รัฐไล่บี้เก็บภาษี‘ที่ดิน-บ้าน’ ลดเหลื่อมล้ำหรือซ้ำเติม...?

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

รัฐไล่บี้เก็บภาษี‘ที่ดิน-บ้าน’ ลดเหลื่อมล้ำหรือซ้ำเติม...?

Post by brid.ladawan »

รัฐไล่บี้เก็บภาษี‘ที่ดิน-บ้าน’ ลดเหลื่อมล้ำหรือซ้ำเติม...?

เรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้บรรดา ครม.ทุกชุดต่างพยายามจะนำภาษีนี้ขึ้นมาเป็นนโยบายหลัก แต่สุดท้าย! ก็ถูกวางเฉย ไม่มียุคใดสมัยใดทำได้สำเร็จ

กลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” อีกครั้ง กับ... ความพยายามเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ “รัฐบาลนายพล” ที่ทำให้สังคมทุกชั้นวรรณะ ต่างส่งเสียงเซ็งแซ่... เพราะเหมือนกำลังถูกซ้ำเติมให้มีภาระเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางภาวะข้าวยากหมากแพงในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้บรรดา ครม.ทุกชุดต่างพยายามจะนำภาษีนี้ขึ้นมาเป็นนโยบายหลัก แต่สุดท้าย! ก็ถูกวางเฉย ไม่มียุคใดสมัยใดทำได้สำเร็จ เพราะบรรดาคลื่นใต้น้ำที่มีอำนาจ ต่างสร้างแรงต้าน...ขัดขวางกันถ้วนหน้า

ความพยายามจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง...ในรอบนี้จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายอีกครั้ง ว่า รัฐบาลนายพลจะสามารถใช้อำนาจพิเศษทำคลอดกฎหมายฉบับนี้ออกมาได้หรือไม่?

หวังลดเหลื่อมล้ำ

สาเหตุหลักที่รัฐบาลต้องการเข็นร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมาให้ได้ ก็เพราะต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของสังคม โดยเฉพาะการไล่เก็บภาษีของผู้ที่มีที่ดินมาก และไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะจะช่วยให้รัฐบาลลดภาระภาษีจากส่วนกลาง และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พึ่งพาตัวเอง ได้มากขึ้น โดยประเมินหากมีการปฏิรูปการเก็บภาษีที่ดิน รัฐจะจัดเก็บรายได้มากกว่าปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลแต่ละปีที่มีจำกัด จากการจัดเก็บภาษีที่ต่ำกว่าเป้าหมาย รวมถึงงบประมาณที่ใช้ดูแลประชาชนรากหญ้ามีไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งจัดเก็บภาษี ด้วยการเลือก ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาใช้แทนกฎหมายเดิม 2 ฉบับ ที่ไม่สามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย ทั้ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ที่เก็บค่าเช่าที่เจ้าของทรัพย์สินได้รับในแต่ละปี “ค่ารายปี” และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ที่จัดเก็บภาษีด้วยการนำราคาปานกลางของที่ดิน ปี 21-24 เพื่อประเมินภาษีบำรุงท้องที่ถือเป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีในอนาคตให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ภาระเพิ่มถ้วนหน้า

แต่การจัดเก็บภาษีตามโครงสร้างใหม่ อาจทำให้เจ้าของผู้ที่มี “ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า ทั้งผู้มีรายได้น้อยหรือมาก แต่ผู้มีรายได้มากย่อมกระทบน้อย เพราะมีความสามารถในการชำระภาษีมากกว่า แต่ที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีที่ดินไว้เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพจริง ๆ อาจได้รับผลกระทบพอสมควร เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมาที่ไม่ต้องจ่ายภาษี ส่วนการถือครองที่ดินแต่ปล่อยรกร้างไม่ได้ทำประโยชน์ ก็อาจสะดุ้งอยู่เหมือนกัน เพราะเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ยากเกินจะหลีกเลี่ยง!!

