?ศูนย์วิจัยฯคาดกนง.คงดอกเบี้ย?

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

?ศูนย์วิจัยฯคาดกนง.คงดอกเบี้ย?

Post by brid.ladawan »

?ศูนย์วิจัยฯคาดกนง.คงดอกเบี้ย?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินกนง.นัดแรกปีแพะ ตรึงดอกเบี้ยรอดูเศรษฐกิจ หวังเบิกจ่ายรัฐกระตุ้นบริโภค


รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันที่28 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นนัดแรกของปี 58 คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2 % เพื่อรอดูพัฒนาการของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในช่วงปลายปี57 ที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน นำโดยการบริโภคสินค้ากลุ่มไม่คงทน เป็นผลจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคการเกษตรยังดีอยู่สำหรับด้านการลงทุนภาคเอกชนนั้น การผลักดันการลงทุนของภาครัฐผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจะช่วยให้การลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น

“แม้แรงกดดันเงินเฟ้อจะคลายตัวลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกแต่ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งไม่น่าจะมีนัยต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินของกนง. ในระยะสั้นมากนัก นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดว่าการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวที่1.0-2.2% เทียบกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ของธปท. ที่ 1-4% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5%และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในกรอบ 3.5-4.5%”

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเช่น การใช้จ่ายของภาครัฐในช่วง 1-2เดือนข้างหน้าสามารถทำได้ตามเป้าหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน 4.49 แสนล้านบาท ซึ่งในไตรมาสแรกของปีงบประมาณอาจจะยังต่ำกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากอยู่ในช่วงของการทำสัญญาและเริ่มเบิกจ่ายรวมถึงการฟื้นตัวของภาคการบริโภคว่าจะมีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงจะช่วยสร้างอานิสงส์ต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนอย่างไรก็ตาม กลไกการส่งผ่านไปยังราคาสินค้าอื่นๆที่จะช่วยเกื้อหนุนการบริโภคยังไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจนเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคยังน่าจะถูกกดดันจากระดับหนี้ภาครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงรวมทั้ง ราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำอาจจะส่งผลต่อการบริโภคในต่างจังหวัด

นอกจากนี้ต้องดูการฟื้นตัวของการส่งออกเพราะยังได้รับแรงกดดันเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมทั้ง ผลของการสิ้นสุดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือจีเอสพียุโรป ที่อาจกระทบความต้องการสินค้าไทยของผู้นำเข้ายุโรป ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศที่ต้องติดตามเช่น ความผันผวนในตลาดการเงินโลก และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดซึ่งอาจกระทบต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดการเงินโลก

“ระยะสั้นและระยะ กลาง เหตุการณ์สำคัญในต่างประเทศ จะนำไปสู่ความผันผวนในตลาดการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็นท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในต่างประเทศที่จะเริ่มมีความแตกต่างกันมากขึ้น วิกฤตการณ์ในรัสเซียและการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดซึ่งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้และเหตุการณ์ดังกล่าวในต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในประเทศเพิ่มขึ้นก็ยังมีโอกาสที่ กนง. อาจจะพิจารณาทางเลือกในการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต”



ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 20 มกราคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”