“สาระน่ารู้กับโรงพยาบาลธนบุรี 1” เรื่อง การเดินผิดปกติในผู้ส

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

“สาระน่ารู้กับโรงพยาบาลธนบุรี 1” เรื่อง การเดินผิดปกติในผู้ส

Post by brid.ladawan »

“สาระน่ารู้กับโรงพยาบาลธนบุรี 1” เรื่อง การเดินผิดปกติในผู้สูงอายุและภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง



Normal pressure hydrocephalus

เชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็นผู้สูงอายุเดินผิดปกติ หรือ เดินไม่ได้ ส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังขารที่เสื่อมลงตามวัย แต่ในข้อเท็จจริงนั้นผู้สูงอายุบางคนเดินไม่ได้เนื่องจากเจ็บป่วยเป็นโรคที่ทำให้เดินไม่ได้ ซึ่งโรคหนึ่งซึ่งพบได้บ่อยและสามารถรักษาให้กลับมาเดินได้ดีอีกครั้ง คือ โรคน้ำเกินในโพรงสมอง

ภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง คืออะไร

สมองของมนุษย์นั้นไม่ใช่ก้อนเนื้อตัน แต่มีโพรงน้ำอยู่ภายใน น้ำดังกล่าว คือ น้ำหล่อสมองและไขสันหลัง ซึ่งในที่นี้จะเรียกสั้นๆ ว่า น้ำ น้ำดังกล่าวจะทำหน้าที่ดูดซับแรงกระเทือน และถ่ายเทสารเคมีหลายอย่าง ในสภาวะที่การดูดซึมของน้ำผิดปกติไปก็จะมีน้ำคั่งดันโพรงสมองให้โตผิดปกติ และเกิดภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง

ภาวะน้ำเกินในโพรงสมองมีอาการอย่างไร

โรคนี้มักจะเป็นในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการเดินผิดปกติ เช่น เดินช้า ก้าวขาไม่ออก ยกขาไม่พ้นจากพื้น เดินซอยเท้า ทรงตัวไม่ดี ล้มบ่อย คนไข้บางคนมาโรงพยาบาลด้วยเรื่องล้มบ่อยๆ โดยไม่รู้ว่ามีโรคนี้แอบแฝงอยู่ การเดินจะแย่ลงช้าๆ จนอาจจะเดินไม่ได้เลย ในท้ายที่สุด นอกจากเรื่องเดินผิดปกติแล้วผู้ป่วยอาจจะมีปัญหาสมองเสื่อม ญาติอาจจะสังเกตว่าคนไข้จะคิดช้า เฉื่อยชาไม่ค่อยสนใจ รวมทั้งยังมีความจำที่แย่ลง หลงลืม พูดน้อยลง ตอบสนองช้า นอนมาก ในระยะท้ายผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาปัสสาวะราด โดยอาจจะปัสสาวะออกมาโดยไม่บอก หรือปัสสาวะราดออกมาโดยเข้าห้องน้ำไม่ทัน

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง

ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเดินร่วมกับสติปัญญาลดลง หรือ ปัสสาวะราด คือ ผู้ที่เข้าข่ายน่าสงสัย ว่าจะมีโรคนี้และสมควรได้รับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) หรือแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) ถ้าแพทย์พบว่าขนาดของโพรงสมองจากการตรวจดังกล่าวโตผิดปกติ จะถือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคนี้ และจะแนะนำให้ทำการตรวจเพิ่มเติม หรือทำการรักษาต่อไป

โรคน้ำเกินในโพรงสมองรักษาอย่างไร

โรคน้ำเกินในโพรงสมองนั้น มีหนทางรักษาคือ การผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำจากโพรงสมองเข้าสู่ช่องท้อง หรือผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำจากช่องไขสันหลังเข้าสู่ช่องท้อง แพทย์จะแนะนำวิธีที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยและครอบครัว

การผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด

โดยทั่วไปการผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำเข้าสู่ช่องท้องนี้ เป็นการผ่าตัดที่มีบาดแผลเล็ก เกือบจะไม่มีการสูญเสียเลือดและใช้เวลาผ่าตัดน้อยกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้น จึงเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะกรณีผ่าตัดชนิดฝังท่อจากไขสันหลังเข้าสู่ช่องท้อง จะมีความเสี่ยงต่ำมาก เนื่องจากไม่ต้องทำการเจาะบริเวณสมอง ความเสี่ยงจากการผ่าตัดมักไม่ใช่ความเสี่ยงของการผ่าตัดโดยตรง แต่มักเป็นความเสี่ยงอันเนื่องจากการมีโรคต่างๆของผู้สูงอายุ เช่น ผู้ป่วยสูงอายุบางรายมีโรคหัวใจร่วมด้วย ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดเพิ่มขึ้น

