รัฐขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ชาวบ้านช้ำสินค้าราคาพุ่ง

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

รัฐขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ชาวบ้านช้ำสินค้าราคาพุ่ง

Post by brid.ladawan »

รัฐขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ชาวบ้านช้ำสินค้าราคาพุ่ง
แม้ว่ารัฐบาลต้องควักเนื้อในกระเป๋าเพิ่มขึ้นอีกรวม 24,400 ล้านบาทต่อปี แยกเป็นการเพิ่มเงินเดือน 22,900 ล้านบาทและค่าครองชีพ 1,500 ล้านบาท เพื่อคืนความสุขให้กับข้าราชการก็ตาม

ถือเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ชิ้นใหญ่จากรัฐบาล ’บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตัดสินใจปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้กลุ่มพนักงานราชการ ที่วุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 57 รวมทั้งปรับเพิ่มเงินเดือน 4-10% ให้แก่พนักงานข้าราชการกลุ่มงานบริการ เทคนิคทั่วไป บริหารทั่วไปและกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 57 จนสร้างความดีอกดีใจให้แก่บรรดาข้าราชการรวม 1.98 ล้านคน ที่ได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้

แม้ว่ารัฐบาลต้องควักเนื้อในกระเป๋าเพิ่มขึ้นอีกรวม 24,400 ล้านบาทต่อปี แยกเป็นการเพิ่มเงินเดือน 22,900 ล้านบาทและค่าครองชีพ 1,500 ล้านบาท เพื่อคืนความสุขให้กับข้าราชการก็ตาม แต่ในมุมมองของทุกฝ่ายแล้วถือว่าคุ้มค่า! เพราะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้รายได้ที่เพิ่มขึ้น แม้คำนวณออกมาเป็นตัวเลขแล้วอาจไม่มากมายนัก แต่ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้มากทีเดียว รวมทั้งอาจเจียดมาเป็นเงินออมเพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต
ที่สำคัญ..ยังมีเงินไปจ่ายคืนเจ้าหนี้ได้ โดยขณะนี้พบว่า ครอบครัวข้าราชการส่วนใหญ่มีหนี้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านบาทต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินด้านที่อยู่อาศัยมากที่สุด รองลงมาเป็นรถยนต์ การใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การลงทุนของครอบครัว และการใช้จ่ายเพื่อการศึกษา เป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด

พ่อค้าฉวยโอกาสรับอานิสงส์

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่มีข่าวคราวการปรับขึ้นเงินเดือน ไม่ใช่มีเพียงแค่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เพราะบรรดาพ่อค้าแม่ค้าต่างก็รอคอยโอกาสนี้เช่นกัน! เพราะเท่ากับว่าพ่อค้าแม่ค้าก็จะมีช่องมีโอกาสในการขึ้นราคาสินค้า หลังจากต้องแบกรับภาระต้นทุนในทุกด้านที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลได้ถือโอกาสเอาช่วงจังหวะเวลาที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างมาก มาเป็นช่วงเวลาในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่การปรับขึ้นเงินเดือนแต่ละครั้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มักตามมาด้วยกระแสข่าวการปรับขึ้นราคาสินค้าทุกครั้ง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารจานด่วน ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว และสินค้าตามตลาดสดอีกมากมาย ที่มักผสมโรงขอปรับขึ้นราคาสินค้าทุกครั้ง เพราะเป็นจิตวิทยาทางกลไกตลาดที่มองว่าเมื่อรายได้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น สินค้าจะขึ้นตาม

ชาวบ้านเดือดร้อนของแพง

ด้านกระทรวงพาณิชย์เอง ได้ออกมาสำทับตามทุกครั้ง ว่าการขึ้นเงินเดือนข้าราชการในแต่ละครั้งไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับต้นทุนราคาสินค้า แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น แต่ชาวบ้านต้องตกเป็นเหยื่อด้วยทุกครั้งไป

ยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ที่กระทรวงพลังงานปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีจากช่วงปลายรัฐบาล ’ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่เริ่มทยอยปรับราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนจาก 18.13 บาทต่อกก. มาเป็น 24.16 บาทต่อกก. ในรัฐบาล ’บิ๊กตู่“ ก็จะยิ่งเป็นข้ออ้างให้ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วไปขึ้นราคาอาหารพรวดเดียว 5-10 บาท ทั้งที่ต้นทุนแก๊สหุงต้มในการประกอบอาหารเพียง 30 สต.ต่อจานเท่านั้น

กรมการค้าภายในคุมเข้ม

ด้วยเหตุนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จึงต้องใช้กลยุทธ์เดินหน้าตรวจสอบราคาสินค้าทั่วประเทศ ไม่เว้นแต่ละวันในช่วงนี้ พร้อมทั้งเดินหน้าในการขู่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นรายวัน ทั้งการนำกฎหมายการจำหน่ายสินค้าแพงเกินควร ที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกลุ่มที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

สุดท้าย...ก็ไม่แปลกที่ได้เห็นร้านอาหารต่าง ๆ ปฏิบัติการเย้ยโดยไม่เกรงกลัวกระทรวงพาณิชย์ โดยเริ่มทยอยปรับเปลี่ยนป้ายใหม่กันจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จากสารพัดเหตุผลที่จะมาอ้างในการขึ้นราคา ขณะที่บางรายไม่มีการปิดป้ายแต่มีการขึ้นราคาสินค้า หรือบางรายนำกระดาษมาปิดตาชั่ง เพื่อปิดบังตัวเลขของน้ำหนักสินค้าเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคมองเห็น หรือพูดง่าย ๆ คือ ตั้งใจโกงผู้บริโภค

เหตุผลร้านค้าเย้ยกฎหมาย

สาเหตุหนึ่งที่บรรดาร้านอาหารรายย่อยบางรายกล้าปรับขึ้นราคาสินค้าท่ามกลางกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง และท่ามกลางความเข้มงวดในการตรวจสอบราคาสินค้าของกรมการค้าภายใน คือ ประการแรก อาหารเป็นสินค้าหลักที่ชาวบ้านจำเป็นต้องซื้อประจำวัน ประการที่สอง ผู้บริโภคต้องการซื้ออาหาร เช่น อาหารจานด่วน ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกงในบริเวณใกล้และไม่ต้องการไปซื้อไกล ๆ

ประการที่สาม ผู้บริโภคไม่ค่อยร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังมีการปรับขึ้นราคาสินค้า ประการที่สี่ กรมการค้าภายใน มักไม่ใช้กฎหมายที่เข้มงวดกับร้านค้ารายเล็ก เพราะเกรงว่าสังคมจะมองว่า ภาครัฐรังแกพ่อค้าแม่ค้าที่หาเช้ากินค่ำ ในที่สุด! มีร้านค้าหลายร้านที่ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าครั้งละ 5-10 บาท จากเหตุผลของการขึ้นเงินเดือนข้าราชการและขึ้นค่าแอลพีจี

เรื่องของการขึ้นเงินเดือนกับการขึ้นราคาสินค้า จึงกลายเป็นธรรมเนียมที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ตั้งแต่อดีตยันปัจจุบัน ดังนั้นนอกจากจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ผู้บริโภคเองก็ต้องดูแลตัวเองด้วยการสอดส่องสังเกตราคาสินค้าด้วยเช่นกันว่าตัวเองถูกเอาเปรียบหรือไม่!.

มนัส แวววันจิตร

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 12ธันวาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”