ลุ้นระทึกส่งออก! หมู่หรือจ่า เจอสารพัดปัญหารุมเร้า

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ลุ้นระทึกส่งออก! หมู่หรือจ่า เจอสารพัดปัญหารุมเร้า

Post by brid.ladawan »

ลุ้นระทึกส่งออก! หมู่หรือจ่า เจอสารพัดปัญหารุมเร้า

หลังหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คงต้องติดตามความชัดเจนถึงท่าทีและแนวทางของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาการส่งออกไทย ที่ติดลบต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ขึ้นปี 2558 และหลายภาคส่วน มองว่าแนวโน้มน่าจะยังเป็นขาลงและติดลบได้อีกในปีนี้


ประเด็นที่ต้องติดตาม เรื่องแรก คือ ข้อสรุปต่อตัวเลขประมาณการการส่งออกใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ หลังเรียกประชุมร่วมกับภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมการค้าและตัวแทนในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตรกรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหนัก กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ กลุ่มสินค้าแฟชั่น และกลุ่มธุรกิจบริการ ซึ่งมีกำหนดว่าจะประชุมในวันที่ 21 เมษายน โดยมีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั่งหัวโต๊ะ ว่าท้ายสุดแล้วกระทรวงพาณิชย์จะปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่ตั้งไว้ 4% ลงเหลือเท่าไหร่แน่ จากที่ก่อนหน้านี้ ต่างก็เดาใจพลเอกฉัตรชัยว่าจะใช้ยุทธวิธีใด ระหว่างการกำหนดตัวเลขคาดการณ์ตามที่ทีมงานของกระทรวงพาณิชย์วิเคราะห์บนพื้นฐานปัจจัยลบและปัจจัยบวกที่เกิดขึ้น หรือกำหนดตัวเลขเพื่อให้เป็นเป้าหมายการทำงานของข้าราชการ ซึ่งล่าสุดได้ส่งสัญญาณว่าจะพยายามที่จะผลักดันการส่งออกให้เป็นบวก และขยายตัวเกิน 1%

เรื่องต่อมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเห็นชอบหรือไม่ ที่พลเอกฉัตรชัยจะนำข้อมูลสถานการณ์และผลสรุปจากที่ได้หารือกับเอกชน เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อเห็นชอบการแก้ปัญหาส่งออกเป็นวาระชาติ และขอให้นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานในการกำหนดแนวทางและมาตรการช่วยเหลือหรือดูแลการส่งออกในระยะเร่งด่วนและระยะยาว

- ลุ้นนายกฯนั่งหัวโต๊ะถกปัญหาส่งออก

อีกเรื่องคือ จะรับลูกภาคเอกชนไหม ที่แสดงความเห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นหลักในการแก้ปัญหาส่งออก และนำอำนาจในการใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในการช่วยผลักดันการส่งออก และแก้อุปสรรค รวมถึงความล่าช้าในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแก้กฎหมาย

เพราะเอกชนเชื่อว่าการปลดล็อกปัญหาและกฎหมายที่ค้างคา จะเป็นส่วนช่วยฟื้นการส่งออกและผลักดันให้เป็นบวกเกิน 2% ได้ภายใน 3-6 เดือน!!

ย้อนหลังไปดูการส่งออกไทยปี 2558 เริ่มสตาร์ตไม่ดีนัก เพราะเปิดมาเดือนแรกมกราคมก็ติดลบ 3.46% หันมองเดือนแรกปี 2557 ก็ดูจะอุ่นใจหน่อย เพราะติดลบเหมือนกันที่ 2.20% ด้านมูลค่าก็ยังใกล้เคียงกันคือเกิน 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นภาวะปกติที่เดือนแรกยอดจะน้อยกว่าเดือนธันวาคมที่จะสั่งล่วงหน้าเพื่อขายในเทศกาลปีใหม่

แต่พอตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์ติดลบ 6.14% และมูลค่าส่งออกยังได้แค่ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ 2 เดือนแรกของปี ติดลบรวม 4.82% และมีมูลค่า 34,478.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ระบุถึงสาเหตุที่การส่งออกไทยติดลบ มาจาก 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง 2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรุดตัว กระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีความเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรยังไม่ฟื้นตัว และราคาทองคำที่ผันผวนส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก และ 3.ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าหรือคู่แข่ง โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู) ส่งผลให้สินค้าไทยในสายตาของผู้ซื้อในตลาดเหล่านั้นแพงขึ้น

