ชงปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ-บำนาญ เปิด 2 ภารกิจ สปช.ไฟเขียว

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ชงปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ-บำนาญ เปิด 2 ภารกิจ สปช.ไฟเขียว

Post by brid.ladawan »

ชงปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ-บำนาญ เปิด 2 ภารกิจ สปช.ไฟเขียว


“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” เผยคณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจฯ เลือก 2 ภารกิจปฏิรูปตลาดทุน ชงเข้าวาระการพิจารณาชุดแรกของ สปช.ทั้งปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและปฏิรูปการสร้างหลักประกันทางรายได้ผู้สูงอายุ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปตลาดทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลังของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการปฏิรูปตลาดทุนได้จัดทำข้อสรุปและรายละเอียดของการปฏิรูปตลาดทุนเสร็จสิ้นแล้ว และส่งให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลังเรียบร้อยแล้ว โดยมี 4 ภารกิจหลักที่สำคัญเพื่อการปฏิรูปตลาดทุนในระยะยาวคือ

1.การปรับโครงสร้างและพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นศูนย์กลางตลาดทุนของภูมิภาค 2.ตั้งองค์กรอิสระเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงินอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ระดับรากหญ้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

3.การปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ ตั้งองค์กรอิสระมาทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์การออมเพื่อการเกษียณอายุระดับประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้และเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ

4.การปฏิรูประบบการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกแทรกแซงและไม่ตกเป็นภาระทางการคลัง รวมทั้งบริการรับใช้ประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์

นายไพบูลย์กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจฯได้เลือก 2 เรื่องเร่งด่วน ที่เป็นภารกิจสำคัญของการปฏิรูปตลาดทุน ส่งเข้าไปอยู่ในวาระการพิจารณาการปฏิรูปชุดแรกของสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือการปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ และการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

“คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจฯ ได้นำเอา 2 เรื่องของภารกิจการปฏิรูปตลาดทุนเข้าสู่การพิจารณาชุดแรกๆของวาระการพิจารณาของสภาปฏิรูป ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและเรื่องเร่งด่วนในการวางโครงสร้างการปฏิรูป ที่จะได้ประโยชน์ทั้งระบบเศรษฐกิจและตลาดทุนของประเทศในภาพรวม”

นายไพบูลย์ยังกล่าวอีกว่า สำหรับ 2 เรื่องเร่งด่วน มีรายละเอียดข้อเสนอที่ต้องดำเนินการและความจำเป็นที่สำคัญและน่าสนใจดังนี้
ปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ

เรื่องแรกคือ การปฏิรูประบบเพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุ เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ และสร้างหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุ โดยเสนอให้ดำเนินการ 3 ภารกิจสำคัญคือ

1.จัดตั้งกลไกระดับชาติ (National Body) หรือองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์นโยบายบำนาญและกำกับดูแลระบบบำนาญต่างๆที่มีอยู่ เพื่อให้ระบบบำนาญในภาพรวมมีทิศทางเป็นเอกภาพ และสามารถตอบโจทย์ “คุณสมบัติที่น่าพึงประสงค์ของระบบบำนาญ” ได้ ซึ่งได้แก่ความครอบคลุม ความพอเพียง และความยั่งยืน

“หน้าที่สำคัญของกลไกระดับชาติ คือกำหนดทิศทางและเป้าหมายของนโยบายบำนาญในภาพรวม ออกแบบพิมพ์เขียวของระบบบำนาญ รวมถึงดำเนินการทบทวนและจัดระเบียบความเชื่อมโยงของระบบบำนาญที่เกี่ยวข้องทุกระบบ เพื่อให้ระบบบำนาญมีลักษณะเป็นบำนาญแห่งชาติ”

2.เปลี่ยนสถานะของกฎหมายเบี้ยยังชีพสําหรับผู้สูงอายุจาก “พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546” และ “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ” ให้เป็น “พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐาน” เพื่อป้องกันมิให้การเมืองนำแนวคิดประชานิยมมาใช้เปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบว่าด้วยเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ แต่บำนาญพื้นฐานต้องไม่สูงมากเกินไปจนทำให้เกิดภาระทางการเงินการคลังที่สูงเกิน 3.แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อผลักดันให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ปัจจุบันเป็นภาคสมัครใจให้เป็นภาคบังคับและส่งเสริมบทบาทของนายจ้างในการมีส่วนร่วมแบกภาระกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ยามชราภาพที่พอเพียงให้กับลูกจ้าง
ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า เรื่องที่สองที่คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจฯผลักดันเข้าสู่วาระการพิจารณาชุดแรก คือ การปฏิรูประบบการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกแทรกแซงอย่างไม่เหมาะสม และไม่ตกเป็นภาระทางการคลังของแผ่นดิน รวมทั้งสามารถให้บริการรับใช้ประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์

นายไพบูลย์กล่าวว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมีภารกิจที่ต้องทำ 4 เรื่องสำคัญ คือ กำหนดบทบาทและภารกิจของส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน โดยแยกให้ชัดระหว่างหน่วยงาน 4 ประเภท และกำหนดให้หน่วยงานแต่ละประเภทไม่ทำภารกิจซ้อนกัน โดยหน่วยงาน 4 ประเภท ประกอบด้วย 1. หน่วยกำกับนโยบาย (Policy Maker) ของอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น หน่วยกำกับนโยบายอุตสาหกรรมการบินหรือหน่วยกำกับนโยบายอุตสาหกรรมการสื่อสาร เป็นต้น

2.หน่วยกำกับดูแล (Regulator) ของอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น Regulator ของอุตสาหกรรมการธนาคารและสถาบันการเงิน หรือ Regulator ของอุตสาหกรรมการขนส่งทางบก เป็นต้น 3.หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่แทนเจ้าของ (Owner) คือ หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจแทนประชาชน และ 4.หน่วยปฏิบัติการหรือผู้ให้บริการ คือ ตัวรัฐวิสาหกิจเอง

และเพื่อให้เกิดความชัดเจนของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ เสนอให้ออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง และให้หน่วยงานนี้ทำการทบทวนเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง และประเมินว่ารัฐวิสาหกิจใดควรดำรงอยู่และเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป หรือควรยุบ เลิก หรือเปลี่ยนแปลงสถานภาพโดยให้ทำการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ยังให้รัฐออกกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลสามารถใช้รัฐวิสาหกิจในการดำเนินงานเป็นกรณีพิเศษตามนโยบายของรัฐบาลได้ แต่ถ้าเป็นการขอให้รัฐวิสาหกิจเรียกเก็บราคาค่าดำเนินการในอัตราที่ต่ำกว่าตลาดหรือต่ำกว่าราคาที่รัฐวิสาหกิจกำหนดตามปกติ ก็ให้รัฐบาลชดเชยส่วนที่ต่ำกว่านั้น โดยให้รัฐวิสาหกิจทำเป็นบัญชีพิเศษขึ้นโดยเฉพาะ เรียกว่าบัญชีบริการสาธารณะเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และชัดเจนในการวัดผลงานของรัฐวิสาหกิจ

“ทั้งหมดนี้คือหลักการหรือหัวใจสำคัญของการปฏิรูปใน 2 เรื่องหลัก” นายไพบูลย์กล่าวปิดท้าย.


ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 20 เมษายน 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”