จากหิ้งสู่ห้าง : วิจัยให้ไทยเจริญ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

จากหิ้งสู่ห้าง : วิจัยให้ไทยเจริญ

Post by brid.ladawan »

?จากหิ้งสู่ห้าง : วิจัยให้ไทยเจริญ?
มาลองดูเรื่องการหาของมาขายในห้างบ้าง สิ่งที่ชี้นำความสำเร็จเชิงพาณิชย์ของผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็คือ ความต้องการของตลาด หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ความต้องการของผู้บริโภค

ทุก ๆ ประเทศให้ความสำคัญกับ ”งานวิจัย” และตั้งความหวังว่า คนที่เก่ง ๆ ของตน สามารถจะคิดค้น แก้ปัญหา หรือประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้ประเทศของตนมั่งคั่งขึ้นได้ ฝรั่งมีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศที่เจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถสร้างรายได้อย่างมากมาย

ประเทศไทยก็เช่นกัน รัฐบาลมีการลงทุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ คนเก่ง ๆ ของเราก็มีเยอะ ทำไมเราถึงไม่รวยสักที ทำไมนักวิจัยของเราถูกมองว่า ทำแต่งานเอาขึ้นหิ้ง (คือเอาไปขายไม่ได้) ทำอย่างไรจึงจะเอางานเหล่านี้ไปเข้าห้างได้บ้าง ผมก็เป็นคนหนึ่งในหมู่นักวิจัยของประเทศไทย อยากจะเล่าความคิดเห็นของผม จากประสบ การณ์งานวิจัย 20 ปีที่ผ่านมา และหวังว่าจะสร้างความเข้าใจ และร่วมคิดหาทิศทางการพัฒนางานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์ด้วยคน

ผมขอจำกัดวงว่า “งานวิจัย” ที่จะคุยกันวันนี้ เอาแค่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะเกี่ยวข้องกับการ “เอาขึ้นห้าง” โดยตรง งานวิจัยยังมีด้านที่สำคัญอย่างอื่น เช่น วิจัยนโยบาย ความสงบสุขในสังคม ฯลฯ ผมขอเล่าเรื่องธรรมชาติของงานวิจัยก่อน อยากจะตอบคำถามว่า “เราควรวิจัยเรื่องอะไร” ก่อนที่จะไปคุยกันถึงกลไกที่จะมาสนับสนุน ผมขอกล่าวถึง “วิทยาศาสตร์” ก่อน การวิจัย หมายถึง คิดค้นสิ่งใหม่ หรือศึกษาเพื่อให้เข้าใจในปรากฏการณ์บางอย่าง ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงถูกชี้นำโดยสังคมโลก เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ๆ ความรู้ที่เกิดขึ้นจึงมักจะเป็นสากล เช่น ปัญหาโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย มีผลต่อฤดูกาลและการเพาะปลูก รวมไปถึงระดับน้ำที่สูงขึ้นของทะเล ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรลดลง โยงไปถึงเรื่องพลังงานชนิดใหม่ ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง เพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อน เป็นต้น คือ ปัญหาของโลกชี้นำทิศทางของวิทยาศาสตร์

มาลองดูเรื่องการหาของมาขายในห้างบ้าง สิ่งที่ชี้นำความสำเร็จเชิงพาณิชย์ของผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็คือ ความต้องการของตลาด หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ความต้องการของผู้บริโภค เช่น เราอยากได้ยารักษาโรคมะเร็ง เราต้องการรถยนต์ที่กินน้ำมันน้อย ปัญหาของโลกกับความต้องการของตลาดมีแนวโน้มไปทางเดียวกัน แต่มักจะเหลื่อมเวลากันอยู่หลายสิบปี ปัญหาที่สำคัญมักใช้เวลาในการคิด เช่น การรักษาโรคมะเร็ง มีการวิจัยอย่างต่อเนื่องใน 40 ปีนี้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นมา แต่เรายังห่างจากความเข้าใจเพื่อบำบัดอีกช่วงใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี ถ้ามองในเชิงพาณิชย์ คงไม่ทันขายเป็นแน่

