3จี-ไม่จ๊าบ ประมูลได้4.1หมื่นล้าน

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

3จี-ไม่จ๊าบ ประมูลได้4.1หมื่นล้าน

Post by brid.ladawan »

ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


3จี-ไม่จ๊าบ ประมูลได้4.1หมื่นล้าน
« on: November 29, 2012, 01:44:08 pm »

3จี-ไม่จ๊าบ ประมูลได้4.1หมื่นล้าน


ชิง 3 จี - นายศุภชัย เจียรวนนท์ จากทรูฯ นายสมประสงค์ บุญยะชัย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสฯ และนายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ บมจ.โทเทิ่ล จับมือกันก่อนร่วมประมูลคลื่น 3 จี ที่สำนักงานกสทช. เมื่อ 16 ต.ค.

ผลการประมูล 3 จีจบ แค่รอบ 7 สามบริษัทยักษ์ ใหญ่มือถือแข่งกันไม่ดุเดือด ส่งผลให้ราคาไม่กระฉูด ได้ยอดรวม 4.16 หมื่นล้านบาทเพิ่มจากราคาฐานที่เริ่มต้นมาเพียง 2% เท่านั้น ขยับจากราคากลาง 1,125 ล้านบาท กสทช.เผยเอไอเอสเคาะราคาสูงสุด 14,625 ล้านบาท ขณะที่ดีแทค-ทรูให้เท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท ยันเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซอยสายลม พหลโยธิน กสทช.ได้จัดการประมูลใบอนุญาต 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นการประมูลครั้งประวัติศาสตร์ของวงการโทรคมนาคมไทย เป็นก้าวสำคัญการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต โดยเวลา 07.00 น. คณะกรรมการ กสทช. พร้อมผู้บริหาร นำโดยพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ร่วมกันสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำ กสทช. เพื่อขอให้การประมูลผ่านไปได้ด้วยดี ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนเมื่อ 2 ปีก่อนที่มีการเปิดประมูลครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2553 แต่สุดท้ายต้องล้มไป

สำหรับการประมูลครั้งนี้ กสทช.ได้ใช้สถานที่จัดประมูล คือ สำนักงาน กสทช. ส่วนของอาคารอำนวยการ ซึ่งจัดแบ่งออกเป็น 7 จุด เพื่อใช้เป็นสถานที่ประมูลประกอบด้วย ชั้นที่ 1 สถานที่จับสลาก มีเครื่องตรวจโลหะไม่ให้นำเข้าอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือเข้าอย่างเด็ดขาด ชั้น 2 ห้องเลือกย่านความถี่ ชั้นที่ 3 ห้องประมูล 1 ชั้นที่ 4 ห้องประมูล 2 ชั้นที่ 5 ห้องประมูลสำรอง หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ชั้นที่ 6 ห้องประมูล 3 และชั้น 10 ห้องควบคุมการประมูลทั้งหมด โดยห้องคอน โทรลมีเจ้าหน้าที่ประจำ 3-4 คน เฝ้าสังเกตการณ์แต่ละห้อง ใช้กำลังตำรวจทั้งหมดประมาณ 200 นาย ดูแลความเรียบร้อยตลอดการประมูลครั้งนี้

ส่วนบรรยากาศกาารประมูลในช่วงเช้าเป็นไปด้วยความคึกคัก มี 3 ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือที่ผ่านคุณสมบัติ เดินทางมาตั้งแต่เช้า เพื่อร่วมเข้าประมูล ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ก ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด หรือดีแทค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู โดยบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด เป็นบริษัทแรกที่เดินทางเข้ามาลงทะเบียนเวลา 08.05 น. ซึ่งผู้บริหารที่เข้าห้องเคาะราคามีทั้งหมด 10 คน หลักๆ คือ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ทรู นาย วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ โครงข่ายและเทคโนโลยี นายอำรุง สรรพสิทธิวงศ์ กรรมการ กลุ่มทรู นายอติรุตม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจโมบาย และนายนพปฎล เดช อุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน

บริษัทรายที่ 2 คือ บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด มาลงทะเบียนเวลา 08.15 น. ผู้บริหารที่เข้าห้องเคาะราคา รวม 7 คน คือ นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นางวีรนุช กมลยะบุตร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย ที่เหลือเป็นตัวแทนจากกลุ่มเทเลนอร์ ประเทศนอร์เวย์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ดีแทค โดยนายจอนและและนายดามพ์ ชูนิวชี้ 1 นิ้ว แสดงถึงความเป็นที่ 1 ของการประมูลครั้งนี้

