ทุกสิ่งอินเทอร์เน็ต

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ทุกสิ่งอินเทอร์เน็ต

Post by brid.ladawan »

ทุกสิ่งอินเทอร์เน็ต

การที่ทุกสิ่งสามารถต่อกับอินเทอร์เน็ต ก็หมายถึงว่าอุปกรณ์สามารถสื่อสารส่งข้อมูลถึงกันโดยอัตโนมัติ ต่อเนื่องตลอดเวลา

อินเทอร์เน็ตเกิดจากการวิจัยในอเมริกาในยุค 1960 และมีการใช้งานเชื่อมต่อมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกันในยุค 1980 จนกลายมาเป็นอินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบันราว ๆ 1990 จากนั้นก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด เริ่มจากการต่อด้วยสายโทรศัพท์ และใยแก้วนำแสง และเพิ่มเติมมาเป็นไร้สาย เติบโตตามโทรศัพท์มือถือที่เห็นในปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 2014 โทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า สมาร์ทโฟน มีผู้ใช้ถึง 1,200 ล้านเครื่อง เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 23% ในประเทศจีน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 649 ล้านคน โดยที่ 86% ใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ

สิ่งที่จะเกิดตามมาในอนาคตอันใกล้ คือ อุปกรณ์ทุกชนิดจะสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ และจะทำให้เกิดการใช้งานแบบใหม่ ที่เป็นประโยชน์กับหมู่มวลมนุษย์ในทุกด้าน ทั้งการศึกษา การดำเนินชีวิต การจราจร และสาธารณสุข เป็นต้น ฝรั่งเรียกแนวโน้มนี้ว่า Internet of Things ผมขอเรียกว่า ทุกสิ่งอินเทอร์เน็ต

การที่ทุกสิ่งสามารถต่อกับอินเทอร์เน็ต ก็หมายถึงว่าอุปกรณ์สามารถสื่อสารส่งข้อมูลถึงกันโดยอัตโนมัติ ต่อเนื่องตลอดเวลา ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งมีสายและไร้สาย ทำให้เรามีข้อมูลมากมายมหาศาลที่หลั่งไหลสู่กันตลอดเวลาในทุก ๆ เรื่อง จะเกิดผลให้สังคมมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานอย่างใหญ่หลวงมีประสิทธิภาพ และคุณภาพมากขึ้น

ผมขอยกตัวอย่าง เริ่มจากจุดเล็ก ๆ คือ ตัวเราจนขยายใหญ่ออกไปสู่สังคม ยกตัวอย่างอุปกรณ์สวมใส่ในปัจจุบัน ที่สามารถวัดข้อมูลสุขภาพเราหลายอย่าง เช่น ก้าวการเดิน การเคลื่อนไหว อัตราเต้นหัวใจ ความดันโลหิต ลองคิดดูว่า ถ้าข้อมูลเหล่านี้ นอกจากเก็บอยู่ในอุปกรณ์ ซึ่งผู้สวมใส่สามารถดูข้อมูล และตัดสินใจดูแลสุขภาพของตนเองได้แล้ว ข้อมูลเหล่านี้ยังถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพของเราอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แพทย์และพยาบาลที่โรงพยาบาลสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้วิเคราะห์สุขภาพของเรา และส่งคำแนะนำ คำเตือน เกี่ยวกับสุขภาพของเราได้อย่างทันเวลาเช่นกัน รวมถึงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันที ซึ่งดีกว่าในปัจจุบัน เพราะมีข้อมูลสุขภาพของเราอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา การให้ความช่วยเหลือจะทันเหตุการณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลเหล่านั้น คงไม่สามารถให้คนนั่งดูได้ แต่จะมีโปรแกรมฉลาด คอยเฝ้าสังเกต และแจ้งบุคลากรการแพทย์เมื่อจำเป็น ถ้ามองภาพกว้างออกไป ข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยทุกคนที่มีต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้การบริหารแพทย์ พยาบาล จ่ายยาในโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบันหลายสิบเท่า

