กฟผ.ย้ำถ่านหินไร้ผลกระทบ

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

กฟผ.ย้ำถ่านหินไร้ผลกระทบ

Post by brid.siriwan »

กฟผ.ย้ำถ่านหินไร้ผลกระทบ

“ถ่านหิน” ยังเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นตัวเลือกหลักของ กฟผ. เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกคุ้มค่ามากกว่าการใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่น

กฟผ.ย้ำถ่านหินไร้ผลกระทบ เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่

เมื่อทรัพยากรด้านพลังงานมีจำกัด... ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของคนในประเทศที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.” ต้องเร่งจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดย “ถ่านหิน” ยังเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นตัวเลือกหลักของ กฟผ. เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกคุ้มค่ามากกว่าการใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่น แม้ว่าจะเป็นการยาก... เพราะการจัดตั้งโรงไฟฟ้าแต่ละครั้ง มักถูกแรงต้านจากประชาชนในพื้นที่ที่เชื่อว่าเป็นการทำลาย สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทย

สำรวจสารพัดโรงไฟฟ้า

ด้วยเหตุนี้เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในทุกด้าน กฟผ. จึงพาสื่อมวล ชนทุกแขนง เดินทางไปดูงานโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ที่เยอรมนีเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงว่า...เยอรมนีที่มีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงสารพัดประเภทนั้น สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไร? โดยเยอรมนี ถือเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและความสามารถในการผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานติดอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และชีวมวลต่าง ๆ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 175,000 เมกะวัตต์ เพียงพอและสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศกว่า 80 ล้านคน ที่ใช้เพียง 84,400 เมกะวัตต์เท่านั้น

หากแยกสัดส่วนการผลิตพลังงานหลายรูปแบบของเยอรมนี จะพบว่ากำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน และแก๊ส มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 40-50% หรือ 89,700 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ รวมกันที่ 30-40% หรือ 72,000 เมกะวัตต์ และที่เหลืออีก 10% หรือ 13,100 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ทำให้กระแสไฟฟ้าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้ภายในประเทศ สามารถนำไปขายและนำเงินเข้ามาหมุนเวียนได้อีกทางหนึ่ง

แต่เมื่อนำข้อมูลมาพิจารณาแล้ว พบว่าการผลิตจากโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน และแก๊ส ของเยอรมนีควบคุมได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ที่่ควบคุมไม่ได้ เพราะสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ หากเป็นช่วงฤดูหนาว จะยากต่อการควบคุมแสงแดดที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้า

ดูแลมวลชนในพื้นที่

นอกจากนี้ เยอรมนี ยังให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่โดยรอบบริเวณโรงไฟฟ้าต่าง ๆ เพราะการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ยังคงมีปัญหาเรื่องสารคาร์บอนไดออกไซด์, สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารปรอท จำนวนมาก จนกลายเป็นปัญหามลพิษทางอากาศได้ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องหาทางออกให้สามารถอยู่ควบคู่กับชุมชนได้ ที่ขณะนี้กำลังศึกษานวัตกรรมใหม่ในการลดปัญหาคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การปลูกสาหร่าย เพราะเป็นพืชที่สามารถดูดซับสารดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

หาก...ย้อนกลับมากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย “รัตนชัย นามวงศ์” รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. ชี้แจงว่า สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในไทย มีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับกำลังการผลิตที่กลับมีไม่เพียงพอ และหากการสร้างโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามแผน ก็มีความจำเป็นที่ต้องดับไฟฟ้าเป็นช่วง ๆ ซึ่งสุดท้ายอาจจะกลายเป็นวิกฤติด้านไฟฟ้าไปในที่สุด

ย้ำถ่านหินต้นทุนต่ำ

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าของไทย ใช้เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าสูงที่สุด คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีต้นทุนค่าก่อสร้างและการผลิตไฟฟ้าที่สูง เพราะโรงไฟฟ้าประเภทใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนค่าก่อสร้างอยู่ที่ 500-700 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ และมีราคาต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3.50-4 บาทต่อหน่วย แต่หากไทยผลิตพลังงานจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนค่าก่อสร้างอยู่ที่ 1,000–1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ และมีราคาต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2.80-3.10 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ถือว่ามีสัดส่วนราคาต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

ขณะที่โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานลมเป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนค่าก่อสร้างอยู่ที่ 1,700-2,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ ราคาต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5-6 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าที่ใช้แสงอาทิตย์เป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนค่าก่อสร้างอยู่ที่ 3,600-4,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ ราคาต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 8-9 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นการผลิตที่ต้นทุนสูงมาก

ลุยสร้าง 2 โรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ กฟผ. กำลังเตรียมแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งจัดทำแผนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 62 หลังจากนั้นปี 65 เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ และปี 68 เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โรงที่ 2 อีก 1,000 เมกะวัตต์ ส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น ได้จัดเวทีกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยสาธารณะ (ค.1) ของโครงการอีกด้วย

ขณะเดียวกัน กฟผ. ยืนยันความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็เพื่อกระจายเชื้อเพลิงให้เกิดความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าของประเทศ ในราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว

แม้ความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าถือเป็นเรื่องสำคัญ .. แต่การสร้างความเข้าใจกับมวลชนกับคนในพื้นที่ ถือเป็นความสำคัญที่ยิ่งกว่า ดังนั้นจากนี้ไปจึงขึ้นอยู่กับ กฟผ. ว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับมวลชนได้อย่างไร?.

วุฒิชัย มั่งคั่ง

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”