ด้านผู้บริหารบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ จำกัด ลงทะเบียนเวลา 08.30 น. รวม 10 คน สวมเสื้อในโทนสีเดียวกัน คือ ชมพู และโอลด์โรส ผู้บริหารหลัก คือ นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท อินทัช จำกัด (มหาชน) หรือเดิมบริษัท ชิน คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส นายพงษ์อมร นิ่มพูลสวัสดิ์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ตัวแทนจากสิงเทล ผู้ถือหุ้นจากสิงคโปร์ 2 คน คือ นายมาร์ค ชอง ชิน ก็อก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ และนาย ฮุย เวง ซอง ที่เหลือเป็นฝ่ายกฎหมาย โดยผู้บริหารชู 3 นิ้ว ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์ประมูล 3 จี 3 ใบ

จากนั้นในเวลา 09.00 น. ได้ให้ผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 ราย จับสลากเข้าห้องประมูลตามลำดับที่จับสลากได้ และซองบรรจุยูสเซอร์เนมและพาสเวิร์ด ปรากฏว่า รายแรก คือบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ จำกัด โดยนายสมประสงค์จับสลากได้ ห้องประมูลชั้น 6 และจับสลากได้ซองที่ 3 ตามด้วยบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด โดยนาย ศุภชัยจับสลากได้ห้องประมูล ชั้น 3 และซองที่ 2 และสุดท้ายบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด จับสลากได้ ห้องประมูล ชั้น 4 และซองที่ 1

ขณะที่การเริ่มประมูลตั้งแต่เวลา 10.00 น. การประมูลแบ่งออกเป็น 9 ใบ ใบละ 5 เมกะเฮิร์ตซ์ รวม 45 เมกะเฮิร์ตซ์ ราคาตั้งต้น เริ่มต้นประมูลใบละ 4,500 ล้านบาท แต่ละบริษัทมีสิทธิประมูลได้ไม่เกิน 15 เมกะเฮิร์ตซ์ แต่ละรอบผู้เข้าร่วมการประมูลจะมีเวลา 30 นาที ในการเสนอราคา โดยการเสนอราคาต้องเสนอราคาเพิ่มครั้งละ 5% ของราคาตั้งต้นการประมูล 4,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 225 ล้านบาท/เคาะ จากนั้นโปรแกรมในการประมูลจะประมวลผล และจะประกาศผลการประมูลของรอบนั้นๆ เป็นการล่วงหน้า 10 นาที ก่อนการประมูลรอบต่อไปจะเริ่มขึ้น ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาในการประมูลรอบละ 45 นาที โดยประมูลตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. และพักรับประทานอาหารกลางวันเวลา 12.00 น.-13.00 น. รวมใน 1 วัน จะมีการประมูลประมาณ 10-12 รอบ ทั้งนี้หากไม่มีการเคาะราคาใดๆ เป็นเวลา 2 ครั้ง จะถือว่าสิ้นสุดการประมูล เมื่อสิ้นสุดแล้ว ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้มีสิทธิ์ได้เลือกตำแหน่งคลื่นความถี่ก่อน และหากการเคาะราคาวันแรกยังไม่ได้ข้อสรุป เอกชนจะต้องกลับมาเคาะราคาในวันถัดไป ซึ่ง กสทช.วางไว้ 3 วัน คือ 16-18 ต.ค.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เพื่อความโปร่งใสในการประมูล กสทช. ได้เชิญนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ผู้แทนจากสำนักงานตรวจการแผ่นดิน และนายอุน จู คิม ผอ.สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แห่งสหภาพโทร คมนาคมระหว่างประเทศ มาร่วมสังเกตการณ์

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า จากการที่มาสังเกตการณ์ พบว่าการดำเนินการประมูลรัดกุม และการจัดสถานที่ใน กสทช.ก็ใช้งบประมาณไม่สิ้นเปลือง จึงยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ส่วนการเสนอราคาที่มองว่าอาจมีการฮั้วกันนั้น จะต้องติดตามว่ามีการเสนอราคาจนผิดสังเกตหรือไม่ ซึ่งการประมูลครั้งนี้อยู่ในสายตาประชาชน หากพบว่าผิดสังเกตก็เป็นหน้าที่ กสทช.ต้องดูแลควบคุม

พ.อ.เศรษฐพงค์เปิดเผยว่า ในเวลา 10.00 น. เริ่มประมูลใบอนุญาตในรอบที่ 1 โดยให้เวลาให้ผู้ร่วมเข้าพิจารณาว่าจะประมูลคลื่นความถี่สิ้นสุดรอบแรกใน เวลา 10.30 น. ปรากฏว่า จากจำนวนช่องความถี่ที่เปิดประมูลทั้ง 9 ช่อง มีการเสนอราคาทั้งหมด 6 ช่อง เป็นการเสนอราคาซ้ำกัน จำนวน 2 ช่อง และมีช่องความถี่ที่ไม่ได้รับการเสนอราคา 3 ช่อง การประมูลรอบแรกพบว่ามีผู้เข้าประมูล 1 ราย ที่เสนอราคาใบอนุญาตแค่ 2 ช่อง จากสิทธิเสนอได้ 3 ช่อง

