มาแล้วหุ่นยนต์ชงกาแฟพร้อมระบบเรียนรู้ในเชิงลึก

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

มาแล้วหุ่นยนต์ชงกาแฟพร้อมระบบเรียนรู้ในเชิงลึก

Post by brid.ladawan »

มาแล้วหุ่นยนต์ชงกาแฟพร้อมระบบเรียนรู้ในเชิงลึก

มาแล้วหุ่นยนต์ชงกาแฟพร้อมระบบเรียนรู้ในเชิงลึก
หากเป็นหุ่นยนต์สำหรับใช้ในการวิจัย และภาคอุตสาหกรรม วิศวกรสามารถตั้งโปรแกรมการทำงานให้มันได้โดยตรง หรือควบคุมผ่านคีย์บอร์ด จอยสติ๊ก ฯลฯ แต่สำหรับหุ่นยนต์ที่ทำงานในสถานที่ที่มีมนุษย์จำนวนมากอาศัยอยู่ เช่น โรงพยาบาล ร้านอาหาร ร้านค้า หรือแม้กระทั่งตามบ้าน บางครั้งหุ่นยนต์อาจต้องมีฟีเจอร์ในการเรียนรู้ด้วยตัวเองติดตัว เช่นเดียวกับหุ่นยนต์ชงกาแฟ ผลงานของนักพัฒนาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลตัวนี้

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ Ashutosh Saxena ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล หัวหน้าทีมพัฒนาได้เผยถึงการพัฒนาหุ่นยนต์บาริสต้าตัวนี้ว่า เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถศึกษาการใช้งานของเครื่องต้มกาแฟได้ด้วยตนเอง โดยเป็นการทำงานร่วมกันของประสบการณ์การลองผิดลองถูกของตัวหุ่นยนต์เอง รวมถึงการศึกษาจากข้อมูลที่เป็นตัวอักษร จนทำให้สามารถใช้งานเครื่องดังกล่าวได้ โดยทางผู้ช่วยศาสตราจารย์ Saxena กล่าวว่า หากหุ่นยนต์สามารถใช้เครื่องต้มกาแฟ 3 เครื่องได้ พอเจอเครื่องที่ 4 มันจะหาทางทำให้เครื่องดังกล่าวทำงานได้เช่นกัน

ความลับของความสามารถดังกล่าวคือ ฐานข้อมูลออนไลน์ที่สะสมข้อมูลการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ เอาไว้ในรูปแบบโปรเจกต์ Crowdsourcing นั่นเอง ภายในฐานข้อมูลจึงมีการรวบรวมรูปแบบการเคลื่อนไหวต่างๆ สำหรับหุ่นยนต์เอาไว้มากมายถึง 116 อุปกรณ์ เช่น กดชักโครก เปิดก๊อกน้ำ และสามารถดึงมาใช้กับหุ่นยนต์รุ่นใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ส่งผลให้นักพัฒนาไม่จำเป็นต้องนั่งนับ 1 ใหม่ทุกครั้งนั่นเอง

ความช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าวแม้จะยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่นักพัฒนาของคอร์แนลต้องดำเนินการต่อก็ยังมีอีกมากมาย เพราะหุ่นยนต์บาริสต้าตัวนี้จะต้องถูกตั้งโปรแกรมด้วยอัลกอริธึมเพื่อการเรียนรู้ในเชิงลึก ซึ่งจะช่วยให้มันนำประสบการณ์ที่ได้รับมาใช้ร่วมกับคำสั่งที่มีการตั้งโปรแกรมไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลของการใช้งานเครื่องต้มกาแฟ และแบ่งการทำงานออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ ได้

ส่วนเหตุผลที่อัลกอริธึมดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากนั้น เป็นเพราะหุ่นยนต์ต้องสามารถแยกแยะให้ได้ถึงความแตกต่างระหว่างสวิตช์กับปุ่มกด ความแตกต่างระหว่างมือจับ กับคันโยก เพื่อให้มันสามารถเลือกการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมมาใช้กับอุปกรณ์นั้นๆ นอกจากนั้น มันยังต้องสามารถวิเคราะห์ให้ได้ว่าวัตถุที่มันจับนั้นมีรูปร่างอย่างไร โดยใช้กล้องดิจิตอลสามมิติทำงานร่วมกับเลเซอร์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์วัตถุนั้นๆ และเลือกรูปแบบการเคลื่อนไหวที่สามารถทำให้มันจับวัตถุนั้นๆ ได้ด้วย

ก้าวต่อไปของทีมคือ การพัฒนาให้หุ่นยนต์ชงกาแฟรุ่นนี้มีระบบในการมองเห็น เพื่อป้องกันไม่ให้มันเคลื่อนไหวไปชนกับคน หรือสิ่งของอื่น รวมถึงสามารถรู้สึกได้ถึงการสัมผัสด้วย

กว่าจะสอนหุ่นยนต์ให้ทำกาแฟได้อาจจะยากเย็น แต่ถ้ามันสามารถทำได้แล้วหนึ่งตัว อีกพันล้านตัวที่เหลือจะสามารถทำได้เช่นกัน นี่อาจเป็นข้อดีข้อหนึ่งของหุ่นยนต์ที่มนุษย์ไม่มีทางเลียนแบบได้ก็เป็นได้


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 23 เมษายน 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”