อีกไม่นาน“ศรีสะเกษ” กลายเป็นแหล่งผลิต พันธุ์หอมแดงสะอาด...สู

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

อีกไม่นาน“ศรีสะเกษ” กลายเป็นแหล่งผลิต พันธุ์หอมแดงสะอาด...สู

Post by brid.ladawan »

อีกไม่นาน“ศรีสะเกษ” กลายเป็นแหล่งผลิต พันธุ์หอมแดงสะอาด...สู้ โรคหอมเลื้อย


“ศรีสะเกษ” ถือเป็นแหล่งผลิตหอมแดงที่สำคัญของไทย ผลผลิตหอมแดงของจังหวัดศรีสะเกษเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เนื่องจากมีคุณลักษณะพิเศษ คือเปลือกมีสีแดงเข้ม ด้านในมีสีม่วง กลิ่นฉุนแรง และเก็บรักษาได้ยาวนาน

แต่ปัจจุบันการผลิตหอมแดงในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษประสบปัญหาการระบาดรุนแรงของ“โรคหอมเลื้อย”หรือโรคแอนแทรกโนส


โรคหอมเลื้อย เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides (Penz) Sacc ซึ่งระบาดมากในสภาพอากาศร้อนชื้น และสร้างความเสียหายมากในฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงผลิตหัวพันธุ์ หากระบาดในแปลงปลูก จะทำให้ผลผลิตหอมแดงลดลงค่อนข้างมาก


จากปัญหาดังกล่าว สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 (สวพ. 4) กรมวิชาการเกษตร จึงได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันกำจัดโรคหอมเลื้อย โดยร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ จนได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตพันธุ์หอมแดงสะอาด ซึ่งวิธีการที่ได้นั้นสามารถป้องกันกำจัดโรคหอมเลื้อยได้ดี มีประสิทธิภาพ ทั้งช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีและทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตสูงขึ้นด้วย


นางนวลจันทร์ ศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จากข้อมูลการเพาะปลูกหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ ปี 2557/2558 พบว่า มีเกษตรกรปลูกหอมแดง จำนวน 7,943 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 28,580 ไร่ โดยแหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่อำเภอราษีไศล ยางชุมน้อย ขุขันธ์ วังหิน และกันทรารมย์ คาดว่าจะมีผลผลิต ประมาณ 92,976 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,394 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม พบว่า พื้นที่ปลูกหอมแดงในจังหวัดศรีสะเกษมีการระบาดของโรคหอมเลื้อย โดยเชื้อโรคจะติดมากับหัวพันธุ์ ทำให้ต้นหอมที่เป็นโรคมีอาการแคระแกร็น ไม่ลงหัว ใบบิดโค้งงอ หัวลีบยาว มักพบแผลเป็นรูปรี บนแผลจะพบสปอร์ตุ่มสีดำเล็กๆ ที่บริเวณโคนกาบใบคอหรือส่วนหัว เกิดร่วมกับอาการเลื้อยไม่ลงหัว ทำให้ผลผลิตเสียหายสูงถึง 50%


ขณะเดียวกันยังทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ เน่าเสียง่าย และเก็บได้ไม่นาน สาเหตุสำคัญของการระบาดโรคหอมเลื้อย พบว่า ผู้ปลูกหอมแดงในจังหวัดศรีสะเกษนิยมซื้อหัวพันธุ์หอมแดงมาจากพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยมีเชื้อโรคติดมากับหัวพันธุ์และแพร่ระบาดในแปลงปลูก


ดังนั้น สวพ. 4 จึงได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์หอมแดงสะอาด เพื่อป้องกันกำจัดโรคหอมเลื้อยแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม กระทั่งได้เทคโนโลยีการผลิตพันธุ์หอมแดงสะอาดที่เหมาะสม พร้อมสร้างแปลงต้นแบบผลิตหอมแดงพันธุ์สะอาดเพื่อป้อนให้กับเกษตรกรที่มีความต้องการใช้พันธุ์หอมคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น


