รัฐยกธงเปิดสัมปทานปิโตรฯ หวั่นแรงต้านเขย่าเก้าอี้ล้ม..

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

รัฐยกธงเปิดสัมปทานปิโตรฯ หวั่นแรงต้านเขย่าเก้าอี้ล้ม..

Post by brid.ladawan »

รัฐยกธงเปิดสัมปทานปิโตรฯ หวั่นแรงต้านเขย่าเก้าอี้ล้ม..

นอกจากนี้ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของเครือข่ายภาคประชาชนที่ออกมาคัดค้าน เพราะยังตอบคำถามไม่ได้ว่า การนำทรัพยากรของคนไทยทั้งประเทศ

ในที่สุด “ณรงค์ชัย อัครเศรณี” รมว.พลังงาน ได้จรดปากกาลงนามยกเลิกประกาศการเปิดให้ภาคเอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามคำสั่งของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปิดทางให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ก่อนตัดสินใจเดินหน้ารอบใหม่อีกครั้งหรือไม่ ตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลก็ยอมถอยมาแล้วด้วยการเลื่อนเวลาปิดการยื่นสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จากเดิมวันที่ 18 ก.พ. ไปเป็นวันที่ 16 มี.ค. นี้

นอกจากนี้ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของเครือข่ายภาคประชาชนที่ออกมาคัดค้าน เพราะยังตอบคำถามไม่ได้ว่า การนำทรัพยากรของคนไทยทั้งประเทศ ไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า หรือให้ประโยชน์เพียงแค่คนบางกลุ่มหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการแก้ไขกฎหมาย เปิดทางให้ผลประโยชน์กับภาครัฐมากขึ้น

งานนี้ได้ยินมาว่า ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานบางราย หลังได้ยินข่าวการเลื่อนสัมปทานจึงออกอาการ “แทบเป็นลม” ทีเดียว

ก่อนหน้านี้ย้อนหลังไม่ถึง 2 เดือน ท่าทีของนายกฯ “บิ๊กตู่” ออกอาการขึงขัง ส่งสัญญาณชัดเจนว่า รัฐบาลจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ที่ฟันธงหากไม่ประกาศเปิดสัมปทานรอบใหม่ ไทยจะมีความเสี่ยงด้านพลังงานในอนาคต เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดไปใน 7 ปีข้างหน้า ขณะที่ “ณรงค์ชัย อัครเศรณี” รมว.พลังงาน ได้ย้ำชัดกลางวงเวทีเสวนา “เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน” ทั้งที่ยังไม่จบดีว่า กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ต่อไป

แต่ในที่สุด...ทุกอย่างต้องชะลอออกไป แบบมีกำหนดเวลาภายใน 3 เดือน รวมทั้งยังไม่รู้ทิศทาง ว่า สนช.จะตัดสินใจเลือกทางเดินอย่างไร?

หวั่นต่อต้านขยายวงกว้าง

เรื่องนี้...“วงใน” ได้เปรียบเปรยให้เห็นว่าการที่นายกฯ บิ๊กตู่ สั่งชะลอเรื่องการเปิดสัมปทานฯออกไปนี้ เท่ากับเป็นการล้ม! เป็นการพับแผน! เปิดสัมปทานฯ

สาเหตุสำคัญเป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล ได้รายงานให้เห็นถึงกระแสการต่อต้านว่ากำลังขยายวงกว้างขึ้นต่อเนื่อง หากบิ๊กตู่ยังคงทู่ซี้ต่อไป อาจเป็นภัยกับเก้าอี้รัฐบาลเอง เพราะควบคุมได้ยาก เห็นได้จากตัวละครที่ออกมาแสดงพลังต่อต้านไม่ใช่ “หน้าเดิม” แต่เป็นหน้าใหม่ ทั้งอดีตนายกฯอย่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หรือจะเป็นอดีต รมว.คลัง อย่าง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” หรืออดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร “อาทิตย์ อุไรรัตน์” รวมไปถึงอดีต รมว.การต่างประเทศ อย่าง “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ” รวมทั้งยังมีการเปิดเวทีแสดงความเห็นคัดค้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทำไมต้องเปิดสัมปทานรอบ 21?