ทั้งนี้ ตามกฎการประมูลใบอนุญาตรอบแรก บังคับให้ผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 รายจะต้องยื่นเสนอราคาไม่ต่ำกว่า 1 ช่องความถี่ หากไม่มีเสนอราคาก็จะต้องออกจากการประมูลไป แต่ถ้ายื่น 2 ช่องความถี่ ในรอบต่อไปก็สามารถยื่นเพิ่มเป็น 3 ช่องความถี่ได้ โดย กสทช.มั่นใจว่าทั้ง 9 ช่องความถี่ผู้เข้าประมูลจะเสนอราคาได้ครบทุกช่อง

จากนั้นเวลา 11.30 น. จึงเริ่มการประมูลในรอบที่ 2 ที่ราคาใบอนุญาตปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4,775 ล้านบาทต่อช่องความถี่ ปรากฏว่า ยังมี 3 ช่องความถี่ที่ยังไม่ได้รับการเสนอราคาเช่นเดิม ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ชนะชั่วคราว ที่ไม่มีการเสนอราคาแข่งเพิ่มจำนวน 3 ช่องความถี่ และมี 3 ช่องความถี่ที่มีการเสนอราคาแข่งกัน

สำหรับการประมูลรอบที่ 3 ในเวลา 11.30 น. ปรากฏว่า มีช่องความถี่ 2 ช่อง ที่มีราคาสูงสุดที่ 4,950 ล้านบาท และมีเหลืออีก 1 ช่องสัญญาณที่ยังไม่ได้รับการประมูลจากผู้เข้าประมูลรายใด จากนั้นในการประมูลรอบที่ 4 เวลา 13.00 น. ปรากฏว่าผู้ประมูลไม่มีการเสนอราคาเพิ่ม โดยคงจำนวนช่องความถี่ไว้ที่ 8 ช่อง จากทั้งหมด 9 ช่อง แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ช่วงการประมูลขั้นสุดท้าย เนื่องจากมีผู้ประมูลรายหนึ่งใช้สิทธิเว้นการเสนอราคา หรือเวฟเวอร์ จึงทำให้ต้องมีการประมูลต่อในรอบที่ 5

ส่วนการประมูลรอบ 5 เวลา 14.00 น. ปรากฏว่าไม่มีผู้เข้าประมูลรายใดเสนอราคาเพิ่ม ขณะเดียวกันก็ไม่มีผู้ใช้สิทธิเวฟเวอร์ ทำให้การประมูลในรอบที่ 6 เวลา 14.30 น. เข้าสู่ช่วงการประมูลขั้นสุดท้าย ผลปรากฏว่า ช่องความถี่ที่เหลืออยู่อีก 1 ช่อง มีผู้เสนอราคา 4,500 ล้านบาท ทำให้ช่องความถี่ทั้ง 9 ช่องมีการประมูลจนครบถ้วน โดยช่องความถี่ที่มีการประมูลวงเงินสูงสุดมี 2 ช่องความถี่ที่ราคา 4,950 ล้านบาท และมีช่องความถี่ที่คงราคาเริ่มต้นไว้ที่ 4,500 บาท จำนวน 6 ช่องความถี่ ส่วนอีก 1 ช่องเรียกราคาไว้ที่ 4,725 ล้านบาท รวมวงเงินประมูลทั้ง 9 ช่องความถี่ เป็นจำนวน 41,625 ล้านบาท

เวลา 15.15 น. เข้าสู่การประมูลรอบ 7 โดยสิ้นสุดการประมูลในเวลา 16.00 น. ผลปรากฏว่าไม่มีผู้เข้าประมูลเสนอราคาเพิ่ม ทำให้การประมูลจบลง โดยวงเงินประมูลใบอนุญาตยังคงเดิมเท่ากับรอบที่ 6 รวมเป็นวงเงิน 41,625 ล้านบาท และหลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนที่ผู้เข้าประมูลจะต้องเข้ามาแสดงตนกับเจ้าหน้าที่ กสทช. เพื่อจัดลำดับผู้เสนอวงเงินประมูลสูงสุดสามารถเลือกย่านความถี่ได้เป็น อันดับแรก โดยมีเวลาเลือกย่านความถี่ไม่เกิน 30 นาที

