Page 1 of 1

นักวิจัยพัฒนาเครื่องพิมพ์สามมิติขนาดมือถือ สามารถพิมพ์ชั้นผิวหนังบนแผลได้โดยตรง

Posted: 08 May 2018, 17:39
by brid.samanan
Image

ทีมนักวิจัยจาก University of Toronto ประเทศแคนาดา พัฒนาเครื่องพิมพ์ชั้นผิวหนัง 3 มิติ (3D) แบบมือถือขึ้นมา เพื่อนำมาใช้ในการปิด และรักษาบาดแผลลึก ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ในการปลูกถ่ายผิวหนัง โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีตัดผิวหนังส่วนอื่น มาแปะเหมือนก่อน

งานวิจัยดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Lab on a Chip นำทีมโดย Navid Hakimi นักศึกษาปริญญาเอก ภายใต้การดูแลของผู้ช่วยศาตราจารย์ Axel Guenther จากคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรม ร่วมด้วย ดร. Marc Jeschke ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลผู้ป่วยแผลไฟไหม้ Ross Tilley Burn Centre แห่งโรงพยาบาล Sunnybrook Hospital และอาจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากคณะแพทยศาสตร์

สำหรับผู้ป่วยที่มีแผลลึกนั้น ชั้นผิวหนังทั้ง 3 ชั้น (ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ และชั้นใต้หนังแท้) จะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันเรียกว่า การปลูกถ่ายผิวหนังแบบ Split-Thickness Skin Grafting (STSG) ที่จะนำผิวหนังที่มีสุขภาพดีจากผู้บริจาคมาปลูกถ่ายบนชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ แต่หากเป็นบาดแผลใหญ่ ก็จำเป็นต้องใช้ผิวหนังที่มีสุขภาพดีจากผู้บริจาคในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการปลูกถ่ายผิวหนังได้ทั้ง 3 ชั้น ซึ่งหาได้ยาก จึงทำให้ส่วนที่ไม่ได้รับการปลูกถ่ายผิวหนังมีการรักษาที่ได้ผลไม่ดีนัก

แม้จะมีผิวหนังเทียมที่เรียกว่า ผิวหนังวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (Tissue-Engineered Skin) มาทดแทน แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ขณะที่เครื่องพิมพ์ชีวภาพ 3D ส่วนใหญ่มักมีขนาดใหญ่ และทำงานได้ช้า อีกทั้งยังมีราคาแพง และไม่สามารถนำมาใช้ในทางคลินิกได้ ซึ่งต่างจากเครื่องพิมพ์ชั้นผิวหนัง 3D ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ ที่มีขนาดเล็ก และต้นทุนการผลิตที่ไม่แพง

ทีมนักวิจัยเชื่อว่าเครื่องพิมพ์ชั้นผิวหนัง 3D นี้จะเอาชนะกำแพงอุปสรรคที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ โดยเครื่องพิมพ์นี้มีน้ำหนักไม่ถึง 2 ปอนด์ (ประมาณ 90 กรัม) การใช้งานก็ง่ายคล้ายกับวิธีการใช้เทปลบคำผิด เพียงแค่กลิ้งอุปกรณ์ดังกล่าวให้ "หมึกชีวภาพ" (Bio Ink) ที่มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อผิวหนังทาบกับบริเวณที่เป็นบาดแผลโดยตรง

นักวิจัยระบุด้วยว่านี่น่าจะเป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกที่สามารถสร้างชั้นผิวหนังบนบาดแผลได้โดยตรงภายในเวลาแค่ 2 นาทีหรือน้อยกว่านั้น เพียงแต่เครื่องพิมพ์ชั้นผิวหนัง 3D ยังไม่ได้นำมาทดสอบกับมนุษย์ แต่ได้ผ่านการทดลองกับหมูมาแล้ว ซึ่งในอนาคตจะมีการเพิ่มความสามารถที่หลากหลายให้กับเครื่องพิมพ์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการขยายพื้นที่ในการปกปิดแผลให้ใหญ่ขึ้นด้วย

ที่มา : www.cnet.com , www.utoronto.ca , www.utoronto.ca , pubs.rsc.org
8/05/2018 By Thaiware.com