เหตุผลที่ทำให้กระทรวงพลังงานย้ำนักย้ำหนาที่ต้องเปิดสัมปทาน รอบที่ 21 เพราะจัดหาพลังงานได้ไม่พอกับความต้องการใช้ โดยเฉพาะ “ก๊าซธรรมชาติ” วันหนึ่งไทยใช้ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่สามารถผลิตได้ภายในประเทศเพียง 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ได้มาจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย 700-800 ล้านลูกบาศก์ฟุต และนำเข้าก๊าซจากเมียนมาร์ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งในปัจจุบันต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี วันละประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในแต่ละวัน

กระทบค่าไฟพุ่งกระฉูด

ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาใช้ผลิตไฟฟ้าถึง 60-70% หากเปรียบเทียบราคาก๊าซในอ่าวไทยอยู่ที่ประมาณ 240-245 บาท ต่อ 1 ล้านบีทียู ขณะที่ราคาก๊าซนำเข้าจากเมียนมาร์อยู่ที่ประมาณ 380–385 บาท ต่อ 1 ล้านบีทียู

ส่วนราคาแอลเอ็นจีอยู่ที่ 540-545 บาท เพราะฉะนั้นหากไม่สำรวจก๊าซฯ ในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น และหมดลงอีก 7 ปี เท่ากับว่า ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี เพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจะต้องเพิ่มมากอีกเท่าตัวแน่นอน สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือความต้องการใช้ที่จะเติบโตต่อเนื่อง โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เคยทำบทวิเคราะห์ว่า ในปี 61 ถ้าไทยไม่สำรวจพัฒนาเพิ่มจำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีถึงวันละประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตทีเดียว

นอกจากนี้การเปิดให้สัมปทานไปแล้ว 20 รอบ นับตั้งแต่ปี 2514 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งปกติห่างกันเพียง 1–2 ปี และแหล่งปิโตรเลียมถูกค้นพบในสัมปทานรอบที่ 1 คิดเป็น 65% ขณะที่รอบอื่น ๆ มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ มีลักษณะแหล่งเป็นกระเปาะ ๆ ไม่ได้เป็นแหล่งใหญ่ และการเปิดสัมปทานรอบที่ 18, 19, 20 มีการสำรวจพบปิโตรเลียมน้อยมาก โดยเฉพาะครั้งสุดท้ายรอบที่ 20 ในปี 2550 การเปิดสัมปทานมีพื้นที่รวม 354,789 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) แต่พบปิโตรเลียมที่คุ้มค่าเพียงพอที่จะผลิตเพียงแหล่งเดียว เป็นพื้นที่เพียง 1,513 ตร.กม. เท่านั้น

กระทรวงพลังงานจึงต้องเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพราะผ่านมาแล้ว 8 ปี ด้วยระบบสัมปทานไทยแลนด์ ทรีพลัส รวม 29 แปลง ประกอบด้วยแปลงบนบก 23 แปลง แบ่งเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง 6 แปลง พื้นที่รวม 5,458 ตร.กม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 แปลง พื้นที่รวม 49,196 ตร.กม. และในทะเลอ่าวไทย 6 แปลง พื้นที่รวม 11,808 ตร.กม. ซึ่งตามขั้นตอนตั้งวันให้สัมปทาน สำรวจ พัฒนา จนผลิตก๊าซได้ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 9 ปี

เปิดจุดอ่อนต้องแก้กฎหมาย

ส่วนประเด็นการแก้ไขกฎหมายของสนช. นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในฐานะผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึง “บิ๊กตู่” เพื่อให้ชะลอเปิดสัมปทานฯ ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงเหตุผลความจำเป็นว่า การจะเปิดสัมปทานรัฐต้องเร่งทำในเรื่องของการปิดจุดอ่อนของระบบปัจจุบัน ด้วยการเพิ่มอำนาจต่อรองภาครัฐ ทำให้การจัดการพลังงานรัฐได้ประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันประโยชน์ที่ได้มาต้องจัดสรรให้เป็นธรรมต่อประชาชน รวมไปถึงการดูแลคุ้มครองสิทธิประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่สำคัญต้องเพิ่มทางเลือกให้รัฐสามารถใช้ระบบอื่นนอกจากสัมปทานได้

