เด็ก ป.1 ไอคิวต่ำ เว้นเด็กเมืองอยู่ในเกณฑ์ แต่ติดเกม รอคอยไม

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

เด็ก ป.1 ไอคิวต่ำ เว้นเด็กเมืองอยู่ในเกณฑ์ แต่ติดเกม รอคอยไม

Post by brid.ladawan »

เด็ก ป.1 ไอคิวต่ำ เว้นเด็กเมืองอยู่ในเกณฑ์ แต่ติดเกม รอคอยไม่เป็น

เด็ก ป.1 ไอคิวต่ำ เว้นเด็กเมืองอยู่ในเกณฑ์ แต่ติดเกม รอคอยไม่เป็น
เผยผลสำรวจไอคิวเด็ก ป.1 พบอยู่ที่ 93 จุด ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ 100 จุด เมื่อแยกเด็กในเมืองกับชนบทพบ เด็กในเมืองยังอยู่ในเกณฑ์ แต่มีปัญหาเรื่องติดเกม ติดเทคโนโลยี รอคอยไม่เป็น ส่วนเด็กชนบทไอคิวเฉลี่ยต่ำที่ 89 จุด เหตุมีปัญหาความรักความอบอุ่นในครอบครัว ส่งผลต่อพัฒนาการ หวั่นกระทบอีคิวด้วย เร่งพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน หวังกระตุ้นพัฒนาการ

วันนี้ (27 พ.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวผลสำรวจระดับสติปัญหา (ไอคิว : IQ) ของนักเรียนป.1 ปี 2557 ว่า จากการสำรวจไอคิวนักเรียน ป.1 จำนวน 4,929 คนทั่วประเทศ พบว่า ไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 93.1 จุด ลดลงจากปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 94 จุด ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ 100 จุด อย่างไรก็ตาม เด็กในเมืองมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ 100.72 จุด แต่ในชนบทห่างไกลมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 89.18 จุด จากการวิเคราะห์พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อระดับไอคิวของเด็กไทย คือ 1. โภชนาการ ซึ่ง สธ. ได้เพิ่มสารไอโอดีนและโฟเลตให้กับหญิงตั้งครรภ์ และแม่ที่ให้นมบุตรอยู่แล้ว 2. การเลี้ยงดูของครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จะมีพัฒนาการช้ากว่า และ 3. การเรียนรู้ระหว่างเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตรงนี้อยู่ในการดูแลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่ง สธ. โดยกรมสุขภาพจิตจะเข้าไปเสริมในเรื่องของอาหาร และเสริมสร้างการเรียนรู้ด้วย

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า มาตรการเพิ่มพัฒนาการของเด็กไทยได้ร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการดูแลเด็กพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย เด็กขาดออกซิเจนระหว่างคลอด และเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสังคม พร้อมทั้งเข้าไปร่วมในการคัดกรองเด็ก และพัฒนาขีดความสามารถของศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งกระตุ้นพัฒนาการ และความสามารถของเด็กได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากพบว่าขณะนี้มาตรฐานของศูนย์ฯ ยังมีข้อกังขาอยู่ นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตได้เร่งให้การอบรมพยาบาลหลังจบปริญญาตรีแล้วให้มีความรู้เรื่องสุขภาพจิต และการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กเพื่อไปปฏิบัติงานใน รพ.ชุมชน ทั้งประเทศ ซึ่งจะใช้เวลา 4 เดือน

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลจะพบว่าไอคิวของเด็กเมือง กับเด็กในชนบทต่างกันอยู่มากถึง 11 จุด นี่คือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะโภชนาการที่แตกต่างกันมา และสภาพของครอบครัว โดยจะเห็นว่าเด็กชนบทมีแนวโน้มอยู่ในครอบครัวแหว่งกลาง พ่อแม่แยกทางกัน หรือพ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่น ต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย มากขึ้น วันนี้เด็กเข้าสู่ระบบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ดังนั้น ต้องทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาครั้งนี้ยังพบอีกว่าระดับความสามารถทางอารมณ์ (อีคิว) ของเด็กชนบทจำนวน 3,696 คน พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ สะท้อนให้เห็นว่าเด็กๆ ยังมีพื้นฐานทางด้านจิตใจที่ดีแต่ก็ต้องดูแลต่อเนื่องเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็จะมีผลต่อสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไปด้วยตรงนี้ต้องอาศัยทุกภาคส่วนทำให้เด็กไทยมีไอคิวควบคู่กับอีคิวในระดับที่ดี

“ เด็กชนบทจะมีปัญหาเรื่องความรักความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งมีผลกับการสร้างพัฒนาการของเด็ก ขณะที่เด็กเมืองเราก็พบว่าติดเกม ติดเทคโนโลยี ทำให้มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม รอคอยไม่เป็น ให้ความรักกับคนอื่นไม่เป็น ” พญ.อัมพร กล่าว

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 27 พฤษภาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”