ดังนั้น การเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศ แต่เห็นได้ว่ากฎหมายนี้ได้รับการต่อต้านตั้งแต่เศรษฐี นักธุรกิจ และคนทั่วไปที่มีบ้านอยู่อาศัย ที่ต่างกังวลจะต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น

เปิดแผนการจัดเก็บ

เห็นได้จากแนวโน้มอัตราการจัดเก็บ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ทีแรกรัฐทำท่ากำหนดไว้ในอัตราสูง แต่ต่อมาเมื่อเกิดกระแสเชิงลบจากสังคม ทำให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังต้องถอยมาหนึ่งก้าว ด้วยการปรับลดเพดานภาษีลงเกือบครึ่ง ส่งผลให้อัตราภาษีล่าสุด ประกอบด้วย ที่ดินเพื่อการเกษตร เพดานจัดเก็บใหม่เป็นอัตรา 0.25% จากเดิมอยู่ที่ 0.50% ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยเพดานจัดเก็บใหม่เป็น 0.50% จากเดิม 1% และที่ดินเพื่อการพาณิชย์จัดเก็บใหม่ 1% จากเดิม 2% ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพดานจัดเก็บใหม่เป็น 2% จากเดิม 4% และหากไม่ใช้ประโยชน์จะเริ่มเก็บที่อัตรา 0.5% และเพิ่ม 1 เท่าตัวทุก 3 ปี

อย่างไรก็ดี ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะผ่อนผันยังไม่เก็บภาษีอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง เพื่อให้กรมธนารักษ์ประเมินที่ดินรายแปลงทั้งหมด 32 ล้านแปลงให้ได้ครบ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการจัดทำแผนที่ดิจิตอลของกรมที่ดิน หากแผนที่ดิจิตอลสมบูรณ์ เชื่อว่าการประเมินที่ดิน 25 ล้านแปลงทั่วประเทศ จะทำได้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด เพราะปัจจุบันกรมฯได้ดำเนินการประเมินที่ดินรายแปลงแล้วเสร็จเพียง 8 ล้านแปลงเท่านั้น

ไม่เกิน 3 ลบ.จ่าย 50%

ขณะที่เกณฑ์ยกเว้นภาษีที่ดินและบ้านสำหรับอยู่อาศัยที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนบ้านที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท จะเก็บภาษี 50% และบ้านที่เกิน 3 ล้านบาท จะเก็บเต็มทั้งจำนวน ยกตัวอย่าง ในส่วนของที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยที่กระทบคนชั้นกลางและล่างมากที่สุด จากเพดานจัดเก็บใหม่ อยู่ที่ 0.50% แต่เบื้องต้นกระทรวงการคลัง จัดเก็บอัตรา 0.1% ของราคาประเมิน หรือล้านละ 1,000 บาทนั้น หมายความว่า บ้านที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียอัตรา 50% ของ 0.1% และบ้านที่เกิน 3 ล้านบาท ในส่วน 3 ล้านบาทแรก เสียอัตรา 50% ของ 0.1% ส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท เสียเต็ม 0.1%

หากบ้านมีมูลค่าเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียภาษีล้านละ 1,000 บาท เช่น บ้านมีมูลค่า 5 ล้านบาท จะเสียภาษีอยู่ที่ 3,500 บาท แบ่งเป็น ช่วง 3 ล้านบาทแรก เสียภาษี 1,500 บาท ส่วนที่เกินจากนั้นอีก 2 ล้านบาท จะต้องเสียในอัตรา 0.1% หรือเท่ากับ 2,000 บาท แม้ตัวเลขการเสียภาษีจะดูเหมือนไม่สูงมากนัก แต่ความคิดของประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมองว่า ทำไมถึงเสียภาษีให้กับที่อยู่อาศัยของตนเอง คล้ายกับการส่งค่าเช่าให้รัฐบาลแต่ละปี ถือเป็นโจทย์หนึ่งที่รัฐบาลต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างมาก

แม้ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี จะพยายามอธิบายถึง ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่าไม่ได้ต้องการไปรีดเลือดจากประชาชน แต่รัฐบาลต้องการเดินหน้าพัฒนาประเทศ เนื่องจากงบประมาณภาครัฐตกลงเรื่อย ๆ ทำให้รัฐบาลต้องแก้ไข เพื่อนำเงินจากภาษีกลับเป็นรายได้

แต่ผลสุดท้าย...สิ่งที่ควรคำนึง คือการผลักดันภาษีฉบับนี้ หากเกิดขึ้นจริงแล้ว จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ...หรือซ้ำเติมประชาชนกันแน่!!!.

วุฒิชัย มั่งคั่ง


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 9 มีนาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”