Page 1 of 1

NFT คืออะไร รู้จักช่องทางสร้างรายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรง !

Posted: 21 Jan 2022, 10:12
by brid.yanee
ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือเหรียญดิจิทัลอย่าง Bitcoin, Ethereum, Dogecoin ฯลฯ จะมาแรงสุด ๆ แล้ว อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่กำลังเป็นกระแสไม่แพ้กันก็คือ NFT ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในกลุ่มศิลปินและนักสะสม ไม่ว่าจะเป็นวงการศิลปะ เกม แฟชั่น ฯลฯ ต่างโดดเข้ามาร่วมวง NFT จนมีเม็ดเงินหมุนเวียนอย่างมหาศาล ดังนั้นถ้าใครไม่อยากตกเทรนด์ ต้องรู้จัก NFT กันหน่อยแล้ว

Image

NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token เป็นชื่อเรียกของ Cryptocurrency ประเภทหนึ่ง เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ ต่อให้มีการก๊อบปี้ไป แต่ต้นฉบับของจริงจะมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนโทเคน NFT ก็เป็นเหมือนโฉนด เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ชิ้นนี้

1. NFT แต่ละเหรียญมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทดแทนกันไม่ได้
NFT เป็นสินทรัพย์ที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่สามารถนำ NFT หรือโทเคนอื่นมาทดแทนได้ ต่างจากเงินจริง ๆ หรือ Cryptocurrency ที่เป็น Fungible Token คือ ทุกเหรียญในสกุลเงินนั้นไม่มีความแตกต่างกัน สามารถใช้ซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนแทนกันได้หมด

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนขอยืมเงิน 100 บาท เราให้แบงก์ร้อยไป เมื่อเพื่อนนำเงินมาคืน ก็ไม่จำเป็นต้องเอาแบงก์ร้อยใบเดิมมาคืนก็ได้ จะนำเหรียญห้า เหรียญสิบ แบงก์ยี่สิบ แบงก์ห้าสิบ หรือแบงก์ร้อยใบอื่นมาคืนก็ไม่มีใครว่า เพราะมีมูลค่าเท่ากัน สามารถใช้ทดแทนกันได้

ส่วน NFT ก็เหมือนกับงานศิลปะ ถ้าเราตั้งใจจะซื้อภาพนี้ ก็ต้องได้โทเคนของภาพนี้เท่านั้น จะเอาโทเคนอื่นมาให้แทนไม่ได้ เนื่องจากเป็นคนละภาพกัน


2. NFT ใช้แลกเปลี่ยนซื้อ-ขายสินค้าไม่ได้

เราสามารถนำ Cryptocurrency ไปใช้เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม หรือนำไปซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ใช้แทนเงินสดได้ในร้านค้าหรือบริการที่รับชำระด้วยเหรียญดิจิทัล เช่น นำอีเธอเรียม (Ethereum) ไปจ่ายค่าอาหาร, ใช้บิตคอยน์ซื้อรถยนต์ เป็นต้น

แต่สำหรับ NFT จะไม่สามารถนำไปใช้ซื้อ-ขายสินค้าอื่นได้เลย นอกจากจะนำตัว NFT ออกมาขายเอง

3. ต้องซื้อ-ขาย NFT แบบเต็มหน่วยเท่านั้น

ปกติเวลาซื้อเหรียญดิจิทัลที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซี สามารถซื้อเป็นหน่วยย่อยแค่ 0.000001 หน่วย ตามเงินลงทุนที่เรามีก็ทำได้ ขณะที่ NFT ต้องซื้อมูลค่าเต็ม 1 หน่วยเท่านั้น จะซื้อเป็นหน่วยย่อยไม่ได้ คนขายก็ต้องขายทั้งรูป คนซื้อก็ต้องซื้อทั้งรูป เพราะผู้ที่ถือครองต้องเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

