Page 1 of 1

รวม 8 เทคนิคการใช้ Google Map ในช่วงวิกฤตโรคระบาด ให้อยู่กับมันได้อย่างปลอดภัย

Posted: 13 Feb 2021, 10:23
by brid.samanan
Image
ภาพจาก : freepik.com (mockup.store) , storage.googleapis.com

รวม 8 เทคนิคการใช้ Google Map ในช่วงวิกฤตโรคระบาด
(8 Recommended Google Map Tips & Tricks in Pandemic Situation)


จากสถานการณ์โรคระบาดในหลายประเทศ ทำให้การใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น ช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และยังประหยัดเวลาในการเดินทาง ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น แอปพลิเคชัน Google Maps ที่ติดมากับสมาร์ทโฟนแทบทุกเครื่อง ก็มีประโยชน์ในช่วงเวลาฉุกเฉินเป็นอย่างมาก ช่วยวางแผนการเดินทางได้เป็นอย่างดี แถมยังเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ขณะเดินทางอีกด้วย ส่วนมันมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันที่ด้านล่างนี้ได้เลย

1. ค้นหา Timeline ประวัติการเดินทางย้อนหลัง
นับว่าเป็นฟีเจอร์ยอดฮิตที่สุดนอกจากการนำทางเลยก็ว่าได้ กับ Google Timeline การค้นหาประวัติการเดินทางผ่าน Google Maps เช็คได้อย่างละเอียดว่าใน 1 วันไปทำอะไร ที่ไหนมาบ้าง ด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือขนส่งสาธารณะ หรือวันนั้นอยู่บ้านทั้งวัน เพื่อตรวจสอบว่าเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โรคระบาดหรือไม่

ในส่วนของการใช้งาน ก็เพียงเข้าไปที่แอปพลิเคชัน Google Maps → เลือกที่ไอคอนมุมขวาบนที่แสดงอีเมล์ของตัวเอง แล้วเลือก Your Timeline สามารถระบุได้ทั้งกิจกรรมใน 1 วัน, สถานที่ที่ผ่านไป ขยายใหญ่ได้ถึงระดับจังหวัด ประเทศและโลก แต่แนะนำว่าให้เลือกดูแบบ Day จะสามารถเช็คได้ละเอียดที่สุด

Image
วันที่เป็นวงกลมสีเทา คือ วันที่อยู่บ้านทั้งวัน
วันที่เป็นวงกลมสีขาว คือ วันที่มีการเดินทาง


Image
แผนที่ระบุสถานที่และการเดินทางอย่างละเอียด

2. หลีกเลี่ยงกลุ่มคนที่หนาแน่น ผ่าน Traffic
เพราะในสถานการณ์โรคระบาดต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบห่างกัน ไม่ควรไปในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิดผู้คน รวมถึงเช็คการจราจรแบบ Real Time สามารถทำได้ด้วย Traffic เพียงเข้าไปที่ Google Maps > พิมพ์ในช่องค้นหาสถานที่ว่า Traffic หรือกด "ปุ่ม Layer" ด้านขวาบนแล้วเลือก Traffic แผนที่ก็จะแสดงเส้นทางทั้งสีเขียว คือ การจราจรปกติ, สีส้ม คือ การจราจรเริ่มหนาแน่, สีแดง คือ การจราจรเริ่มติดขัด มีปริมาณรถหนาแน่น และสีแดงเข้มที่แปลว่าการจราจรติดขัด นิ่งสนิท ควรหลีกเลี่ยง

และถึงแม้ว่าข้อมูลการจราจรเหล่านี้จะเกิดจากการใช้งานยานพาหนะส่วนตัว แต่ก็ช่วยให้คนเดินเท้าทราบข้อมูลว่าควรหลีกเลี่ยงเส้นทางไหน เพราะเป็นเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเต็มไปด้วยมลพิษ ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่นกัน

Image

3. ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อคร่าว ๆ ด้วย Layers
แต่ถ้าใครต้องการทราบจำนวนผู้ติดเชื้อ (อย่างในปัจจุบันก็คือ COVID-19) ทางกูเกิลก็ออกฟีเจอร์พิเศษอย่าง Layer หรือการแบ่งโซนแต่ละพื้นที่และประเทศว่า พื้นที่ใดมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากน้อยแค่ไหน โดยเริ่มจากการเข้าแอปพลิเคชัน Google Maps → กดที่ "ปุ่ม Layer" บริเวณขวาบน แล้วเลือก COVID-19 Info

