สธ. เตือน ภาชนะโฟม เสี่ยง ′มะเร็ง′ ชายอาจเป็นหมัน หญิงมีครรภ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

สธ. เตือน ภาชนะโฟม เสี่ยง ′มะเร็ง′ ชายอาจเป็นหมัน หญิงมีครรภ

Post by brid.ladawan »

สธ. เตือน ภาชนะโฟม เสี่ยง ′มะเร็ง′ ชายอาจเป็นหมัน หญิงมีครรภ์เด็กเสี่ยงดาวน์ซินโดรม


กรมอนามัย เร่งรณรงค์ลด ละ เลิก ใช้โฟมบรรจุอาหาร ชี้ใช้บ่อยเสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง ตั้งเป้าส่งเสริมให้ร้านค้าใช้ภาชนะที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ฟื้น′ใบตอง ใบบัว′ห่อข้าว-ขนม

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย กับ 14 องค์กรภาคเอกชน อาทิ บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด สมาคมตลาดสดไทย สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจอาหารและสปาไทย เป็นต้น

นพ.พรเทพกล่าวว่า ผู้ประกอบการค้าอาหารมักนิยมใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารปรุงสำเร็จ เช่น ข้าวผัด ผัดกะเพรา กระเพาะปลา ก๋วยเตี๋ยว เนื่องจากสะดวก ใช้ง่าย รวดเร็ว และราคาถูก แต่การนำภาชนะโฟมมาบรรจุอาหารร้อนต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากโฟมสัมผัสกับอาหารร้อนจัดเป็นเวลานานจะทำให้เสียรูปทรง เกิดการหลอมละลาย ทำให้สารเคมีที่อยู่ในเนื้อโฟมซึ่งมองไม่เห็นปนเปื้อนออกมาอยู่ในอาหารจนเกิดการสะสมในร่างกาย โดยสารเคมีอันตรายมี 3 ชนิด ได้แก่ 1.สารสไตรีน (Styrene) เป็นสารก่อมะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก มีผลต่อสมองและเส้นประสาท ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ระบบฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ทำให้มีปัญหาต่อมไทรอยด์และประจำเดือนในสตรีผิดปกติ 2.สารเบนซิน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน สารชนิดนี้ละลายได้ดีในน้ำมัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นแรง หากได้รับสารชนิดนี้เป็นเวลานาน ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากสารเบนซินจะทำลายไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลง และ 3. สารพทาเลท (Phthalate) เป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ผู้ชายเป็นหมัน หากเป็นหญิงมีครรภ์ลูกอาจมีอาการดาวน์ซินโดรมและอายุสั้นได้ ทั้งนี้ การละลายของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้จะมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ อุณหภูมิอาหาร ไขมันในอาหาร และระยะเวลาที่อาหารสัมผัสกับภาชนะโฟม โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารประเภทผัด ทอด จะทำให้สารสไตรีนละลายออกมาได้มากกว่า

"รัฐบาลโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีนโยบายเร่งจัดการอันตรายจากโฟมที่ใช้สำหรับบรรจุอาหาร และได้มอบให้กรมอนามัยรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร โดยเริ่มในพื้นที่ สธ.ซึ่งสามารถเลิกใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารได้ 100% เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 และปีนี้ได้ขยายรณรงค์ไปยังหน่วยงานในสังกัด สธ.ทั่วประเทศ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ฯลฯ อีกทั้งจะรณรงค์การใช้วัสดุธรรมชาติดั้งเดิม เช่น ใบตอง ใบบัวห่อข้าวหรือขนมทดแทน และส่งเสริมให้ใช้ภาชนะที่ผลิตจากชานอ้อย ชานอ้อยผสมเยื่อไผ่ มันสำปะหลัง เนื่องจากวัสดุเหล่านี้เป็นสารอินทรีย์ ย่อยสลายตามธรรมชาติใน 45 วัน" นพ.พรเทพกล่าว


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 06 มีนาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”