อคส.เร่งเคลียร์หนี้ 2 หมื่นล้านให้ผู้ประกอบการ หลังค้างจ่ายม

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

อคส.เร่งเคลียร์หนี้ 2 หมื่นล้านให้ผู้ประกอบการ หลังค้างจ่ายม

Post by brid.siriwan »

อคส.เร่งเคลียร์หนี้ 2 หมื่นล้านให้ผู้ประกอบการ หลังค้างจ่ายมานานหลายปี

ประธานบอร์ดอคส. สั่งเร่งเคลียร์หนี้ ทั้งเงินค้ำประกัน ค่าเช่า ค่ารมยา ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตร ราว 2 หมื่นล้านบาท หลังจ่ายล่าช้ามาหลายปี ย้ำผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่อคส.รายใดเรียกเงินใต้โต๊ะ หรือทุจริต ยันฟันไม่เลี้ยงแน่ พร้อมเดินหน้าทำ อคส. เป็นองค์กรปลอดทุจริต

นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ดอคส.) เปิดเผยว่า อคส.มีภาระที่จะต้องคืนเงินค้ำประกันและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรของรัฐบาล ไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย รวมเป็นเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ ได้เร่งรัดการคืนเงินค้ำประกันให้ไปแล้ว 34 ราย คิดเป็นเงิน 321 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาคืนให้อีก 369 ราย คิดเป็นเงิน 369 ล้านบาท รวมทั้งยังได้คืนเงินค่าเช่าโกดัง คลังสินค้า ค่ารมยาสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาล ให้กับผู้ประกอบการแล้ว 1,140 ล้านบาท

“อคส. ตั้งเป้าจะคืนเงินค้ำประกันและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ราว 20,000 ล้านบาทให้กับผู้ประกออบการให้ได้ภายใน 4 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งต้องขออนุมัติเงินงบประมาณจากรัฐบาล โดยในจำนวนหนี้ 20,000 ล้าน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554/55 เป็นต้นมา ที่เหลือเป็นหนี้จากการแทรกแซงสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น มันสำปะหลังและข้าวโพด เป็นต้น”

สำหรับสาเหตุการคืนเงินค้ำประกันล่าช้า แม้โครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรต่างๆ สิ้นสุดไปแล้ว เป็นเพราะอคส. ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานอย่างละเอียด จึงต้องใช้เวลานาน อีกทั้งผู้ประกอบการบางรายทำผิดสัญญากับ อคส. เช่น โรงสีบางรายเมื่อสีแปรสภาพข้าวเปลือกจากการรับจำนำเป็นข้าวสารแล้วส่งมอบให้ อคส. ล่าช้ากว่ากำหนด จึงต้องถูกปรับ แต่บางรายยังไม่ยอมเสียค่าปรับ อคส. จึงยังคืนเงินค้ำประกันไม่ได้

ส่วนที่ผ่านมา กรณีมีการร้องเรียนว่ามีเจ้าหน้าที่ อคส. ตุกติก เรียกรับเงินใต้โต๊ะจากผู้ประกอบการ ก่อนการคืนค้ำประกัน ตนไม่ทราบ และไม่ขอพูดถึง แต่ขอยืนยันว่าจากนี้ไป ผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น ถ้าพบว่า เจ้าหน้าที่ อคส. เรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ หรือมีการทุจริต แม้แต่บาทเดียว ก็ต้องเอาโทษให้ถึงที่สุด ไม่ใช่แค่โทษทางวินัย ลดขั้น หรือหักเงินเดือนเท่านั้น แต่ต้องทำให้ไม่มีงานทำเลย และอยากให้ผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่อคส.เรียกเก็บเงินใต้โต๊ะแจ้งเบาะแสมาได้ที่อคส. หรือที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569

นอกจากนี้ ยังได้สั่งให้ตั้งคณะทำงานเร่งรัดให้ลูกหนี้ที่ติดเงินกับอคส. ให้มาเจรจาคืนหนี้โดยเร็ว โดยมียอดรวมประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินให้ยืม เงินให้กู้ สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเจรจาให้คืนหนี้ได้ราว 365 ล้านบาท

นางจินตนากล่าวว่า ได้ปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ดูแลคลังสินค้าที่เก็บสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาลได้แล้วเรียลไทม์ และข้อมูลของทุกคลังสินค้าจะเชื่อมต่อถึงกันหมด เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต จากเดิมที่ใช้ระบบมือกรอกข้อมูลต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และล่าช้า โดยล่าสุดมีสินค้าของรัฐบาลเก็บไว้ใน 1,420 คลัง ใน 50 จังหวัดทั่วประเทศ

“การปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ จะทำให้เราทราบข้อมูลสินค้าในทุกคลังสินค้าได้ทันที เช่น ถ้ากดเข้าไปดูคลังสินค้าที่จ.ราชบุรี จะรู้ว่ามีกี่คลัง แต่ละคลังมีข้าวปริมาณเท่าไร คุณภาพเป็นอย่างไร มีใครดูแล ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำคลังส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางก่อน 10 โมงเข้าทุกวัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ในส่วนกลางจะประมวลข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ก่อน 5 โมงเย็นทุกวัน”

ส่วนข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ในความดูแลของอคส. ล่าสุดมีประมาณ 13 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีภาระผูกพัน 500,000 ตัน ยังเหลือที่ขายได้อยู่อีกราว 12.5 ล้านตัน

สำหรับกรณีสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาลที่ อคส. ดูแล ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หากมีการสูญหาย ตนในฐานะประธานบอร์ด อคส. จะไม่ปล่อยปละละเลยแน่นอน แต่จะแจ้งความดำเนินคดี และได้สั่งการเจ้าหน้าที่อคส.ไปแล้วว่า ทุกคดีให้ส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หมด เพราะถือว่า สินค้าเกษตรเหล่านั้นเป็นทรัพย์สินของหลวง และต้องมีคนรับผิดชอบ ซึ่งอคส.จะต้องดำเนินการตามนโยบายของน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพาณิชย์ปลอดการทุจริต หรือซีโร่ คอรัปชัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สาเหตุที่อคส.คืนเงินค้ำประกันให้โรงสีล่าช้า ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ อคส. บางรายเรียกเก็บใต้โต๊ะ โดยหากผู้ประกอบการรายใดไม่ยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ ก็จะไม่ได้รับการคืนเงินค้ำประกันให้ แต่รายใดต้องการได้เงินค้ำประกันคืนก็ต้องยอมจ่าย โดยเงินค้ำประกันดังกล่าว อคส.จะเรียกเก็บจากโรงสีที่เข้าร่วมโครงการบางรายในอัตราสูง เช่น 5% ของมูลค่าข้าวที่รับจำนำ


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”