อาเซียนสู่ความมั่งคั่ง - โลกาภิวัฒน์

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

อาเซียนสู่ความมั่งคั่ง - โลกาภิวัฒน์

Post by brid.siriwan »

อาเซียนสู่ความมั่งคั่ง - โลกาภิวัฒน์

ความเจริญเติบโตที่ผ่านมาจนเป็นเศรษฐกิจร่วมใน 10 ประเทศ มีเศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับ 7 ของโลกโดยมีผู้บริโภคถึง 600 ล้านคน ซึ่งเศรษฐกิจนั้นมาจากภาคการเกษตรที่ย้ายฐานไปสู่เศรษฐกิจการผลิต

สถาบันแมคคินซีย์โกลบอลได้ทำรายงานเรื่อง อาเซียนตะวันออกเฉียงใต้เพิ่งเสร็จเดือนนี้ ได้นำเสนอ 3 แนวทางสู่ความมั่งคั่งในภูมิภาค ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

จากงานวิจัยของบริษัทแมคคินซีย์ ซึ่งได้ทำทุกภูมิภาคทั่วโลก ได้ศึกษาจากข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมในรายละเอียดที่เชื่อถือได้ของประเทศต่าง ๆ ของอาเซียน คือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้ผูกพันด้วยความหลากหลายทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และปัจจุบันก็เชื่อมโยงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายทางธุรกิจความสัมพันธ์ด้านการค้าขาย การอพยพ และใช้ทรัพยากรร่วมกัน ในระยะ 50 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งกลุ่มอาเซียนได้มีความพยายามทำงานบูรณาการร่วมกันและมีเป้าประสงค์เริ่มไปในทิศทางเดียวกัน

ความเจริญเติบโตที่ผ่านมาจนเป็นเศรษฐกิจร่วมใน 10 ประเทศ มีเศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับ 7 ของโลกโดยมีผู้บริโภคถึง 600 ล้านคน ซึ่งเศรษฐกิจนั้นมาจากภาคการเกษตรที่ย้ายฐานไปสู่เศรษฐกิจการผลิต เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ในระยะที่ผ่านมาผลิตภาพของกลุ่มประเทศยังต่ำ ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนจะต้องมีกำลังผลิตเพิ่มเป็นเท่าตัวจึงจะสามารถเข้าสู่ความมั่งคั่งได้

การจะเพิ่มกำลังการผลิตด้านเศรษฐกิจให้เป็นเท่าตัวนั้นสามารถสร้างโอกาสได้ 3 แนวทางใหญ่ คือ ประการแรก จะต้องแบ่งปันเศรษฐกิจโลกโลกาภิวัตน์ให้ได้ 280 ถึง 615 ล้านดอลลาร์ หรือ 9 ถึง 20 ล้านล้านบาทต่อปีจนถึงปี 2030 เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์มีปริมาณมหาศาล ตั้งแต่สินค้า การบริการ เงินทุน คน และข้อมูล ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนน่าจะได้อานิสงส์ที่ดี โดยเฉพาะด้านคนหรือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งจะสามารถทำให้อุตสาหกรรมการผลิตและการบริการทั้งหลายมีผลิตภาพที่ดีขึ้น และยังจะสามารถขยายฐานการผลิตอีกมากเพราะค่าแรงงานยังไม่สูงเท่าจีน หลายประเทศอยากเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน

ประการที่สอง จะต้องเกาะกระแสเมืองใหญ่ เศรษฐกิจเมืองใหญ่ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีถึง 65% ของจีดีพี และจะมีพลเมืองมุ่งเข้าสู่กรุงหรือเมืองขนาดใหญ่ถึง 90 ล้านคน ในปี ค.ศ.2030 ซึ่งจะทำให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่มีถึง 163 ล้านล้านคนในปี ค.ศ.2030 ซึ่งกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีศูนย์กลางของการค้าและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งความใหญ่ของเมืองเช่นนี้ เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ตามทันปริมาณคนที่มากขึ้น จะต้องมีการลงทุนด้าน
สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น บ้านและอาคารเชิงพาณิชย์อีกประมาณถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 210 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ในปี ค.ศ.2030 การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในภูมิภาคได้จำนวน 17 ถึง 30 ล้านล้านบาทต่อปี ในกลุ่มอาเซียน

ประการที่สาม จะต้องมีนวัตกรรมขนาดใหญ่ (Disruptive Technology) ที่ผมได้เขียนบทความอธิบายไป 10 ตอน เรื่องทุนนิยมสหรัฐอเมริกา สำหรับภูมิภาคนี้จะต้องเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานทางธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่น อินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อินเทอร์เน็ตสำหรับเชื่อมทุกสิ่ง (Inter net of Thingo) ฐานความรู้แบบอัตโนมัติ (Automation of Knowledge Work) เพื่อช่วยในการทำงาน และเทคโนโลยีคลาวด์แบบก้อนเมฆ (Cloud Technology) ซึ่งจะทำให้ได้ชีวิตในการทำงานมีความสะดวกสบาย ได้มีผลิตภาพมากขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ข้างต้นมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการค้าขายและการลงทุน ในภูมิภาคจะสามารถสร้างเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อกลุ่มประเทศอาเซียนได้ 7 ถึง 20 ล้านล้านบาทต่อปีจนถึงปี ค.ศ.2030 แต่ละประเทศมีความเจริญด้านไอซีทีมากน้อยแตกต่างกัน จึงจะต้องพยายามสร้างโครงการพื้นฐานทางไอซีทีและอินเทอร์เน็ตแตกต่างกันไป เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลสารสนเทศ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเกิดประโยชน์ต่อภูมิภาค ข้อนี้ประเทศไทยก็เริ่มแล้ว โดยใช้คำว่า “เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy)” คำอาจจะดูโบราณแต่เริ่มจากตรงนี้ถูกแล้ว

ทั้งหมดข้างต้น คือ ภาพรวม 10 ประเทศอาเซียน ส่วนของไทยจะสวมบทจับฉวยโอกาสจากความมั่งคั่งข้างต้นได้เช่นไรจะต้องคอยดูกันในอีกหลายปี ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าเป็นเช่นไร.

รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
boonmark@stamford.edu

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”