สำหรับเทคนิคการผลิตหอมแดงพันธุ์สะอาดเบื้องต้นเกษตรกรต้องเตรียมพื้นที่ปลูกโดยเก็บเศษซากหอมที่ตกค้างอยู่ออกจากแปลง นำไปเผาทำลายก่อนไถตากดิน ทั้งยังต้องเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติดิน จากนั้นใส่ปูนโดโลไมท์ตามค่าวิเคราะห์ดิน



นอกจากนี้ ยังต้องเลือกใช้พันธุ์หอมแดงที่มาจากแหล่งที่ไม่พบการระบาดของโรคหอมเลื้อย ก่อนปลูกแนะนำให้ใช้ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 500 กิโลกรัม/ไร่ ผสมกับเชื้อไตรโคเดอร์ม่าสดคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วหว่านให้ทั่วแปลงและไถกลบ หลังปลูกเกษตรกรควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยรดน้ำในช่วงเช้า


นอกจากนั้น ต้องมีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช โดยการสำรวจแปลงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นตามคำแนะนำและถูกต้องตามหลักวิชาการ และควรฉีดพ่นด้วยเชื้อไตรโคเดอร์ม่าสัปดาห์ละครั้ง
หากพบปัญหาหนอนกระทู้หอมเข้าทำลายควรฉีดพ่นด้วยเชื้อ บีที (BT) หรือเชื้อไวรัส เอ็นพีวี (NPV) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวและลดปริมาณการใช้สารเคมีได้


หลังปลูก ประมาณ 40 วัน หอมแดงจะเริ่มออกดอก เกษตรกรควรเด็ดดอกหอมเพื่อให้หอมลงหัว ซึ่งจะทำให้ได้หัวพันธุ์ขนาดใหญ่ และควรเก็บเกี่ยวหอมแดงที่อายุ 80 วันขึ้นไป นำไปแขวนผึ่งไว้ ประมาณ 15 วัน แล้วค่อยมัดกำ โดยต้องคำนึงถึงสุขอนามัยหลังการเก็บเกี่ยวด้วย จะทำให้ได้พันธุ์หอมแดงที่มีคุณภาพและไม่มีโรคหอมเลื้อย เมื่อนำหัวพันธุ์สะอาดที่ได้ไปปลูกเป็นหอมปี (ช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม) จะสามารถป้องกันกำจัดโรคหอมเลื้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่พบการระบาดของโรค


ขณะเดียวกันยังช่วยลดการใช้สารเคมีและได้ผลผลิตสูง 3-3.5 ตัน/ไร่ ที่สำคัญยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค


นางนวลจันทร์ กล่าวอีกว่า ปี 2558 นี้ กรมวิชาการเกษตร ได้สร้างแปลงต้นแบบการผลิตหอมแดงพันธุ์สะอาดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เกษตรกรนำร่อง 20 คน พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ คาดว่า จะได้หัวพันธุ์หอมแดงสะอาดรวมกว่า 100 ตัน คิดเป็นมูลค่า 8-10 ล้านบาท


นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับเกษตรกรต้นแบบฯ เร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์หอมแดงสะอาด เพื่อผลิตหอมแดงที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษกว่า 500 คน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเห็นคุณค่าของหอมแดงคุณภาพที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน และให้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้และขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่น ซึ่งคาดว่า จะเกิดแหล่งผลิตพันธุ์หอมแดงคุณภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต และมีพันธุ์หอมแดงสะอาดกระจายสู่แหล่งปลูกเพิ่มมากขึ้นด้วย


หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีการผลิตพันธุ์หอมแดงสะอาดเพื่อผลิตหอมแดงที่มีคุณภาพ” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุรินทร์ โทร. (044) 518-526 หรือเกษตรกรต้นแบบ “นายวิเชียร ถิระพันธ์” และคณะ บ้านหนองหมี ตำบลหนองหมี อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ โทร. (095) 659-8040


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 06 มีนาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”