ความเสี่ยงของอีคอมเมิร์ซไทย

Post Reply
brid.kavee
Posts: 256
Joined: 05 Apr 2013, 08:51

ความเสี่ยงของอีคอมเมิร์ซไทย

Post by brid.kavee »

ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


ความเสี่ยงของอีคอมเมิร์ซไทย
« on: February 13, 2013, 10:51:35 am »

ความเสี่ยงของอีคอมเมิร์ซไทย


ข่าวใหญ่ตามหน้าสื่อตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือข่าวการขายตุ๊กตา “เฟอร์บี้” ที่มีปัญหาแม่ค้าเบี้ยวเงินกันเป็นทอดๆ จนต้องแจ้งตำรวจจับ และกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต

ความน่าสนใจของข่าวนี้อยู่ที่ว่าแม่ค้า (และพ่อค้า) ทุกรายขายตุ๊กตาเฟอร์บี้ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้เครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ ลูกค้าที่จ่ายเงินแล้วไม่ได้ของก็ใช้วิธีสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตเช่นกัน

คดีลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยนะครับ ก่อนหน้านี้เรามีข่าวการเบี้ยวเงินแบบเดียวกัน โดยเฉพาะการขายสินค้ายอดนิยมในกระแสช่วงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาบลายธ์ หรือว่าสมาร์ทโฟนหลายต่อหลายรุ่น

เราเห็นข่าวแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกปี ปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนี้คืออะไรกันแน่

ผมออกตัวก่อนว่าผมสนับสนุนการขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต หรือว่า “อีคอมเมิร์ซ” อย่างเต็มที่ เพราะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทยอีกมากมาย และเมื่อย้อนดูประวัติของอีคอมเมิร์ซที่ผ่านมาทั้งหมด พ่อค้าแม่ค้าชาวไทยมีความสร้างสรรค์สูงมาก มีการทำตลาดด้วยวิธีการต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น ทำคลิปวิดีโอแนะนำสินค้า ใช้สื่อสังคมต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการสร้างชุมชนสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้ขายและผู้ซื้อด้วยกัน มีระบบรีวิวสินค้าระหว่างกลุ่มผู้ซื้อด้วยกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ฯลฯ

สรุปได้สั้นๆ ว่าเรื่องการทำตลาด คนไทยไม่เป็นสองรองใครแน่นอน

จุดตายไปอยู่ที่ตอนจ่ายเงินครับ

การสั่งซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตของคนไทยส่วนใหญ่ ใช้วิธี “โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร” ของพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งเป็นการโอนเงินตามปกติทั่วไป ไม่ต่างอะไรกับการโอนเงินให้เพื่อนหรือคนรู้จัก โดยกระบวนการโอนมีทั้งไปที่สาขาธนาคารโดยตรง ผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือถ้าทันสมัยหน่อย เป็นหนุ่มสาวออฟฟิศก็ใช้วิธีโอนผ่านอินเทอร์เน็ต

ปัญหาคือวิธีการโอนเงินแบบนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะโอนแล้วหายต๋อมไปเลย เพราะลูกค้าไม่มีอะไรการันตีสักนิดเลยว่าเมื่อผู้ขายได้รับเงินแล้วจะส่งสินค้าให้เรา และจากคดีลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เราเห็นตัวอย่างแล้วว่าการ “อมเงิน” แล้ว “หายหัว” เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

ถ้าเป็นร้านค้ามีชื่อเสียงที่หันมาขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต การตามเงินที่โอนไปแล้วไม่ได้สินค้ายังพอทำได้ แต่การสั่งซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตที่ผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคลจดทะเบียน ไม่มีหน้าร้านให้เห็น ลูกค้าไม่เคยพบหน้า ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปอีกที่ผู้ขายจะ “ปลอมตัว” มาหลอกเงินจากลูกค้าไป (กรณีเฟอร์บี้เป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะผู้ขายนำรูปของนางแบบคนอื่นมาอ้างว่าเป็นเจ้าตัวไงครับ)