โดยทาง Google Maps จะแสดงข้อมูลเคสผู้ติดเชื้อย้อนหลัง 7 วัน ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน แนวโน้มที่ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วและผู้เสียชีวิต ซึ่งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในระดับ 0.9 มีจำนวนเคสน้อยมาก ๆ และแสดงผลเป็นสีเทา

Image
Image
Image

แต่เมื่อย้ายมาดูทางฝั่งยุโรปและอเมริกา จะเห็นว่าแสดงผลหลายสีสลับกันไป ประกอบด้วย สีเหลืองอ่อน = จำนวนผู้ติดเชื้อ 1-10 คนต่อ 100,000 คน, สีส้ม = จำนวนผู้ติดเชื้อ 10-20 คนต่อ 100,000 คน, สีแสด = จำนวนผู้ติดเชื้อ 20-30 คนต่อ 100,000 คน, สีแดง = จำนวนผู้ติดเชื้อ 30-40 คนต่อ 100,000 คน และสีแดงเข้ม ที่แสดงพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ 40 คน ขึ้นไปต่อ 100,000 คน

4. ค้นหาสถานที่ที่ต้องการได้ง่าย ๆ
ส่วนใครที่ต้องการหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน เสี่ยงต่อการเจอเชื้อโรค แต่ก็ต้องออกไปทำธุระแบบรีบไป รีบกลับ ทาง Google Maps ก็ได้แนะนำวิธีที่น่าสนใจ ดังนี้

วางสถานที่ที่ต้องการจะไป และ add stop เพื่อเพิ่มจุดหมาย และให้ Google Maps วางแผนว่าไปเส้นทางใด เร็วที่สุด
ค้นหาสถานที่ที่จำเป็นต้องไปตาม Category ที่ Google จัดหมวดหมู่ไว้ เช่น หากต้องการซื้ออาหารนอกบ้าน ให้ค้นหาร้านอาหารที่รองรับ Takeout การซื้อกลับบ้าน และ Delivery มีบริการส่งถึงบ้าน, Groceries สำหรับซื้อของใช้จำเป็น, Hospital ค้นหาโรงพยาบาล คลินิกที่ใกล้ตัวที่สุด, Pharmacies ร้านขายยา ส่วนใครที่ต้องเติมเชื้อเพลิงให้ยานพาหนะ ให้เลือกหมวดหมู่ Gas หรือ Electric Vehicle charging สำหรับรถไฟฟ้า EV

Image
ตัวอย่างหมวดสถานที่ต่าง ๆ
ค้นหาง่าย ๆ เพียงกดครั้งเดียว


Image
ตัวอย่างสถานที่ยอดฮิตในปัจจุบัน
อย่างสถานีชาร์จไฟรถยนต์ EV


5. ลดการสัมผัสหน้าจอ เพิ่มการสั่งงานด้วยเสียง
อย่าลืมว่าเชื้อโรคหลาย ๆ ประเภทแพร่ได้ด้วยการสัมผัส ซึ่งสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ ก็เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคจำนวนมาก ถ้าใครคิดว่าการเช็ดทำความสะอาดสมาร์ทโฟน หรือใช้เจลล้างมือบ่อย ๆ อาจไม่พอ ขอแนะนำให้ใช้งาน Google Maps ร่วมกับ Google Assistant กันไปเลย หรือจะกด "ปุ่มรูปไมโครโฟน" ที่ช่องค้นหาสถานที่ใน Google Maps แล้วออกเสียงสถานที่นั้น ๆ ได้เลย

