ธปท.ห่วงเอ็นพีแอลพุ่งแตะ 2.34% เผยเห็นสัญญาณชัดเจนในสินเชื่อ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ธปท.ห่วงเอ็นพีแอลพุ่งแตะ 2.34% เผยเห็นสัญญาณชัดเจนในสินเชื่อ

Post by brid.ladawan »

ธปท.ห่วงเอ็นพีแอลพุ่งแตะ 2.34% เผยเห็นสัญญาณชัดเจนในสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ธปท. ห่วงเอ็นพีแอลเพิ่มอยู่ที่ระดับ 2.34% ยอมรับเกิดจากเศรษฐกิจชะลอตัว โดยพบว่ามีสัญญาณชัดในสินเชื่ออุปโภคบริโภค

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้สินเชื่อชะลอลง โดยโตเพียงร้อยละ 5 ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2557 และคุณภาพสินเชื่อด้อยลงบ้าง โดยระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.15 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 2.34 ในไตรมาส 3 ปี 2557

โดยเฉพาะ NPL สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.20 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.65 ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอลง แต่ทาง ธปท. ได้ให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการกันสำรองให้มากขึ้นโดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.35 เท่าต่อ NPL ดังนั้น จึงมีเพียงพอสำหรับการดูแลคุณภาพ NPL แน่นอน อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 1/58 ตัวเลข NPL ยังเพิ่มขึ้น แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว และคาดทรงตัวในปีนี้

“ธปท.ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพสินเชื่อรายย่อย และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อการบริโภคในประเทศที่อาจด้อยลงจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่ รวมทั้งความกังวลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวนเพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเปราะบาง และนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศหลักมีแนวโน้มแตกต่างกัน”

ส่วนในปี 2558 ที่คาดการณ์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 4 ทำให้ธนาคารพาณิชย์จะสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายการให้สินเชื่อโตร้อยละ 7 โดยสินเชื่อธุรกิจที่จะขยายตัวได้ดี คือ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะมุ่งสู่การเป็นดิจิตอลแบงกิ้ง ลดต้นทุนของธนาคาร ขยายฐานลูกค้า รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากปริมาณธุรกรรมที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และป้องกันการทุจริต

นอกจากนี้ ธปท.ได้ทำการทดสอบภาวะวิกฤตเพื่อประเมินฐานะ และความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับภาวะวิกฤตได้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ขยายตัว 2 ปีติดต่อกัน แต่ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึงร้อยละ 14.8 และหากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบในเชิงลบจนประเทศถูกลดอันดับลง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงก็ยังสูงถึงร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่อยู่ที่ร้อยละ 15.6


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 15 มกราคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”