จับตาแบ่งเค้กเมกะโปรเจคท์ เกาะ‘ไฮสปีดเทรน’สู่เวทีโลก

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

จับตาแบ่งเค้กเมกะโปรเจคท์ เกาะ‘ไฮสปีดเทรน’สู่เวทีโลก

Post by brid.siriwan »

จับตาแบ่งเค้กเมกะโปรเจคท์ เกาะ‘ไฮสปีดเทรน’สู่เวทีโลก

ถ้าเปรียบกระทรวงคมนาคมเวลานี้ เรียกว่ากำลังเข้าสู่วัยขบเผาะ ถูกบรรดาหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ตามจีบชนิดหัวบันไดไม่แห้ง นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ถ้าเปรียบกระทรวงคมนาคมเวลานี้ เรียกว่ากำลังเข้าสู่วัยขบเผาะ ถูกบรรดาหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ตามจีบชนิดหัวบันไดไม่แห้ง นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประกาศชัดว่าพร้อมเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจคท์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ

บรรดาตัวแทนนักธุรกิจต่างชาติ รวมถึงเอกอัครราชทูตหลาย ๆ ประเทศ พากันมาเยี่ยมเยียนเข้าออกทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อสอบถามถึงแผนรายละเอียดการลงทุน พร้อมเสนอตัวขอเข้ามาร่วมมือในโครงสร้างพื้นฐานประเทศหรือหากเรียกแบบบ้าน ๆ คือ อยากขายของนั่นเอง!

เพราะยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยระยะ 8 ปี ระหว่างปี 2558-2565 ค่อนข้างหอมหวน มีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท ที่สำคัญรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งลงทุน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2558 และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนส่งสินค้าของไทยที่ล้าหลังมานานให้ก้าวหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค (ฮับ) รับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนเมกะโปรเจคท์ 3 ล้านล้านบาทในรอบนี้ ยังมีนัยสำคัญทางการเมืองในเวทีนานาชาติต่อรัฐบาลชุดนี้ เพราะธรรมชาติของรัฐบาลทหารมักได้รับการยอมรับจากนานาประเทศน้อยกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงถือเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลประยุทธ์กำลังกำจัด โดยใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมหาศาลมาเป็นแรงดึงดูดใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาคุยยอมรับรัฐบาลทหารในเวทีโลกเพิ่ม

โดยเฉพาะการลงทุนด้านระบบราง ซึ่งถือเป็นอีกไฮไลต์สำคัญที่สุดในยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานประเทศ โดยรัฐบาลมีแผนลงทุนสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางกว้าง 1 เมตรทั่วประเทศ รถไฟฟ้าในเมือง 10 สาย รวมถึงรถไฟกึ่งความเร็วสูงขนาดราง 1.435 เมตร มูลค่ามหาศาล ทำให้มีหลาย ๆ ประเทศ แสดงความสนใจอย่างไม่ปิดบัง เพื่อขอแบ่งเค้กเงินลงทุนจากไทย

สำหรับรายที่ชัดเจนที่สุดในตอนนี้ คือ การร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยหลังจากผู้นำทั้งสอง ประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้นำจีนในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ได้มีความเห็นชอบการทำยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยจีนจะทำยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมจากจีนสู่อาเซียน ขณะที่ไทยจะใช้ยุทธศาสตร์เชื่อมไทยกับอาเซียน

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือทางการจีนกับไทยแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน (สแตนดาร์ดเกจ) 1.435 เมตร 3 ช่วง คือ ช่วงหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย, ช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ และช่วงแก่งคอย-ชลบุรี-มาบตาพุด รวมระยะทาง 867 กิโลเมตร ตลอดจนการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟกึ่งความเร็วสูงจากจีนผ่าน สปป.ลาว มายังไทยด้วยประเทศต่อมาที่มีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาร่วมแบ่งเค้กในโครงการเมกะโปรเจคท์รอบนี้คือ ญี่ปุ่น ถือเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญที่มีเม็ดเงินลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง

