Page 1 of 1

นักวิทยาศาสตร์เชื่อสัตว์ตอบสนองต่อเสียงดนตรีตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ หลังทดลองกับจระเข้แม่น้ำไนล์

Posted: 10 May 2018, 17:12
by brid.samanan
Image

อย่างที่ทราบกันว่าเพลงสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองจากมนุษย์ นก หรือสัตว์อื่นๆ ได้ โดยสัตว์หลากหลายชนิดล้วนมีการตอบสนองต่อท่วงทำนองเพลงที่ซับซ้อน แต่เรายังไม่ทราบว่าคุณลักษณะนี้เป็นสากลหรือไม่ และมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่เมื่อไหร่

ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงเลือกทดลองกับจระเข้แม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างมีความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกับเมื่อ 200 ล้านปีก่อน โดยนักวิทยาศาสตร์จากเยอรมนีและแอฟริกาใต้ ขอยืมตัวจระเข้แม่น้ำไนล์มาจากสวนสัตว์แห่งหนึ่ง และใช้เทปมัดปากของมันไว้เพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งให้ยาระงับประสาทอย่างอ่อนๆ เพื่อให้มันสงบ

จากนั้น ได้นำจระเข้ไปเข้าเครื่องสแกนสมอง fMRI (functional Magnetic Resonance Imaging) เพื่อดูว่าสมองมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไรต่อสิ่งเร้าที่แตกต่างกัน อาทิ การให้ฟังโทนเสียงที่มีความถี่คงที่ หรือฟังเพลงคลาสสิก Brandenburg Concerto No. 4 ของ Bach ศิลปินเพลงชื่อดัง

ผลการทดลองดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B พบว่าสมองของจระเข้มีการตอบสนองต่อเพลงในทิศทางที่ใกล้เคียงกับการตอบสนองของนก แต่นกสามารถสร้างสรรค์เพลงของมันขึ้นมาได้ ขณะที่จระเข้ไม่สามารถทำได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนว่าจระเข้จะมีความสนใจในเสียงดนตรี

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาสมองของสัตว์เลือดเย็นอย่างสัตว์เลื้อยคลานด้วยการใช้เครื่อง fMRI ซึ่งผลที่ได้คือสัตว์มีการตอบสนองต่อเสียงดนตรี หรืออย่างน้อยๆ เสียงที่มีความซับซ้อน เช่นเสียงนกร้อง หรือเพลงของ Bach ก็สามารถส่งอิทธิพลต่อสมองของจระเข้ได้ รวมถึงสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, สัตว์ปีก และสัตว์เลื้อยคลานด้วย

ทั้งนี้ จากการที่จระเข้เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย นับตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์เป็นต้นมา จึงมีความเป็นได้ที่คุณลักษณะนี้น่าจะมีอยู่ในสมองของสัตว์มานานหลายร้อยล้านปีแล้ว

ที่มา : www.newsweek.com
10/05/2018 By Thaiware.com