จุดต่างระบบสัมปทาน–พีเอสซี

แต่สิ่งหนึ่ง...ที่กระทรวงพลังงานยังยืนยันระหว่างรอ สนช. แก้ไขกฎหมายนั้น คือ การเปิดสำรวจรอบใหม่ ระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุด ณ เวลานี้ คือ ระบบไทยแลนด์ทรี พลัส ที่จะแตกต่างจากไทยแลนด์ทรีของเดิม เพราะมีการเรียกเก็บผลประโยชน์ให้กับรัฐบาลเพิ่มเติม (ดูตารางประกอบ) ส่วนสาเหตุที่ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ณ เวลานี้ เพราะจากข้อมูลการสำรวจพบว่า ปิโตรเลียมในไทยมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่หลุมมีลักษณะเป็นกระเปาะเล็ก ๆ เท่านั้น จึงต้องใช้ระบบสัมปทานที่ปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน และรับผิดชอบเอง เพื่อไม่ต้องให้รัฐแบกรับความเสี่ยงด้วย เพราะหากใช้ระบบพีเอสซี รัฐบาลก็ต้องจัดหาแหล่งเงินไปร่วมลงทุน โดยในแต่ละหลุมสำรวจต้องใช้เงินขั้นต่ำ 100-300 ล้านบาท และหากไม่พบปิโตรเลียม ก็เท่ากับว่า นำงบประมาณประเทศไปเผาเล่นทันที จึงมองว่า อาจได้ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป

ชี้รัฐสำรวจเองไม่คุ้มทุน

สำหรับกรณีที่มีภาคประชาชนเสนอให้ภาครัฐสำรวจ หรือจ้างสำรวจปิโตรเลียมเอง แล้วค่อยนำผลนั้นมาเปิดสัมปทานต่อ “พวงทิพย์ ศิลปะศาสตร์” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงว่า อยากให้มองการเปิดสัมปทานรอบที่ 20 ซึ่งมี 28 แปลงล่าสุด พบศักยภาพเพียงแปลงเดียวในเชิงพาณิชย์ มีค่าสำรวจรวม 16,000 ล้านบาท ถามว่า ถ้าวันนี้รัฐสำรวจ เงินที่สูญไปนี้จะมาจากไหน และตามหลักแล้วเอกชนสำรวจ ก็ต้องการจะผลิตเองอยู่แล้ว การที่รัฐสำรวจและเปิดให้เอกชนมายื่นผลิตจะไม่จูงใจให้เอกชนเข้ามาแน่นอน

ส่วนผลกระทบการยกเลิกการเปิดสัมปทาน รอบใหม่ นั้นเกิดขึ้นทันที เพราะบรรดานักลงทุนต่างเกิดอาการงง! ว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะการลงทุนปิโตรเลียม ไม่ใช่เล่นขายของ การลงทุนแต่ละครั้งต้องใช้เงินเป็นหลักพันล้านหมื่นล้านบาท ต้องมีการวางแผนระยะยาว ที่สำคัญหากไม่สามารถเปิดสัมปทานฯได้ในรัฐบาลพิเศษชุดนี้ เชื่อได้ว่า...อนาคตคงมองไม่เห็น หากต้องฝากไว้กับนักการเมือง

เอกชนขยาดนโยบายรัฐ

ขณะที่ “เจน นำชัยศิริ” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) มองว่า หากสนช.พิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้ตามกรอบเวลาที่กำหนด จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม และความมั่นคงด้านพลังงาน แต่หากการแก้ไขกฎหมายล่าช้า เกินกรอบเวลาที่กำหนด และไม่สามารถเปิดทันรัฐบาลชุดนี้ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพราะค่าไฟแพงขึ้นจากการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี มาผลิตไฟฟ้า จากหน่วยละ 4 บาท อาจขึ้นเป็นหน่วยละ 5–6 บาท ส่งผลกระทบให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย ส่วนใช้ระบบสัมปทาน หรือระบบพีเอสซีนั้น เอกชนไม่ขัดข้อง เพราะขอให้มีการเปิดรอบที่ 21 แต่รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบ และหวังว่าภาครัฐควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ในระหว่างที่ไทยไม่สามารถเดินหน้าสัมปทานครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากมีราคาที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงอื่น

เรียกได้ว่า ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อีก 3 เดือนข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ระหว่างแค่เกมซื้อเวลา ลดกระแสแรงต้าน หรือเข้าสู่ยุคปฏิรูปพลังงานอย่างแท้จริง ที่สำคัญกฎหมายใหม่จะสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ภาครัฐ กับความคุ้มค่าการลงทุนของภาคเอกชนอย่างไร... เพราะงานนี้เดิมพันด้วย ’ความมั่นคงทางพลังงานไทยในอนาคต“ ทีเดียว.

ทีมเศรษฐกิจ

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 3 มีนาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”