NFT มีจุดเด่นตรงไหน ทำเงินได้อย่างไร


Image

หากเราสร้างผลงานขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ คลิปวิดีโอ ของสะสม เสื้อผ้า แสตมป์ การ์ดเกม ฯลฯ ที่ถือเป็นของชิ้นเดียวในโลก เป็นลิขสิทธิ์ของเราเอง ก็สามารถแปลงผลงานเหล่านั้นให้อยู่บนออนไลน์ในรูปแบบโทเคน NFT จากนั้นนำ NFT ไปขายต่อและโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ต้องมีคนกลาง เพราะทำผ่านระบบบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูง ทุกธุรกรรมสามารถตรวจสอบได้ และแทบจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลไม่ได้เลย และแม้ว่าผลงานจะถูกขายต่อ เปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังตรวจสอบย้อนหลังได้ว่ามีใครเคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในผลงานชิ้นนี้มาแล้วบ้าง

นอกจากนี้เรายังสามารถนำ NFT ออกประมูลได้ด้วย ซึ่งถ้าเป็นแรร์ไอเทมก็จะดึงดูดให้คนอยากได้และต้องสู้ราคากัน เป็นการเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลอีกหลายเท่า ใครชนะการประมูลก็จะได้รับโทเคนในการยืนยันความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ชิ้นนั้น


ด้วยเหตุนี้ คนที่ซื้อ-ขายงาน NFT จึงไม่ได้มีแค่ศิลปินหรือนักสะสม แต่ยังมีนักลงทุนหลายคนที่ตั้งใจเข้ามาซื้อเก็งกำไร แล้วนำไปขายต่อให้ผู้ที่สนใจได้ในราคาสูงขึ้น เนื่องจากงาน NFT หลายชิ้น เป็นคอลเล็กชั่นพิเศษ หรือของหายากที่มีคุณค่าและมูลค่าสูงในกลุ่มนักสะสม

ตัวอย่างงาน NFT ที่ประมูลขายได้ในราคาสูง

หลายคนอาจยังนึกภาพไม่ออกว่าผลงานชิ้นเดียวในโลกที่คนนำมาประมูลขายกันมีอะไรบ้าง งั้นลองมาดูตัวอย่างงาน NFT ที่มีการซื้อ-ขายกันในราคาแพงจนคาดไม่ถึง

CryptoPunk : ราคา 385 ล้านบาท
Image

CryptoPunk เป็นคอลเล็กชั่นภาพสไตล์ Pixel Art ลักษณะต่าง ๆ ทั้งหมด 10,000 ตัว นับเป็น NFT ที่นักสะสมต้องการครอบครองอย่างที่สุด จนดันมูลค่าพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องในทุกภาพที่ออกประมูล โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละประมาณ 100,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่สถิติที่แพงที่สุดในปี 2564 คือ ภาพเอเลี่ยนสวมหน้ากากอนามัย CryptoPunk #7523 ที่ถูกประมูลไปด้วยราคา 11.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 385 ล้านบาท

Everydays : The First 5000 Days : ราคา 2.2 พันล้านบาท

Image

NFT ที่แพงที่สุดในโลก (ข้อมูลปี 2564) คือ ผลงานศิลปะของ Beeple ที่นำ 5,000 ภาพ จากการวาด 5,000 วัน มาปะติดปะต่อเป็นภาพคอลลาจ ในชื่อ Everydays: The First 5000 Days หรือ "ทุก ๆ วัน : 5,000 วันแรก" และถูกประมูลไปด้วยราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 69.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยกว่า 2.2 พันล้านบาท เลยทีเดียว


ส่วนศิลปินคนไทยที่นำผลงานออกขายผ่าน NFT ก็มีอยู่มากมาย
ที่เรารู้จักกันดีก็อย่างเช่น


หนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ


Image

ภาพหน้าปกของการ์ตูนขายหัวเราะเล่มแรก ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2516 พร้อมลายเซ็น บก.วิธิต อุตสาหจิต ถูกประมูลไปในราคา 17.3 ETH หรือประมาณ 1 ล้านบาท

เนื้อเพลงของติ๊ก ชีโร่

Image

นักร้องคนดังก็นำผลงานของตัวเองแปลงเป็น NFT ประมูลขายเช่นเดียวกัน ซึ่งต้นฉบับเนื้อเพลง "รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง" ที่เจ้าตัวเป็นคนจรดปากกาเขียนลงไปด้วยตัวเอง มีผู้สนใจประมูลซื้อไปในราคากว่า 1.5 ETH หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 2 แสนบาท


ขอบคุณข้อมูลจาก : https://money.kapook.com/view248329.html