เล็งยื่นหนังสือ รมว.แรงงาน ให้บอร์ด ทบทวนค่าจ้าง

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

เล็งยื่นหนังสือ รมว.แรงงาน ให้บอร์ด ทบทวนค่าจ้าง

Post by brid.siriwan »

เล็งยื่นหนังสือ รมว.แรงงาน ให้บอร์ด ทบทวนค่าจ้าง

ปลัดแรงงาน มั่นใจ ก.พาณิชย์ คุมราคาสินค้าได้ ไม่กระทบค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน ด้านกสร.เตรียมปรับโครงสร้างเงินเดือนให้รัฐวิสาหกิจ ขณะที่ คสรท.เล็งยื่นหนังสือ รมว.แรงงาน ให้บอร์ด ทบทวนการปรับค่าจ้างอีกครั้ง

วันนี้( 18พ.ย.) ตามมติคณะรัฐมนตรี ปรับขึ้นค่าครองชีพข้าราชการระดับล่าง 4 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อผู้ใช้แรงงาน นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนมั่นใจกระทรวงพาณิชย์ จะมีมาตรการรับมือ รวมถึงควบคุมราคาสินค้าเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากมีตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นกรรมการค่าจ้าง และรับทราบปัญหานี้ด้วย

ด้านนายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เรื่องการควบคุมราคาสินค้าเป็นความท้าทายของรัฐบาล ซึ่งมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดแต่ละสถานประกอบการ ต้องมีโครงสร้างค่าจ้างเอง และให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงค่าจ้างแรกเข้า หรือกระทรวงแรงงาน ต้องแก้กฎหมาย บังคับให้ทุกสถานประกอบการต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง เพระทุกวันนี้ สถานประกอบการเกินครึ่ง รอค่าจ้างขั้นต่ำ จากรัฐบาลประกาศเท่านั้น

นายเฉลิมทัต ตันโสภณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ กสร. กล่าวถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการ พิจารณาสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปรับโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้าง ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์หรือ สรส.และกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจ หรือ กบร. เสนอมา โดยสรส.เสนอให้ยึดโครงสร้างเงินเดือน 58 ขั้น เริ่มที่อัตรา 9 พัน 40 บาท ถึง 1 แสน 8 หมื่น 9 พัน 330 บาท เฉลี่ยปรับขึ้นขั้นละ 4.3 เปอร์เซ็นต์

ส่วน กบร. เสนอโครงสร้างเงินเดือน 70 ขั้น เริ่มที่อัตรา 5 พัน 780 บาท ถึง 2 แสน 3 หมื่น 1 พัน 280 บาท โดยขั้นที่ 1 - 40 จะให้คงบัญชีเงินเดือน 58 ขั้น ส่วนขั้นที่ 40.5 - 58 เสนอปรับเพิ่ม 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเงินเดือนเกิน 5 หมื่นบาท สำหรับขั้นที่ 58.5 - 70 เสนอปรับขึ้น 2.8 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษาหาข้อมูลถึงผลกระทบ จำนวนเงินที่ต้องใช้ และจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยให้มีการทำแบบสำรวจไปยัง 35 รัฐวิสาหกิจที่ยึดถือโครงสร้างเงินเดือน และค่าจ้าง 58 ขั้น นอกจากนี้ มีการหารือถึงการโอนภารกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงการคลังดูแลแทนด้วย หากสองฝ่ายเห็นตรงกัน ก็จะแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ต่อไป

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าครองชีพของข้าราชการทำให้หันกลับมามองว่าแล้วภาคเอกชนที่ คณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) รับปากว่าจะปรับค่าจ้างให้ในปี 2558 หรือจะพิจารณาเมื่อมีเหตุความผันผวนทางเศรษฐกิจ เหมือนกับว่าคำสัญญาที่ให้ไว้ไม่ได้หยิบมาทบทวน ตนมองว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและบอร์ดค่าจ้างควรหาทางช่วยเหลือแรงงานให้สามารถอยู่ได้ในปัจจุบัน อีกทั้งเมื่อมีการปรับขึ้นค่าครองชีพหรือเงินเดือนข้าราชการเมื่อใด ราคาสินค้าก็จะขยับขึ้นอีกแล้วลูกจ้างเอกชนจะอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นได้อย่างไร

“แรงงานเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญของประเทศ อยากให้ รมว.แรงงานให้ความสำคัญ ปรับค่าจ้างให้บ้าง เพื่อให้แรงงานมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือหากไม่สามารถปรับค่าจ้างได้ก็ขอให้จัดการเรื่องสวัสดิการเพื่อให้แรงงานอยู่ได้” น.ส.วิไลวรรณ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาจากการสำรวจพบว่าหากแรงงานจะอยู่ได้ต้องมีรายได้วันละประมาณ 460 บาท แต่ก็เข้าใจว่าอาจเป็นเรื่องที่ยาก ก็ต้องมาหารือกันว่าจะสามารถปรับขึ้นได้เท่าไหร่ โดยอาจนำเรื่องอายุงาน ฝีมือ ฯลฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.เตรียมยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เพื่อยื่นหนังสือขอให้ บอร์ดค่าจ้างพิจารณาทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่มา


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”