Page 1 of 1

ยาแก้ปวดที่สกัดจากพิษของหอยทากทะเล มีฤทธิ์บรรเทาปวดมากกว่ามอร์ฟีนถึง 100 เท่า

Posted: 28 May 2018, 15:15
by brid.samanan
Image

ยาที่สกัดจากพิษของหอยทากทะเล แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของการเป็นยาบรรเทาอาการปวด ตามรายละเอียดของผลงานวิจัยที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อของ Agence France-Presse (AFP)

ผลการทดสอบทางยาในห้องแลปนั้นได้มีการทดลองกับหนู ยังไม่ได้ทดสอบกับมนุษย์แต่อย่างใด พบว่ายาบรรเทาอาการปวดที่สกัดจากพิษของหอยทากทะเล นั้นมีฤทธิ์เป็น 100 เท่าของมอร์ฟีน ซึ่งมอร์ฟีนรู้จักกันในฐานะของสารที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ความหวังของของยาบรรเทาอาการปวดแบบใหม่นี้ มีข้อดีเหนือมอร์ฟีนคือ มันไม่ใช่สารเสพติด และไม่เสี่ยงกับอันตรายของการใช้ยาเกินขนาด

ยาแก้ปวดรูปแบบใหม่นี้มีส่วนผสมของสาร Conotoxin ที่สกัดจากตัวหอยทากทะเลที่มีชื่อเรียกว่า Cone snail ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก หรือมหาสมุทรอินเดีย

เจ้าหอยทากทะเลล่าเหยื่อโดยการปล่อยชุดฟันออกไปพุ่งกัดเหยื่อในลักษณะคล้ายกับการยิงหน้าไม้ จากนั้นต่อมพิษก็จะทำการปล่อยพิษใส่เหยื่อเพื่อทำให้มันกลายเป็นอัมพาตในระยะเวลายาวนานพอที่เจ้าหอยทากจะเขมือบเหยื่อของมัน

โดยสำนักข่าว AFP รายงานว่ายาระงับอาการปวดที่มีส่วนประกอบของสาร Conotoxin และ Ziconotide ได้ผ่านการรับรองเพื่อนำไปใช้งานกับมนุษย์แล้ว โดยยังไม่มีการผลิตเป็นยาเม็ดในช่วงเวลานี้ แต่จะเป็นการฉีดยาเข้าทางไขสันหลัง โดยคุณ David Craik หัวหน้าทีมวิจัยของ University of Queensland ในประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า โปรตีนจากพิษของหอยทากทะเลสามารถแปรเปลี่ยนเป็นสารประกอบแบบใหม่ได้ถึง 5 แบบ และจากข้อมูลที่มีการให้รายละเอียดในงานสัมมนา American Chemical Society ซึ่งจัดขึ้นในเมือง Dallas ประเทศสหรัฐอเมริกา มีรายละเอียดว่า สารประกอบรูปแบบหนึ่งที่ได้จากพิษของหอยทากทะเลนั้น สามารถลดอาการเจ็บปวดของหนูอย่างได้ผล

David Craik กล่าวว่า "นี่เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่เป็นรากฐานให้กับการพัฒนายารูปแบบใหม่ สำหรับการรักษาอาการปวดแบบเรื้อรัง ซึ่งเป็นอาการที่ยังรักษาให้หายได้ยากในเวลานี้"

พิษของของสัตว์สามารถปิดกั้นระบบประสาทการรับรู้ของเราได้ และมันมีฤทธิ์ที่แตกต่างจากการใช้มอร์ฟีน รวมถึงยาแก้ปวดแบบไฮโดรโคโดน (Hydrocodone) และยาแก้ปวดแบบโอปิออยด์ (Opioid) โดยที่ยาเหล่านี้ทำให้เกิดการเสพติด และมีอันตรายจากการใช้ยาเกินขนาด

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ วงการเภสัชเริ่มศึกษาพิษจากสัตว์เพื่อนำมาใช้ทำยาบรรเทาอาการปวดรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชากรอเมริกันถึง 15% และมันยังมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เบาหวาน เอดส์ รวมถึงอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ

คุณ David Craik กล่าวปิดท้ายว่า "เรายังไม่รู้ถึงผลข้างเคียงของยา เนื่องจากยังไม่มีการทดลองใช้ในมนุษย์ แต่เราคิดว่ามันจะปลอดภัย และต้องรออีกอย่างน้อย 2 ปีกว่าจะได้ลองใช้งานกับมนุษย์"

ที่มา : www.ibtimes.com
27/05/2018 By Thaiware.com