หลังจากผ่าตัดแล้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ผู้ป่วยมักจะนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดเพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่วันเท่านั้น และแพทย์จะนัดมาทำการตัดไหมในภายหลัง ท่อระบายน้ำที่ฝังอยู่ในร่างกาย มีให้เลือกอยู่ 2 ประเภท คือ ชนิดที่ปรับแรงดันไม่ได้ และชนิดที่ปรับแรงดันได้ ท่อชนิดที่ปรับแรงดันได้มีข้อดีคือ ถ้าการระบายน้ำมากเกินไป หรือน้อยเกินไป แพทย์สามารถที่จะปรับเปลี่ยนการระบายน้ำได้โดยใช้อุปกรณ์แม่เหล็กไร้สายจากภายนอกร่างกาย และไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนท่ออันใหม่ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาประเมินความคืบหน้าของอาการเป็นระยะๆ ร่วมกับปรับเปลี่ยนการระบายน้ำตามความจำเป็น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่ท่อชนิดปรับแรงดันได้ สมควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้อุปกรณ์แม่เหล็กที่มีกำลังสูง เช่น เครื่องตรวจแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

ผู้ป่วยสูงอายุที่เดินไม่ได้มาเป็นเวลานานจะมีกล้ามเนื้อขาลีบและอ่อนกำลัง ถึงแม้ว่าหลังจากการผ่าตัดแล้วสมองจะสามารถส่งคำสั่งมาควบคุมขาให้เดินได้ดีแล้วก็ตาม แต่ถ้ากล้ามเนื้อขาอ่อนกำลัง การเดินที่ดีย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกยืน ฝึกเดิน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยอาจต้องอดทนและทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือน จึงจะเริ่มเห็นผล

หลังจากผ่าตัดแล้ว การเดิน อาการหลงลืมและปัสสาวะราดดีขึ้นแน่นอน หรือไม่

การเดินผิดปกติของผู้สูงอายุนั้น นอกจากโรคน้ำเกินในโพรงสมองแล้ว ยังอาจเกิดโรคอื่นๆ ได้อีก เช่น โรคพาร์กินสัน โรคเข่าเสื่อม โรคกระดูกสันหลัง เป็นต้น นอกจากนี้อาการหลงลืมและปัสสาวะราดจากโรคน้ำเกินในโพรงสมองอาจจะคล้ายคลึงกับอาการของโรคอัลไซเมอร์ และต่อมลูกหมากโตตามลำดับ ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุอยู่แล้ว ทำให้การวินิจฉัยภาวะน้ำเกินในโพรงสมองทำได้ลำบาก และไม่สามารถ (ฟันธง) วินิจฉัยได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่เป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมองจริงผู้ป่วยจะมีอาการที่ดีขึ้นหลังผ่าตัด ดังนั้น เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะจัดแบ่งความเป็นไปได้ของโรคเป็น 3 ระดับ คือ

1. มีแนวโน้มเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Probable)
2. อาจเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Possible)
3. ไม่น่าเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Unlikely)

ในกรณีที่แพทย์คิดว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มมีแนวโน้มเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Probable) แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่อาการจะดีขึ้นหลังผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มไม่น่าเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Unlikely) แพทย์จะไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัด และให้เฝ้าสังเกตอาการต่อไป ส่วนในกรณีก้ำกึ่งที่อาจเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Possible) นั้น แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการทดสอบเจาะระบายน้ำจากช่องไขสันหลัง เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าสมควรทำการผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำต่อไปหรือไม่

การทดสอบเจาะระบายน้ำจากช่องไขสันหลัง

คนไข้ที่ก้ำกึ่งว่าอาจเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Possible) แพทย์มักจะแนะนำให้ทดสอบเพิ่มเติมโดยการเจาะระบายน้ำจากไขสันหลังและประเมินดูว่าการเดิน หรือภาวะสมองเสื่อมดีขึ้นชั่วคราว หลังเจาะระบายน้ำหรือไม่ ถ้ามีการตอบสนองในทางที่ดีขึ้นก็มีแนวโน้มสูงว่าหลังผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำเข้าสู่ช่องท้อง อาการจะดีขึ้นจริง

การเจาะระบายน้ำจากช่องไขสันหลังดังกล่าว เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย โดยการฉีดยาชา มีความเสี่ยงต่ำและไม่ใช่การทำผ่าตัด แพทย์อาจจะทำการเจาะเพียงครั้งเดียว หรือมากกว่า 1 ครั้ง หรืออาจจะสอดสายระบายชั่วคราว 3 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนอง ของการเจาะครั้งแรก

เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.นพ.ศรัณย์ นันทอารี
ศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลธนบุรี

ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี 1
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 0-2421-3870 (เวลา 08.00-22.00 น.)
HOT LINE 1645 กด 1 หรือ 0-2487-2000 ต่อ 7470-1
เปิดบริการทุกวัน
Email : th@thonburihospital.com
http://www.thonburihospital.com/


ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 20 เม.ย. 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”