ต่อจากนั้นไม่นาน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ก็เผยตัวเลขส่งออกทั้งไตรมาสแรกปี 2558 ว่าติดลบประมาณ 4% ซึ่งตัวเลขอย่างเป็นทางการจะเป็นอย่างไร หลังการประชุมร่วมกระทรวงพาณิชย์กับภาครัฐ น่าจะเห็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ ซึ่งนักวิชาการประเมินว่าหากไตรมาสแรกลบ 4% และ 2 เดือนแรกติดลบ 4.8% การติดลบในเดือนมีนาคมน่าจะต่ำลงกว่ากุมภาพันธ์ หรือลบประมาณ 2.6-3% และมีโอกาสติดลบได้อีกในเดือนต่อๆ ไป

การส่งออกที่ติดลบนั้นไม่ได้สร้างความแปลกใจให้กับภาคเอกชน เพราะมีการคาดการณ์แล้วว่าปี 2558 ส่งออกไทยจะเหนื่อยขึ้น ยากที่จะควบคุมการส่งออกให้มีอัตราการขยายตัวที่สูงอย่างในอดีต ซึ่ง เอกชนทำใจแล้วกับสถานการณ์ที่ผ่านมา ทั้งค่าแรงงานสูงขึ้น เกิดน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 จนแรงงานต่างด้าวหนีกลับบ้าน ถึงตอนนี้อัตราก็ยังไม่เท่าเดิม ต่อด้วยความวุ่นวายทางการเมืองยืดเยื้อ ซ้ำหนักก็คือเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา แข่งกับราคาเกษตรตกต่ำ

ยังไม่นับรวมกับปัญหาไทยถูกตัดสิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าในอัตราต่ำจากสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐตั้งแต่ปี 2557 เรื่อยมา และทุกประเทศเพิ่มใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อกีดกันสินค้านำเข้า จนบริษัทขนาดใหญ่ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านไทย ที่ยังได้รับสิทธิแทน ประเมินกันว่าส่วนนี้ ดึงยอดส่งออกสินค้าไทยอย่างต่ำก็ 15-20% แล้ว ในระยะยาวก็จะเจอประเทศทั่วโลกหันใช้นโยบายพึ่งพาตนเอง ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตและใช้สินค้าในประเทศ เช่น อินเดีย ที่ได้ประกาศให้เกิดภายใน 4 ปี

- บาทแข็งหวั่นเอสเอ็มอีประสบปัญหาหนัก-สายป่านสั้น

แต่ที่เอกชนและผู้ส่งออกต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาส่งออก! ก็เพราะค่าบาทไทยแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ กว่า 5-20% ประเมินว่าทุก 1 เหรียญสหรัฐ ที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อราคาส่งออกเพิ่มหรือลดลง 5-15 เหรียญสหรัฐ ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า และประเทศปลายทางนำเข้า!

แม้สถานการณ์ส่งออกต้นปีนี้จะใกล้เคียงกับต้นปี 2557 ที่ส่งออกก็ไม่ได้ดีนัก มีทั้งติดลบมากแต่บวกต่ำ ทั้งๆ ที่ฐานส่งออกปี 2556 ค่อนข้างต่ำ กว่าจะฟื้นตัวเป็นบวกก็เข้าไตรมาสสุดท้าย แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ยอดส่งออกรวมทั้งปีเป็นบวก ทำให้ปี 2557 ติดลบเป็นปีที่ 2 อีก 0.41%

