การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ กำลังจะกลายเป็นอะไรที่มีความสำคัญมากกว่าการฟื้นฟูตัวเองจากสภาพความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปเสียแล้ว เพราะมีการค้นพบว่า การนอนอย่างเพียงพอ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้สมองของเราจัดการล้างสภาพความเป็นพิษที่เกิดขึ้นในสมองในระหว่างช่วงวัน
นักวิจัยค้นพบว่า การนอนน้อยอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดการทำลาย เซลล์ประสาท (Neurons) และจุดประสานประสาท (Synaptic)
ทีมที่นำโดยนักประสาทวิทยาศาสตร์ นามว่า Michele Bellesi จากสถาบัน Marche Polytechnic University ในประเทศอิตาลี ได้ทำการทดสอบว่า สมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีการตอบสนองอย่างไรต่อพฤติกรรมการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ได้พบความแตกต่างอย่างน่าประหลาดใจระหว่างหนูที่ได้นอนหลับอย่างเพียงพอ กับหนูที่นอนน้อย
เหมือนกับเซลล์ในทุกๆ ส่วนของร่างกาย เซลล์ประสาทของเราจะได้รับการฟื้นฟูโดย Glial cell 2 รูปแบบ (Glial cell คือเซลล์ที่ทำหน้าที่เปรียบเหมือนกาว ที่ซ่อมแซมระบบประสาท) ซึ่งก็ได้แก่ Microglial cells ที่ทำหน้าที่กำจัดเซลล์เก่า และเซลล์ที่เสื่อมสภาพ ด้วยกระบวนการที่มีชื่อว่า ฟาโกไซโทซิส (Phagocytosis ที่มีความหมายถึงการเผาผลาญ) และ แอสโทรไซต์ (Astrocytes) ที่ทำหน้าที่ตัดจุดประสานประสาทที่ไม่จำเป็น เพื่อทำให้สมองสามารถสร้างจุดประสานใหม่ขึ้นมาแทนที่ของเดิมได้
โดยกระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเฉพาะตอนที่เราหลับ เพื่อจัดการกับความเหนื่อยล้าของสมอง และดูเหมือนว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นถ้าเรานอนหลับไม่เพียงพอ และแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดี เพราะมีการค้นพบว่า สมองจะเริ่มทำลายตัวเอง!
โดยคุณ Bellesi นักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังงานวิจัยนี้กล่าวว่า "เป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่า บางส่วนของจุดประสานประสาท ถูกกลืนกินโดย แอสโทรไซต์ เมื่อนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ"
และเพื่อการทดลองในเรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์ ได้ทำการสแกนสมองของหนู 4 กลุ่ม ตามนี้
- หนูกลุ่มที่ 1 ได้รับการปล่อยให้พวกมันนอน 6-8 ชั่วโมง ในแต่ละวัน (นอนหลับอย่างเพียงพอ)
- หนูกลุ่มที่ 2 ได้รับการปลุกให้ตื่นเป็นช่วงๆ (ตื่นเป็นช่วงๆ)
- หนูกลุ่มที่ 3 ถูกบังคับให้ตื่นนอนเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ในเวลาที่พวกมันควรจะได้นอน (นอนไม่เพียงพอ)
- หนูกลุ่มที่ 4 ถูกบังคับไม่ให้นอนต่อเนื่องถึง 5 วัน (นอนหลับไม่เพียงพออย่างเรื้อรัง)
ในขณะที่หนูกลุ่มที่ 3 และ 4 พบว่า แอสโทรไซต์ ทำงานเกินขนาด ทำให้เกิดการกลืนกินจุดประสานประสาท (Synapses) มากจนเกินพอดี ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า Astrocytic phagocytosis (การกำจัดเซลล์โดยแอสโทรไซต์)
ในหนูกลุ่มที่ 3 ที่นอนไม่เพียงพอ พบว่า แอสโทรไซต์ ทำงานกับจุดประสานประสาทมากถึง 8.4% ในขณะที่หนูกลุ่มที่ 4 ที่นอนหลับไม่เพียงพออย่างเรื้อรัง พบว่ามีการทำงานมากถึง 13.5%
และคุณ Bellesi บอกว่า จุดประสานประสาทของหนูในกลุ่มที่ 3 และ 4 ถูกกัดกินเป็นจำนวนมาก และพฤติกรรมแบบนี้ มีความเชื่อมโยงกับโรคทางสมองอย่างเช่น อัลไซเมอร์ และการเสื่อมของระบบประสาท
แต่ก็ยังมีคำถามที่ตามมามากมายจากการทดลองนี้ ข้อแรกเลยก็คือ กระบวนการเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นในสมองของมนุษย์หรือไม่? และสองคือ การกลับมานอนหลับอย่างเพียงพอจะช่วยซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองได้หรือไม่?
แต่ก็มีข้อเท็จจริงคือ สาเหตุการตายจาก อัลไซเมอร์ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากการที่มีการเก็บสถิติครั้งแรกในปี 1999 บวกกับความที่ผู้คนในโลกยุคนี้ ต้องทำงานหนัก และมีกิจกรรมมากมาย ทำให้ยากที่จะนอนหลับอย่างเพียงพอ ทำให้กลับมาคิดว่า เราควรจะกลับมาทบทวนเรื่องนี้ดีไหม? เพื่อการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
ที่มา : www.sciencealert.com
05/03/2019 By Thaiware.com