Page 1 of 1

ฤดูหนาวนิวเคลียร์คืออะไร? ทำความรู้จักกับ Nuclear winter ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 3 จะบังเกิด

Posted: 19 Apr 2018, 15:09
by brid.samanan
Image
ขอบคุณภาพประกอบจาก WikiImages @pixabay

วิกฤติความขัดแย้งในซีเรีย ทำให้นักวิเคราะห์หลายรายแสดงความวิตกกังวลว่า มันอาจขยายลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ระหว่างชาติระดับมหาอำนาจของโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นสงครามที่ถล่มกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งการถล่มกันอย่างหนักด้วยอาวุธนิวเคลียร์นั้นมีความเสี่ยงสูง ที่จะทำให้มนุษยชาติอาจสูญสิ้นเผ่าพันธุ์จากสภาวะที่เรียกว่า "ฤดูหนาวนิวเคลียร์" หรือ Nuclear winter เรามาทำความรู้จักกับภาวะการเกิด ฤดูหนาวนิวเคลียร์ กันว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้อย่างไร?

คำจำกัดคความของ ฤดูหนาวนิวเคลียร์ คือสภาวะความหนาวเย็นของโลกอย่างรุนแรง ที่เกิดหลังจากการถล่มด้วยระเบิดนิวเคลียร์จำนวนมาก โดยสมมติฐานนี้ตั้งบนความเป็นจริงที่ว่า พายุเพลิงจำนวนมากที่เกิดขึ้นหลังจากการถล่มกันด้วยระเบิดนิวเคลียร์นั้น จะส่งเขม่าควันจำนวนมาก ลอยสูงขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศระดับ สตราโตสเฟียร์ Stratosphere (15-50 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล) ซึ่งเขม่าควันที่มีความหนาแน่นนี้ จะบล็อคไม่ให้แสงอาทิตย์ส่องตรงมายังผิวโลก เมื่อไม่มีแสงอาทิตย์ส่องลงมาให้ความอบอุ่นแก่ผิวโลก ก็ทำให้โลกต้องตกอยู่ในสภาวะความหนาวเย็นอย่างยาวนาน และด้วยความที่ไม่มีแสงอาทิตย์ส่องลงมา ทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างการเจริญเติบโตได้ เมื่อพืชไร่ล้มตายกันหมด แน่นอนว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต้องอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก และถ้าสภาวะฤดูหนาวนิวเคลียร์คงอยู่อย่างยาวนาน มนุษย์และสิ่งที่ชีวิตทั้งหลายบนโลกก็จะพบกับสภาวะการสูญพันธุ์ในที่สุด

Image
ก้อนเมฆแบบ Pyrocumulonimbus ขอบคุณภาพประกอบจาก Wikipedia
พายุเพลิงที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ จะส่งเขม่าควันจำนวนมหาศาลขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศระดับโทรโปสเฟียร์ (Troposphere) และระดับชั้นล่างของ สตราโตสเฟียร์ โดยการก่อตัวของเขม่าควันที่ฟอร์มตัวในรูปทรงของก้อนเมฆแบบ Pyrocumulonimbus ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่มีพายุเพลิง โดยเฆมนี้สามารถลอยตัวขึ้นไปได้สูงถึงระดับ 10–15 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล มันดูดซับแสงอาทิตย์และความร้อนเอาไว้ ทำให้ผิวโลกเย็นลง

โดยสมมติฐานเกี่ยวกับผลกระทบของของ ฤดูหนาวนิวเคลียร์ นั้น เกิดจากการสร้างแบบจำลองบนระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้สเกลเดียวกับเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปูพรมเมือง Hamburg ประเทศเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และพายุเพลิงที่เกิดจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่เมือง Hiroshima ประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน โดยความรุนแรงของพายุเพลิงที่เกิดจากการทิ้งระเบิด ได้ทำให้เกิดเขม่าควันฟุ้งกระจายขึ้นไปสูงถึงระดับชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการเหตุการณ์เกิดพายุเพลิง ที่เผาไหม้ป่าในบริเวณกว้างของโลกยุคใหม่

การศึกษาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

มีการนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบที่เกิดกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ในงานสัมมนา American Geophysical Union ในเดือนธันวาคมปี 2006 พบว่าแม้แต่สงครามนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในส่วนเล็กๆ ของโลกก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้นานนับ 10 ปีหรือเกินกว่านั้น ในความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาจมีการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ในขนาดที่ใช้ถล่มเมือง Hiroshima เป็นจำนวนถึง 50 ลูก (แต่ละลูกมีพลังทำลาย 15 กิโลตัน) โดยเป็นการทิ้งลงในบริเวณที่มีประชากรหนาแน่น และถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริง จะทำให้เกิดเขม่าควันจำนวนมากถึง 5 ล้านตัน ลอยสูงขึ้นไปปกคลุมบนชั้นบรรยากาศ และทำให้ในหลายๆ ภูมิภาคของโลกอุณหภูมิลดต่ำลงหลายองศา ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เป็นแหล่งกสิกรรมที่สำคัญของโลก และความหนาวเย็นจะคงอยู่ยาวนานนับปี ซึ่งผลจากการวิจัยสรุปได้ว่ามันคือภัยพิบัติ

นี่เป็นเพียงผลจากสงครามนิวเคลียร์ในภูมิภาคเล็กๆ ของโลก ลองคิดดูว่าถ้าประเทศระดับมหาอำนาจของโลกที่สะสมอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้มากมาย ได้นำมันออกมาใช้ ผลกระทบที่ตามมาจะเลวร้ายในระดับไหน

การพร่องหายของโอโซน

ผลการศึกษาของคุณ Michael J. Mills ที่มีการตีพิมพ์ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อปี 2008 เปิดเผยว่า หากมีการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ในสงครามระหว่าง อินเดีย และ ปากีสถาน ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีความขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน และต่างก็มีระเบิดนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งคู่ และถ้าทั้ง 2 ประเทศตัดสินใจห่ำหั่นกันด้วยระเบิดนิวเคลียร์ ก็จะทำให้เกิดการพร่องหายของชั้นโอโซนเป็นวงกว้าง ทำให้เป็นผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ และเกิดผลเสียกับสภาพแวดล้อม และสภาพการพร่องหายของโอโซนบนชั้นบรรยากาศ จะดำรงอยู่นนานนับ 10 ปี

***โอโซน เป็นส่วนหนึ่งของชั้นบรรยากาศโลกที่ดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด ซึ่งรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

Image

ไดอะแกรมด้านบน เป็นเอกสารที่ CIA ได้มาจากงานสัมมนาในระดับนานาชาติเกี่ยวกับสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอิตาลีในปี 1984 เป็นผลงานที่เกิดจากการสร้างโมเดลจำลองแบบสามมิติบนระบบคอมพิวเตอร์ของสหภาพโซเวียตในปี 1983 เป็นการจำลองเพื่อหาผลกระที่เกิดจากฤดูหนาวนิวเคลียร์ ไดอะแกรมนี้แสดงให้เห็นการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอุณหภูมิของโลกที่จะเกิดขึ้นหลังจากการถล่มกันด้วยระเบิดนิวเคลียร์ขนานใหญ่ โดยภาพบนแสดงให้เห็นความเปลี่ยแปลงใน 40 วันหลังจากสงครามนิวเคลียร์ จะเห็นว่าในบางโซนอุณหภูมิลดลงถึง 40 องศาหรือเกินกว่านั้น ซึ่งเป็นสภาพที่ยากสำหรับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ส่วนภาพล่างนั้นเป็นความเปลี่ยนแปลงในวันที่ 243 หลังจากที่เกิดสงครามนิวเคลียร์ จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมีระดับที่ลดลง

ที่มา : en.wikipedia.org
19/04/2018 By Thaiware.com