เวลา 17.20 น. พ.อ.เศรษฐพงษ์ เปิดเผยถึงผลประมูลใบอนุญาต 3 จี ว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวส์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดที่ 14,625 ล้านบาท ขณะที่บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด และบริษัท ดีแทค เนทเวิร์ค จำกัด เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 41,625 ล้านบาท บริษัท แอดวานซ์ ไวส์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด จึงได้สิทธิ์เลือกย่านความถี่ก่อน และเลือกได้ย่านความถี่ชุดที่ 7 ที่ 1,950-1,955 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับ 2,140-2,145 เมกะเฮิร์ตซ์ ชุดที่ 8 1,955-1,960 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับ 2,145-2,150 เมกะเฮิร์ตซ์ ชุดที่ 9 1,960-1,965 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับ 2,150-2,155 เมกะเฮิร์ตซ์

ส่วนบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ได้ย่านความถี่ชุดที่ 4 ที่ 1,935-1,940 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับ 2,125-2,130 เมกะเฮิร์ตซ์ ชุดที่ 5 ที่ 1,940-1,945 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับ 2,135-2,140 ชุดที่ 6 1,950-1,955 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับ 2,145-2,150 เมกะเฮิร์ตซ์ สำหรับบริษัท ดีแทค เนทเวิร์ค จำกัด ได้ย่านความถี่ชุดที่ 1 1,920-1,925 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับ 2,110-2,115 เมกะเฮิร์ตซ์ ชุดที่ 2 1,925-1,930 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับ 2,115-2,120 เมกะเฮิร์ตซ์ ชุดที่ 3 1,930-1,935 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับ 2,120-2,125 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งผลการเลือกย่านความถี่ของทางผู้เข้ามาประมูลคิดว่าเป็นเรื่องกลยุทธ์ทาง ธุรกิจมากกว่าเรื่องเป็นทางเทคนิค

พ.อ.เศรษฐพงศ์กล่าวว่า การประมูลไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ใบอนุญาตเพื่อหาเงินเข้ารัฐได้มากที่สุด แต่เป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เหลืออยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ใช่การตั้งราคาสูง เช่นผลการศึกษาราคาตั้งต้นที่ 6,440 ล้านบาท ในทางสถิติแปลว่าจะสามารถจัดสรรคลื่นเสร็จเพียง 50% เท่านั้น จึงขอยืนยันว่าการประมูลครั้งนี้ โปร่งใส และเป็นการแข่งขันที่แท้จริง เพราะคงไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะฮั้วประมูล เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้จากผลการประมูลจะนำเข้าพิจารณาของคณะกรรมการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนเสนอบอร์ด กสทช. คาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ในเร็วๆ นี้

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ผลการประมูลคลื่น 3 จี เป็นไปตามที่คาดหมาย คือได้ราคาเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเพียงเล็กน้อยคือประมาณ 2.8% เท่านั้น คือเพิ่มจากราคาตั้งต้นโดยรวม 9 ใบ ที่ 40,500 ล้านบาท เป็นเพียง 41,625 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีคลื่น 6 ชุดที่มีราคาประมูลเท่ากับราคาตั้งต้น ทั้งนี้ การประมูลครั้งนี้แม้จะทำให้ประชาชนมีบริการ 3 จี ใช้กันอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า แต่ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในฐานผู้เสียภาษี เมื่อเทียบจากราคาประเมินถึง 16,335 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการทั้งสามรายได้ประโยชน์จากส่วนต่างนี้ไปเป็นเสมือนลาภลอย ทั้งนี้ยังไม่รวมประโยชน์ที่ได้จากการลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐอีกปีละ กว่า 40,000 ล้านบาท

นายสมเกียรติอ้างว่า การประมูลครั้งนี้มีลักษณะเอื้อต่อการสมคบกันของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน ผลการประมูลยังชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรงของการออกแบบการประมูล 2 ประการคือ 1.การจำกัดคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะสามารถถือครองได้ให้เท่า กัน ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น 2.การกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้เกิดความเสียหายมาก เมื่อไม่มีการแข่งขันกันเท่าที่ควร ทั้งนี้ หาก กสทช. ได้รับฟังข้อทักท้วงของฝ่ายต่างๆ ก็จะไม่เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าวขึ้น

"ผมจึงขอเรียกร้องให้ กสทช. รับผิดชอบต่อความเสียหายต่อรัฐและประชาชนที่เกิดขึ้น โดยให้แถลงต่อประชาชนว่า จะรับผิดชอบอย่างไร และขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ" นายสมเกียรติระบุ


ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์ ข่าวสด
post : วันพุธ ที่ 17 ตุลาคม 2555 เวลา 9:47:51 น. by www.CreditOnHand.com
tag : ข่าวไอทีอัพเดท 3จี-ไม่จ๊าบ ประมูลได้4.1หมื่นล้าน
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”