นอกจากข้อมูลที่ติดตัวบุคคลแล้ว เราลองมาดูข้อมูลจากบ้านอาคารที่อยู่อาศัยกันบ้าง ถ้ามิเตอร์ไฟฟ้าตามบ้านส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตไปให้ผู้ให้บริการไฟฟ้า (การไฟฟ้าฯ นั่นเอง) อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา การบริหารการผลิตไฟฟ้าย่อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทันเหตุการณ์ ถ้าข้อมูลภาพรวมการใช้ไฟฟ้าในบ้านของเรา สามารถดูได้เข้าใจง่าย พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้อยู่อาศัยก็ย่อมจะดีขึ้นแน่นอน ลองขยายภาพนี้เป็นหมู่บ้าน ชุมชน ก็จะเห็นประโยชน์ที่ตามมา ลองขยายความคิดนี้ไปยังน้ำประปา สาธารณูปโภค จะเห็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งาน

ลองนึกถึงข้อมูลจราจรที่ถูกต้องแม่นยำ เวลาที่รถเมล์จะเข้ามาถึงป้ายที่เรารออยู่ ข้อมูลจำนวนผู้คนในสถานที่แออัด เช่น ศูนย์การค้า การที่ได้เห็นข้อมูลเหล่านี้ ทำให้การตัดสินใจในชีวิตประจำวันของเราดีขึ้น วางแผนการใช้เวลา หรือเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทุกสิ่งอินเทอร์เน็ต เป็นของใหม่ที่กำลังจะเกิดในสองสามปีนี้ คำถามที่จะตามมาก็มีหลายเรื่อง เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยต่อการพัฒนา ก็คือ อินเทอร์เน็ต ต้องเร่งพัฒนาให้มีการเชื่อมต่อทั่วถึงและมีความเร็วพอ และมีเสถียรภาพ เทคโนโลยีไร้สาย เช่น 4G และอนาคตอันใกล้ 5G ต้องมีการพัฒนาในทันเวลา เพราะโลกหมุนไป เราก็ควรก้าวตามอย่างมีความรู้ และเลือกใช้อย่างมีวิจารณญาณ การไม่พัฒนา ไม่ใช่ทางเลือก

ปัญหาเรื่องเทคนิคที่สลับซับซ้อน คือ เรื่องมาตรฐานที่ให้อุปกรณ์ทั้งหลายทุกชนิด คุยกันได้อย่างเข้าใจกัน และมีประสิทธิภาพ เพราะคำว่า “ทุกอย่าง” ทำให้ปวดหัวอยู่ว่า จะคุยกันอย่างไร ประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็น มีการคาดการณ์ไว้ว่าจำนวนอุปกรณ์ที่จะคุยกับอินเทอร์เน็ตจะมากกว่าโทรศัพท์มือถือที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันถึง 10 เท่า แล้วจะเอาช่องคลื่นสัญญาณที่ไหนมาให้พอใช้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลที่เป็นเรื่องใหญ่โตของโลกในปัจจุบัน เราคงต้องทำให้มั่นใจว่า ไม่มีใครมา Shutdown เมืองใหญ่ในประเทศไทยได้ จะต้องทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย

บทความนี้เป็นชิ้นหนึ่งในชุดบทความบิ๊กดาต้า หรือเรียกแบบลิเกว่า อภิมหาข้อมูล ซึ่งทีมผู้เขียนตั้งใจจะนำเสนอเรื่องต่าง ๆ ต่อเนื่องสลับกันไป เช่น การทำเหมืองข้อมูล โปรแกรมฉลาดที่เรียนรู้จากข้อมูลได้ การวิเคราะห์เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น ท่านผู้อ่านสามารถขอให้เขียนเรื่องที่อยากรู้ได้ ส่งอีเมลมาที่ผมครับprabhas@chula.ac.th

ขอประชาสัมพันธ์หลักสูตรที่ภาควิชาสักเล็กน้อย ขณะนี้เปิดรับสมัครปริญญาโท ปริญญาเอก หลักสูตรวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยเน้นเรื่องอภิมหาข้อมูล ขอเชิญผู้ที่สนใจสอบถามที่ภาควิชาได้ครับ http://www.cp.eng.chula.ac.th/

ศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 6 มีนาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”