Page 1 of 1

Google เผยงานวิจัยด้าน AI ทีทำนายผลลัพธ์การรักษาได้แม่นยำกว่าการตรวจในปัจจุบันหลายเท่า

Posted: 30 Jan 2018, 17:28
by brid.samanan
Image

ทีมนักวิจัยของ Google เผยแพร่เอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นเพื่อใช้คาดการณ์ผลการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งพวกเขาระบุว่าสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำกว่าขั้นตอนการตรวจรักษาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น สามารถบอกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตในโรงพยาบาล หรือออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องกลับมาพักรักษาตัวใหม่ เป็นต้น


ซึ่งการวิจัยดังกล่าว Google มีการเก็บข้อมูลจากผู้ใหญ่ 216,221 คน หรือกว่า 46,000 ล้าน Data Point ใน 2 โรงพยาบาล คือศูนย์การแพทย์ซานฟรานซิสโกของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชิคาโก และข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บสะสมมานาน 11 ปี

แม้ว่าผลการวิจัยข้อมูลเหล่านี้จะยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างอิสระ แต่กูเกิลก็ระบุว่าการทำนายได้ผลพัฒนาไปกว่าโมเดลในการทำนายผลการรักษาในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยยกตัวอย่างความสามารถในการทำนายการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้เร็วกว่าวิธีปัจจุบันถึง 24-48 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้แพทย์มีเวลาบริหารจัดการมาตรการในการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้นานขึ้น

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของนักวิจัยกลุ่มนี้ในการฝึกฝนอัลกอริทึมให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้านสุขภาพ ก็คือแหล่งที่มาของข้อมูลมีปริมาณมหาศาลที่แตกต่างกัน และการใส่ Label ให้กับแฟ้มผู้ป่วยที่มีอาการน่าเป็นห่วง นอกจากนี้การเขียนบันทึกการรักษาโดยแพทย์และพยาบาลแต่ละบุคคลยังมีความแตกต่างกัน ทำให้ยากต่อการที่ระบบอัตโนมัติที่จะเข้าใจ

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว Google ได้ใช้ Deep Neural Network ที่ซับซ้อนถึงสามส่วนในการเรียนรู้จากข้อมูลทั้งหมด และค้นหาว่าส่วนใดที่จะส่งผลมากที่สุดต่อผลลัพธ์สุดท้าย หลังการวิเคราะห์ผู้ป่วยหลายพันคน ระบบก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่าคำและเหตุการณ์ใดที่จะเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์มากที่สุด และเรียนรู้ที่จะให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนเกินให้น้อยลง นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังต้องคิดอย่างระมัดระวังว่าจะทำอย่างไรให้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดได้หลังจากมันถูกสร้างขึ้นแล้ว ซึ่งใช้หลายส่วนประกอบกันในการตัดสินใจให้แม่นยำ ทีมนักวิจัยระบุว่างานส่วนนี้สำเร็จได้โดยอัตโนมัติด้วยผลงานจากโปรเจกเก่าของ Google ที่ชื่อว่า "Vizier"

งานวิจัยนี้ยังแสดงถึงการลงทุนเกี่ยวกับการใช้ AI กับงานด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีนี้กำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญของงานจากบริษัทอย่าง IBM ซึ่งระบุตัวเองในฐานะ "นักนวัตกรรมด้าน AI ทางสุขภาพ" ด้วย

ที่มา : www.qz.com
29/01/2018 By Thaiware.com