แต่ปีก่อนหน้าจะไม่ได้ยินเสียงบ่นของผู้ส่งออก เพราะขณะนั้นไทยยังไม่เสียเปรียบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ค่าบาทไทยยังไม่ได้แข็งค่าห่างจากประเทศคู่ค้าหรือประเทศคู่แข่ง อย่างมากก็ห่างกัน 1-2% แม้มูลค่าจากการส่งออกที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ จะเท่าเดิมหรือลดลงบ้าง แต่เมื่อทอนเป็นเงินบาทก็ยังขยายตัว ทำให้ธุรกิจส่งออกมีกำไร เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจ ไม่กระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งผิดกับสถานการณ์ขณะนี้ เมื่อดูตัวเลขการส่งออกในแง่สกุลเงินบาทเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 พบว่าเดือนมกราคมมูลค่าเป็นเงินบาทติดลบ 2.34% เดือนกุมภาพันธ์ ยังติดลบ 6.78% ทำให้ 2 เดือนแรก ติดลบแล้ว 4.60% และมีมูลค่ารวม 1,121,509 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกในแง่บาทปี 2557 ที่ 2 เดือนแรก ที่ขยายตัวเป็นบวก 8.41% และมีมูลค่าส่งออกรวม 1,175,617 ล้านบาท เท่ากับไทยสูญเสียรายได้แล้วกว่า 5.41 หมื่นล้านบาท ! เป็นเรื่องน่าใจหายสำหรับผู้ส่งออก เพราะหากการส่งออกที่ติดลบและค่าบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องอย่างนี้ 3-4 เดือน อาจมีผลให้ธุรกิจที่สายป่านสั้นหรือธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จะประสบปัญหาหนัก

- Q2ส่งออกยังอยู่ในช่วงขาลง

เมื่อมาผนวกกับความเห็นของภาคเอกชนและนักวิชาการ สะท้อนเสียงว่าการส่งออกในไตรมาส 2/2558 ไม่น่าจะสดใสมากนักและมีโอกาสติดลบได้อยู่ โดยน่าจะ "ขาลง" จนถึงไตรมาส 3/2558 แม้ราคาน้ำมันโลกปีนี้ลดลง 40-50% แง่หนึ่งมองว่าดีต่อต้นทุนต่ำลง แต่อีกแง่ก็สร้างการสูญเสียรายได้ของประเทศที่ต้องอาศัยการค้าน้ำมันเป็นรายได้หลัก ซึ่งประเทศเศรษฐกิจน้ำมันเหล่านั้นล้วนเป็นตลาดสำคัญของส่งออกไทย ก็ต้องย่ำแย่ไปด้วย พร้อมกับฉุดราคาสินค้าเกษตรและอาหารลดต่ำตาม

การที่เอกชนมองว่าตัวเลขส่งออกอย่างไรก็ไม่โต และทิศทางไตรมาส 2 ก็ยังไม่สดใส และยากที่จะขยายตัวสูง แม้ตัวเลข 1-2% ก็ยังยาก เพราะพิจารณาจากสถิติมูลค่าการส่งออกไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างทรงตัวและมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนแค่ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจมีบางเดือนสูงได้ถึง 18,500 -20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเป็นเดือนพิเศษ ที่ต้องสั่งซื้อเพื่อสต๊อกไว้ขายตามเทศกาล เช่น สงกรานต์ไทยหยุดยาว ก็ต้องส่งตั้งแต่เดือนมีนาคม หรือธันวาคมเรือขนส่งหยุดก็ต้องนำเข้าตั้งแต่กันยายน-พฤศจิกายน

หากจะให้การส่งออกปีนี้โตได้ 1% อีก 9 เดือนที่เหลือ มูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนต้องถึง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเอกชนฟันธงว่ายาก!

เมื่อหันมาถามพลเอกฉัตรชัย ว่าคิดอย่างไรเมื่อเอกชนออกมาระบุว่าส่งออกปีนี้น่าจะทำได้แค่ 0-1% "อย่ามองแค่ตัวเลขติดลบ แล้วนำมาตีความว่าแย่แล้ว แต่ต้องไปดูการส่งออกในประเทศอื่นๆ ด้วย ก็ประสบปัญหาติดลบเป็นส่วนใหญ่ อย่างสิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจีน การส่งออกรวมก็ไม่ดีนัก ที่เราดูมากตอนนี้ คือ ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าในแต่ละประเทศนั้น ไทยลดลงหรือไม่ แค่ไหน เพราะอะไร บางสินค้าบางประเทศตัวเลขติดลบ แต่เมื่อดูสัดส่วนทางการตลาดของสินค้าของไทย ก็ยังพบว่าไม่ได้ลดลง เรายังคงรักษาแชร์ในตลาดโลกได้อยู่"


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”