ผมอยากจะแบ่งงานวิจัยเป็นสามประเภท คือ งานที่เห็นผลในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว งานระยะสั้นเป็นงานที่ตอบโจทย์ที่เห็นได้ทันที ไม่ใช่เรื่องยากที่จะพิจารณาว่า ควรทำวิจัยอะไร งานระยะยาวเป็นงานที่ลงทุนสูง งานประเภทนี้เอาเข้าห้างยาก เพราะเหมือนเป็นงานพัฒนาคน พัฒนาชาติ พึ่งพาตนเอง อีกทั้งเป้าหมายต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย แต่ไม่ใช่จับจด (เด็กรุ่นใหม่ต้องเปิดพจนานุกรมไหม) การกำหนดเป้าหมาย ควรเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เอง โดยมีรัฐบาลเป็นผู้กำกับเป็นระยะ ทั้งนี้เพราะงานประเภทนี้ มีอายุเกินกว่ารัฐบาลชุดใดๆ ดังนั้น งานวิจัยที่เหมาะกับหิ้งสู่ห้างที่สุดน่าจะเป็นงานระยะกลาง

เราลองมาดูกลไกการคิดงานประดิษฐ์คิดค้น และนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่กัน พวกเรามักคิดกันตรง ๆ ว่า นักวิจัย มักจะฝัน หรือมีความคิดวิเศษผุดขึ้นมา จากนั้นลงมือพัฒนา จนได้ต้นแบบ ถ้ามันดีจริง ก็จะมีคนซื้อเอง ในความเป็นจริงนั้น ความต้องการของตลาดมีอิทธิพลมาก และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้ว่าตลาดต้องการอะไรจริง ๆ อีกทั้งต้องมีการลงทุนมากในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่าจะขายได้จริง ช่องว่างระหว่างความคิดดีๆ กับของที่ขายได้ กว้างมาก ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ ช่องว่างนี้ฝรั่งเรียกว่า หุบเขาแห่งความตาย (Valley of Death) ดังนั้นการจะข้ามไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อค้า หรือผู้ประกอบการนั่นเอง เขาจะเป็นคนลงทุนโดยต้องหวังผลตอบแทน

ผมอยากให้ความคิดเจ๋ง ๆ ของผม กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคนใช้เยอะแยะ ขายได้ดี ทำให้ประเทศไทยรวยขึ้น แต่ในความเป็นจริง คือ ผมเป็นนักวิจัย มีความรู้วิชาการเยอะแยะ แต่เป็นพ่อค้าที่แย่มาก เพราะไม่รู้ว่าตลาดต้องการอะไรจริงๆ อีกทั้งมีเงินไม่พอที่จะพัฒนาความคิดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อีกด้วย นอกจากนั้น การทำของขายชิ้นหนึ่ง ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ไม่ใช่เรื่องของฮีโร่คนเดียว ของที่ขายได้ดี จะผลิตจำนวนมาก โดยใช้ต้นทุนต่ำ (เพราะต้องแข่งขันในตลาด) สิ่งเหล่านี้ นักวิจัยมีความรู้และประสบการณ์น้อยมาก

หน้าที่ของรัฐ คือ สร้างชุมชนนักวิจัย-พ่อค้า ที่มีระบบเลี้ยงตัวเองได้ ระยะต้นอาจต้องให้รัฐเป็นผู้เลี้ยงชุมชนนี้ จนตั้งตัวได้เสียก่อน จนเกิดตลาดที่เกื้อหนุนกัน เช่น ผมคิดวงจรไฟฟ้าบางอย่าง ก็ต้องการจ้างคนทำ ที่ทำให้เฉพาะชิ้น และมีความรู้มากหน่อย พอที่จะทำให้ความฝันของผมเป็นจริง มีนายทุน ที่สามารถลงขันสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์ของผมได้อย่างคล่องตัว กล้าเสี่ยง โดยหวังผลตอบแทนให้คุ้ม หลังจากทำต้นแบบได้แล้ว ต้องมีการรักษาลิขสิทธิ์ มีนักกฎหมายช่วยทำสิทธิบัตร มีบริษัทการค้า ทำการขายไปต่างประเทศทั่วโลกได้

เรื่องนี้พูดกันได้ยาว ต้องขอขอบคุณภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ขอร้องกึ่งบังคับให้ผมไปพูดหัวข้อนี้ให้นิสิตบัณฑิตศึกษาฟัง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 จึงได้จับความมาเขียนเป็นบทความนี้ ผมยินดีรับฟังความเห็นจากผู้อ่าน อีเมล หรือพิมพ์ความเห็นได้เลยครับ .

ศ.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา
prabhas.c@chula.ac.th

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 5ธันวาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”