โมเดลอีคอมเมิร์ซที่ใช้วิธีโอนเงินจึงถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก ในต่างประเทศจึงมีโมเดลการซื้อขายสินค้าผ่าน “คนกลาง” ที่มีความน่าเชื่อถือสูง มีการตรวจสอบธุรกรรมที่ชัดเจน มีกระบวนการคืนเงินและคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อการสั่งซื้อสินค้ามีปัญหา ซึ่งช่วยลดปัญหาเรื่องการฉ้อโกงหรือเบี้ยวเงินไปได้มาก

บริการอีคอมเมิร์ซที่ดังๆ ของโลกก็หนีไม่พ้น eBay และ Amazon ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีระบบแบบเดียวกันมากมาย เช่น Weloveshopping, Tarad, Dealfish รวมไปถึงการซื้อสินค้าแบบกลุ่มอย่าง Ensogo เป็นต้น ระดับความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือคงไม่มีอะไรน่ากังขา

แต่การขายของผ่านบริการอีคอมเมิร์ซมืออาชีพมีจุดอ่อนอยู่ 2 ประการ อย่างแรกคือบริการแบบ eBay คิดค่าธรรมเนียมกับผู้ขายสินค้า ทำให้ผู้ขายสินค้ารายเล็กในไทยไม่ค่อยชอบนัก และยินดีขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊กหรือเว็บบอร์ด ซึ่งได้รับเงินเต็มๆ ไม่ต้องแบ่งใคร (และผู้ขายสินค้าทุกรายก็จะการันตีว่าร้านของเรา “เชื่อถือได้-ไม่โกง”)

อย่างที่สองคือวิธีการจ่ายเงินครับ บริการแบบมืออาชีพส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศที่เน้นการใช้บัตรเครดิตเป็นหลัก ซึ่งสังคมไทยเองยังมีคนถือบัตรเครดิตไม่เยอะนัก กระบวนการสมัครและอนุมัติบัตรยังยุ่งยาก และผู้ถือบัตรเครดิตจำนวนมากก็ “หวั่นกลัว” กับการจ่ายบัตรเครดิตผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุผลว่า “กลัวโดนแฮก” (แต่กลับไม่กลัวการโอนเงินไปให้ผู้ขายโดยตรง ทั้งที่เสี่ยงกว่ากันมาก อันนี้ผมก็แปลกใจเหมือนกัน)

ส่วนบริการจ่ายเงินออนไลน์ที่ไม่ต้องใช้บัตรเครดิต ลักษณะเดียวกับ PayPal ของต่างประเทศกลับไม่เกิดในเมืองไทย และกลายเป็นคอขวดให้กับการเจริญเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่ “ปลอดภัย” ไปด้วยซ้ำ ตรงนี้ผมไม่เชี่ยวชาญนัก แต่ผู้รู้บางท่านเคยให้ความเห็นว่าเกิดจากกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเองด้วย ที่ทำให้ระบบการจ่ายเงินแบบนี้ไม่ประสบความสำเร็จในบ้านเรา

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ผมจึงคิดว่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่อีคอมเมิร์ซ “นอกระบบ” (ขายผ่านเฟซบุ๊ก-จ่ายเงินด้วยการโอน) จะยังมีสัดส่วนมากเช่นเดิม และความเสี่ยงของผู้บริโภคก็ยังอยู่ในระดับสูงมากเหมือนเดิม ซึ่งตรงนี้ถ้าเราแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างไม่ได้ ก็คงเปลี่ยนแปลงสภาพจำยอมของผู้บริโภคได้ยากเช่นกัน

ระหว่างนี้ผู้บริโภคเองก็คงพึ่งใครไม่ได้นอกจากตัวเอง ยึดหลักกาลามสูตร สั่งซื้อสินค้าเฉพาะจากผู้ขายที่เชื่อถือได้ ผ่านกระบวนการจ่ายเงินที่ปลอดภัยเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญคือ “ไม่โลภ” เห็นแก่สินค้าราคาถูกจนไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่จริง ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556
มาร์ค Blognone
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”