‘นิด้า’ชูนโยบายคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

‘นิด้า’ชูนโยบายคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

Post by brid.ladawan »

‘นิด้า’ชูนโยบายคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ชี้ช่วงนี้ไม่ใช่จังหวะลดดอกเบี้ยนโยบาย หวั่นติดกับดักสภาพคล่อง หลังส่งออก ท่องเที่ยวยังชะลอตัว

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร เอ็มพีเอ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่สู้ดีนัก ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาติดลบต่อเนื่อง โดยเดือนก.พ. เงินเฟ้อติดลบ 0.52% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งเป็นตัวเลขสะท้อนเศรษฐกิจภายในประเทศ 1.45% อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ยังชี้ชัดไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการพิจารณาภาวะติดลบที่ต้องต่อเนื่องกัน 3-6 เดือน

แต่ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณเชิงลบ ที่สะท้อนภาพแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะน่ากังวล โดยตัวเลขส่งออกในเดือน ม.ค.ติดลบ7.95% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ติดลบ2.34% ขณะเดียวกัน ตัวเลขการท่องเที่ยวของไทย มีนักท่องเที่ยวลดลงลงจากปีก่อนลบ 6.66% ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากอาเซียน ซึ่งมีมาเลเซียเป็นสำคัญ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวจากจีน และรัสเซีย ที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการค้าน้ำมัน นับเป็รายได้หลักของประเทศ และความขัดแย้งทางการเมืองกับยูเครน ต่างก็ลดจำนวนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลง ทำให้เศรษฐกิจไทยปัจจุบันค่อนข้างซบเซา เพราะรายได้หลักที่สำคัญของไทย ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในประเทศเองก็ไม่สู้ดีนัก ทั้งปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ดัชนีหมวดยานยนต์ และดัชนีหมวดเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ซึ่งจัดเก็บได้ชะลอตัวลงในเดือนม.ค.ติดลบ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งปริมาณการนำเข้าสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคก็หดตัวลงติดลบ 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือ เครื่องจักร ในช่วงดียวกันนี้ก็หดตัวลงไปติดลบ 4.5% ซึ่งจะเห็นได้ว่า กลไกการบริโภคภาคครัวเรือน ภาคการลงทุน และภาคการส่งออกของไทย อยู่ในสถานการณ์ที่น่ากังวล มีภาวะของการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน เรียกได้ว่ากำลังเผชิญกับภาวะติดกับดักสภาพคล่อง เพราะกำลังซื้อหดหาย จากรายได้จากพืชผลทางการเกษตรลดลง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่เป็นหนี้สินในระบบมีสัดส่วนสูงถึง 85% ของจีดีพี ในจำนวนนี้ยังไม่รวมภาระหนี้นอกระบบ ทำให้รายได้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนชะลอตัวลง

“สถานการณ์เช่นนี้ การดำเนินนโยบายการเงิน ด้วยการปรับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจอาจใช้ไม่ได้ผล ด้วยเหตุของการติดกับดักสภาพคล่อง ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 2% เช่นเดิม ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลัง ด้วยการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ นำร่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนในช่วงแรก ซึ่งช่องว่างสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้ในระดับหนึ่ง หรือใช้เงื่อนไขการลงทุนแบบร่วมทุน (พีพีพี) ให้สัมปทาน เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะ ก็สามารถดำเนินการได้ ด้วยเครื่องมือทางการคลังมีหลายตัว ไม่ใช่มีเพียงมาตรการทางด้านภาษีเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากจะจัดเก็บไม่ได้ตามเป้าหมายแล้ว ยังส่งผลต่อบรรยากาศในเชิงลบด้วย”

อย่างไรก็ตาม อีกเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลสามารถเลือกใช้ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเป็นการแบ่งเบาภาระหนี้สาธารณะได้ คือ เครื่องมือตลาดทุน เช่น การระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีอยู่แล้วได้ เข้ากระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 10 มีนาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”