ที่ปล่อยกู้ให้ประชาชนนำไปสร้างอาชีพ โดยรัฐสอนอาชีพให้ประชาชน ให้มีรายได้มาจ่ายคืนหนี้


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 27 ตุลาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”