Image
กด "ปุ่มไมโครโฟน" แล้วทำการสั่งงานด้วยเสียง

Image
ได้ผลลัพธ์เหมือนกับการพิมพ์เพื่อค้นหา

6. ค้นหาสถานที่ฉีดวัคซีนที่ใกล้ที่สุด (ยังใช้ไม่ได้ในไทย)
ส่วนนี่เป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจที่สุด แต่กลับยังใช้ไม่ได้ซะอย่างนั้น สำหรับฟีเจอร์ค้นหาสถานที่รับฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ใช้งานได้เฉพาะในบางรัฐที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น เพียงพิมพ์ในช่องค้นหาสถานที่ว่า "COVID-19 Vaccine" หรือ "COVID-19 Testing" และตามด้วยชื่อสถานที่หรือชื่อเมืองนั้น ๆ เพื่อค้นหาสถานพยาบาลที่มีบริการตรวจเชื้อโควิดและฉีดวัคซีน เพื่อการป้องกันร่างกายไม่ให้ติดเชื้อโดยเร็วที่สุด

และนอกจากแผนที่จะแสดงพิกัดสถานที่แล้ว ยังมีปุ่นสำหรับนัดหมายออนไลน์ในตัว แต่ฟีเจอร์นี้ยังมีอยู่ในบางรัฐเท่านั้น ได้แก่ Arizona, Mississippi, Louisiana, และ Texas ซึ่งคาดว่าจะขยายการใช้งานฟีเจอร์นี้ไปในรัฐอื่น ๆ ต่อไป

Image
https://blog.google/technology/health/v ... e-helping/

7. ส่งตำแหน่งแบบเรียลไทม์ สดๆ ผ่าน Google Maps ได้
นี่อาจจะไม่เกี่ยวกับการใช้งาน Google Maps ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดเท่าไหร่นัก แต่ก็เป็นฟีเจอร์ที่ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ อย่างเช่นการส่งตำแหน่งที่อยู่ (Location) แบบเรียลไทม์สดๆ ให้กับผู้อื่นแบบส่วนตัว หรือจะแชร์ให้สมาชิกครอบครัวและกลุ่มเพื่อน ๆ ทราบก็ได้ เพียงกดที่ไอคอนอีเมล์มุมขวาบนแล้วเลือก Location Sharing เพื่อส่งเข้าที่ Contact ของคนอื่น ๆ หรือส่งเข้าแอปพลิเคชันแชทก็สามารถทำได้เช่นกัน

โดยมีให้เลือกทั้งแชร์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือแชร์ต่อไปยาว ๆ จนกว่าเราจะเข้าไปกด Stop หรือหยุดการแชร์พิกัด ซึ่งไม่ว่าเราจะเดินทางไปที่ไหน อีกฝ่ายก็จะทราบพิกัดของเราได้แบบสด ๆ ทันที

Image

8. แจ้งเตือนความปลอดภัยเมื่อออกนอกเส้นทาง (ยังใช้ไม่ได้ในไทย)
อีกหนึ่งทิปส์ Google Maps สุดล้ำที่เปิดให้ใช้งานแล้วในประเทศอินเดียอย่างระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยเมื่อขับรถหรือโดยสารพาหนะแล้วเกิดเหตุการณ์ออกนอกเส้นทางที่วางไว้ ซึ่งฟีเจอร์นี้มีขึ้นสำหรับชาวอินเดียที่โดยสารรถแท็กซี่ แล้วเกิดเหตุการณ์คนขับพาออกนอกเส้นทาง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย

โดยในแผนที่จะทำการระบุพิกัดของผู้ใช้เมื่อเริ่มใช้บริการแท็กซี่ หากมีการออกนอกเส้นทางเกินรัศมี 500 เมตร ระบบของ Google จะทำการแจ้งให้ผู้ทราบ และมี "ปุ่ม Stay Safer" ในหน้าแผนที่ สำหรับแจ้งพิกัดให้คนในครอบครัวทราบอีกด้วย

Image
https://beebom.com/google-maps-tricks/

เห็นแบบนี้แล้วก็ได้รู้ว่า แอปพลิเคชัน Google Maps มีประโยชน์ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะช่วยนำทาง ช่วยค้นหาข้อมูลใกล้ตัวเมื่ออยู่นอกบ้านหรือในบ้าน หรือเช็คประวัติการเดินทางย้อนหลังก็สามารถทำได้ ยิ่งในช่วงโรคระบาดครองเมืองแบบนี้ ให้ Google Maps ช่วยวางแผนการเดินทางก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้การเดินทางใช้เวลาให้น้อยที่สุดนั่นเอง

ที่มา : www.tomsguide.com , support.google.com , beebom.com
By Thaiware.com
05/02/2021