กฎหมายผู้บริโภค เพิ่มพลังผู้บริโภค

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

กฎหมายผู้บริโภค เพิ่มพลังผู้บริโภค

Post by brid.ladawan »

กฎหมายผู้บริโภค เพิ่มพลังผู้บริโภค

“ถูกหักเงินค่าโทรศัพท์ทั้งที่ไม่ได้สมัครบริการเสริม เอสเอ็มเอส (sms) ดูดวง, อยากมีแค่บัตรเอทีเอ็มธรรมดาแต่ถูกธนาคารบีบให้ทำบัตรเดบิต...

เปิดทีวีดาวเทียมก็เห็นแต่รายการโฆษณายาเทวดา...รักษาได้ทุกโรค ผลิตภัณฑ์เพิ่มพลังเพศ...ข้าวปลาอาหารปนเปื้อนสารเคมีอันตรายหรือไม่?...จำใจเสี่ยงภัยใช้รถตู้ รถเมล์ โชเฟอร์ตีนผี”...

สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ บอกว่า แต่ไหนแต่ไรมามักคิดกันว่า “การคุ้มครองผู้บริโภค” คือหน้าที่ของทางราชการที่ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน...กรม กอง หน่วยงานราชการต่างๆ จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาและมอบหมายให้มีภารกิจคุ้มครองผู้บริโภคเป็น “ติ่งหนึ่ง”

ทุกวันนี้...เราจึงมีหน่วยราชการที่มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนับ 10 แห่ง แต่...ดูเหมือนประสิทธิภาพการคุ้มครองไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนหน่วยงาน แทนที่ผู้บริโภคจะได้รับการดูแลที่สะดวก รวดเร็ว กลับกลายเป็นความสับสนที่จะต้องใช้สิทธิให้ถูกช่อง ถูกหน่วยงาน ตามการแบ่งบทบาทหน้าที่ของทางราชการที่แสนจะซับซ้อน

“การใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภคแต่ละครั้งไม่ต่างกับการผจญภัยในเขาวงกต ที่ต้องเจอกับเส้นทางที่ยุ่งยาก วกวน ซ้ำร้ายบางครั้ง ก็ไปเจอทางตัน”

ตัวอย่างง่ายๆใกล้ตัว...ตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือ ที่ตั้งกันเกลื่อนถนน ถ้าเติมเงิน 100 บาท แต่ปรากฏว่ามีเงินเข้าโทรศัพท์แค่ 20 บาท เรื่องแบบนี้หน่วยงานไหนจะคุ้มครองผู้บริโภค

หน่วยราชการแรกที่คนจะไปร้องเรียนคือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่เรื่องไหนมีหน่วยงานเฉพาะดูแล สคบ.ก็จะไม่รับไว้ อย่างเรื่องตู้เติมเงิน อมเงินค่าโทรศัพท์ สคบ.บอกว่าเกี่ยวกับโทรศัพท์ต้องไปร้องกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

พอไปร้องเรียนกับ กสทช. ก็บอกว่า ตู้เติมเงินโทรศัพท์ไม่ใช่บริการโทรคมนาคม น่าจะเป็นบริการทางการเงิน พอแจ้งไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็บอกว่าตู้เติมเงินไม่ใช่สถาบันการเงิน ไม่อยู่ในกำกับดูแล สรุปว่า...ตู้เติมเงินมือถือเป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัจจุบันยังไม่มี กฎหมายควบคุม ดูแล!

ดังนั้น อย่าแปลกใจถ้าผลการสำรวจสถานการณ์การใช้สิทธิของผู้บริโภคไทย พบว่าผู้บริโภคร้อยละ 60 เคยถูกละเมิดสิทธิ แต่มีแค่ ร้อยละ 2 เท่านั้นที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียน และผู้ร้องเรียนเกินกว่าครึ่ง จะยอมถอดใจยอมแพ้ เพราะเหนื่อยหน่ายกับกระบวนการทำงานที่ล่าช้า

สารี บอกว่า ธรรมชาติหน่วยงานรัฐมักจะอ้างกฎระเบียบต่างๆ วางกรอบจำกัดบทบาทหน้าที่เพื่อจะทำงานให้น้อยที่สุด ในขณะที่ภาคธุรกิจพัฒนาสินค้า บริการไปไกลทั้งทางด้านเทคโนโลยีและรูปแบบการให้บริการที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เราจึงไม่สามารถฝากความหวังให้ภาครัฐ ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่เพียงลำพัง

“สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครอง และมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเอง” เป็นหลักการสำคัญที่ได้รับการยอมรับและบรรจุไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ ปี 2540 ในมาตรา 57 ซึ่งกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย มาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างอิสระ ไม่ถูกบังคับด้วยเงื่อนไขจากฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายการเมือง

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคพยายามรณรงค์ให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นในสังคมไทย รวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 คน เข้าชื่อกันเสนอกฎหมายพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังไม่ทันประสบผลสำเร็จก็เกิดการ รัฐประหารในปี พ.ศ.2549 ขึ้นเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็ยังคงหลักการสำคัญเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 61 “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียน เพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัว กันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค...

ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ

เพื่อคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย”

นอกจากนี้ยังกำหนดระยะเวลาในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ให้รัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่แถลงนโยบาย

เขียนรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนขนาดนี้แล้ว แต่ 1 ปีผ่านไป องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของภาคประชาชนก็ยังไม่เกิดขึ้นสักที เครือข่ายผู้บริโภคก็ต้องออกแรงเริ่มต้นรณรงค์ใหม่อีกครั้ง รอบนี้ ใช้เวลา 6 ปีกว่ากฎหมายของผู้บริโภคจะได้รับการพิจารณาจากรัฐสภา แต่ดูเหมือนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เพราะเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2557 กฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาจึงเป็นอันตกไป

17 ปี...ที่ผ่านไปกับรัฐมนตรี รัฐบาล พรรคการเมือง แต่ไม่สามารถออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคได้ นี่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของภาครัฐที่มีต่องานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน และตอกย้ำว่า...การคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีที่สุดไม่ได้อยู่ที่
ภาครัฐ แต่อยู่ที่ภาคประชาชน

หลักการสำคัญของกฎหมายที่จะเพิ่มพลังให้กับผู้บริโภค ก็คือ ต้องมีกลไกที่เป็นปากเป็นเสียงสะท้อนความคิดเห็น ความต้องการของผู้บริโภค ในเรื่องต่างๆที่จะมีผลกระทบต่อตนเอง

“การทำกิจกรรมทุกอย่างต้องใช้ทรัพยากร รวมทั้งการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ถ้าเห็นตรงกันว่าผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการทำงาน คุ้มครองปกป้องสิทธิของตนเองอย่างอิสระ...รัฐต้องให้การสนับสนุน”

ความเป็นอิสระสำคัญมาก การทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคคือการรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติต้องดำเนินการตรงไปตรงมา อะไรทำแล้วมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ผู้บริโภคควรทัดทาน ไม่เออออไปตามผู้มีอำนาจ

หากประเทศไทยมีกฎหมายเติมพลังให้ผู้บริโภค การรวมตัวของผู้บริโภคก็จะเป็นพลังที่เข้มแข็งในการต่อรองกับผู้ประกอบธุรกิจในด้านต่างๆ...“ถ้าผู้บริโภคเข้มแข็งแล้ว ภาคธุรกิจจะอ่อนแอ?” นี่อาจเป็นมายาคติประการหนึ่งที่ทำให้กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นไม่ได้สักทีในประเทศไทย

“การคุ้มครองผู้บริโภคกับการค้าเสรี” เป็นเรื่องที่ต้องเดินไปคู่กัน หมดยุคแล้วที่ผู้ประกอบการคิดจะผูกขาด มัดมือมัดเท้าให้ผู้บริโภคต้องใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หรือบริการที่ไม่รับผิดชอบ

ในบรรยากาศการปฏิรูปประเทศ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะปฏิรูปกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภค...แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 จะไม่ได้มีบทบัญญัติเรื่อง “องค์การอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” แต่หลักการสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นยังคงอยู่ และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย

ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ออกมาสนับสนุนให้ภาคประชาชนเดินหน้าผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่

“...ก็หวังว่าการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ รัฐบาลนี้และนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ละเลย ประชาชนจะไม่รอเก้อ...เหมือนที่แล้วๆมา” สารี อ๋องสมหวัง กล่าวทิ้งท้าย.



ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 25 เม.ย. 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”