นอกจากนี้ยังรอนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในเดือนหน้า และอาจมีข่าวดีในการประกาศความร่วมมือยุทธศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น ตามมา โดยเฉพาะการเปิดทางให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟกึ่งความเร็วสูงตาก-มุกดาหาร ขนาดราง 1.435 เมตร จากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก พร้อมกับเชื่อมการเดินทางระบบราง 4 ประเทศ เวียดนาม-สปป.ลาว-ไทย-เมียนมาร์

นอกจากสองประเทศนี้แล้ว ตลอดเดือนที่ผ่านมายังมีอีกหลายประเทศที่ได้เข้าหารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม แบบคิวแน่นเอี้ยดทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเอกอัคร ราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ที่ควงคณะผู้บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมขนส่งทางรางระดับโลก มาหารือและแสดงความสนใจจะเข้ามาเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) รวมถึงโชว์เทคโนโลยีในการวางระบบรางทั้งขนาดความกว้าง 1 เมตร และขนาดความกว้าง 1.435 เมตร

เช่นเดียวกับเอกอัครราชทูตอิตาลีสนใจลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการเดินรถไฟ ผ่านการลงทุนจากกลุ่มบริษัท อิตาเลียน กรุ๊ป หรือแม้กระทั่งบริษัท รถไฟฟ้าเอสเอ็มอาร์ที คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดินรายใหญ่ของสิงคโปร์ เสนอตัวบริหารการเดินรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่ไทยมีแผนจะสร้างในปี 2558 ขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศส สนใจโครงการรถไฟทางคู่เนื่อง จากเห็นศักยภาพในการเชื่อมโยงโครงสร้างคมนาคม

เห็นได้ว่าช่วงนี้ประเทศไทยเนื้อหอมจริง ๆ แต่ รมว.คมนาคม ยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยยังเปิดกว้างอยู่ ไม่ได้มีการล็อกสเปกอะไรให้ใคร หากประเทศไหนสนใจก็เข้ามาหารือด้วยได้ โดยรัฐบาลจะดูอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดของประเทศ แต่ในส่วนของการร่วมมือไทย-จีน นั้นถือเป็นการดำเนินการที่สืบเนื่อง จากความตกลงในอดีตที่รัฐบาลชุดก่อนเคยทำไว้กับจีน

นอกจากสองโครงการรถไฟกึ่งความเร็วสูงแล้ว รัฐบาลบิ๊กตู่ยังมีโครงการลงทุนอื่น ๆ อีกหลายโครงการที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายระบบรางในเมือง ที่จะมีการสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร มีเงินลงทุนมากกว่า 400,000-500,000 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบรถไฟระหว่างเมืองทางคู่ เพื่อเพิ่มรถไฟขนาดราง 1 เมตร จากทางเดี่ยวเป็นทางคู่ 14 เส้นทางทั่วประเทศ โดยมีเส้นทางเร่งด่วนที่พร้อมลงทุนในปี 2558 จำนวน 6 เส้นทาง รวม 903 กิโลเมตร วงเงิน 129,308 ล้านบาท

จากนี้จึงเป็นการบ้านของรัฐบาลว่า จะจัดสรรแบ่งเค้กผลประโยชน์ก้อนนี้ให้ต่างชาติอย่างไรให้ลงตัว แบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น เพราะทุกประเทศล้วนมีความสำคัญต่อไทยในเวทีระดับโลกด้วยกันทั้งสิ้น ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมสร้างความโปร่งใส รวมทั้งสามารถชี้แจงสาเหตุของการตัดสินใจเลือกประเทศที่มาลงทุนให้สังคมรับรู้ด้วย เพราะมีหลายประเด็นที่ยังคาใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดโครงการลงทุนต่าง ๆ ที่ขณะนี้เหมือนยังไม่เริ่มตั้งไข่ แต่ทำไมรัฐบาลกลับไปคุยตกลงกับต่างชาติไว้ได้แล้ว.

ทีมเศรษฐกิจ

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”